คณิตศาสตร์กับนักกฎหมาย
หลายคนมองเห็นและเข้าใจได้ว่าคณิตศาสตร์ถูกนำไปใช้งานในหลากหลายสาขาอาชีพ ในขณะเดียวกันก็อาจมองข้ามไปเหมือนกันได้ว่า คณิตศาสตร์อาจไม่ค่อยมีความสำคัญและถูกนำไปใช้ในกระบวนการยุติธรรมหรือกระบวนการทางกฎหมายเท่าไหร่นัก บทความนี้จึงอยากนำเสนอให้เห็นว่า ในทางปฏิบัติตินี้ หลักวิชาทางคณิตศาสตร์ก็เป็นอีกความรู้ที่มีความจำเป็นสำหรับนักกฎหมายมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องใกล้ตัวที่ควรให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
ภาพที่ 1 ห้องพิจารณาคดี
ที่มา https://pixabay.com, 12019
ความสำคัญของการคำนวณในด้านกฎหมาย
การคำนวณหรือการคิดเลข เป็นเครื่องมือสำคัญของการไขคดี การพิจารณาคดีความที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยหลายคดี ก็เคยปรากฏว่ามีการนำหลักการทางคณิตศาสตร์มาช่วยพิจารณาคดี ให้เกิดความเป็นธรรมเกิดขึ้นอย่างสมเหตุสมผล ยกตัวอย่างเช่น คดีการฟ้องร้องของผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายหนึ่งเกี่ยวกับการประกอบการทีวีดิจิทัล ซึ่งกรณีดังกล่าว ผู้ประกอบการได้ฟ้องร้องหน่วยงานภาครัฐที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้ต่อศาลปกครองกลาง และร้องขอให้ภาครัฐช่วยเหลือเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งผลสรุปก็คือผู้ประกอบการรายนี้ชนะคดีดังกล่าว และมีการออกมาตรการเยี่ยวยาช่วยเหลือผู้ประกอบการรายนี้ รวมไปถึงผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลรายอื่น ๆ ด้วยเช่นเดียวกัน ในที่นี้เราคงไม่กล่าวถึงรายละเอียดของกรณีดังกล่าว
แต่ประเด็นที่จะกล่าวถึงก็คือ จากกรณีที่เกิดขึ้นและมีมาตรการเยียวยา รู้ได้อย่างไรว่าการเยียวยานั้นเป็นธรรมต่อผู้ประกอบการ เนื่องจากกรณีแบบนี้ไม่เคยมีการคำนวณค่าเสียหายที่ชัดเจน ซึ่งนั่นเองเป็นสิ่งสำคัญที่ในกระบวนการยุติธรรมนั้นต้องมีแนวทางการตัดสินและพิจารณาตัดสินคดีด้วยความเป็นธรรมโดยใช้หลักการคำนวณทางคณิตศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ว่าด้วยเรื่องของการลงโทษตามกฎหมาย ในกรณีที่มีการพิพากษาจำเลยในคดี ‘มีความผิด’ และต้องรับโทษ ‘จำคุก’ นั้น คณิตศาสตร์ก็มีบทบาทสำคัญอย่างมากในกฎหมายอาญา เกี่ยวการรับโทษ เช่น การจองจำ การปรับ ซึ่งเราอาจเคยได้ยินกันบ่อย ๆ เช่น “ศาลพิพากษาให้จำเลยคนนี้ได้รับโทษรวม 25 ปี + 1 ปี 6 เดือน + 6 เดือน + ปรับ 500 บาท รวมเป็น 26 ปี 12 เดือน และปรับ 500 บาท”
แต่ในทางกฎหมายก็มีบางอย่างที่น่าสนใจในการคำนวณก็คือ 12 เดือน ไม่เท่ากับ 1 ปี ในคดีอาญา ทั้งนี้ก็เพราะว่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 ได้วางหลักเกี่ยวกับเรื่องการคำนวณระยะเวลาการลงโทษจำคุกนี้ มีบัญญัติไว้เฉพาะในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในวรรค 2 ว่า
“ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือน ให้นับ 30 วัน เป็น 1 เดือน ถ้ากำหนดเป็นปี ให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ”
ที่กล่าวไปนั้นก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่อยากนำเสนอให้เห็นว่า แม้แต่กระบวนหรือศาสตร์ที่หลายคนคิดว่าไม่น่าจะเกี่ยวกับหลักการทางด้านคณิตศาสตร์ ในความเป็นจริงก็ต้องใช้คณิตศาสตร์เข้ามาเกี่ยวข้องอยู่ดี
แหล่งที่มา
ธนกร วงษ์ปัญญา. เข้าใจคณิตศาสตร์ในกฎหมายอาญา ทำไมโทษจำคุก 1 ปี ไม่เท่ากับจำคุก 12 เดือน . สืบค้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 .จาก https://thestandard.co/the-legal-length-of-one-month/
คิดยกกำลังสอง: นักกฎหมาย…อย่าห่างหายคณิตศาสตร์. สืบค้นเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562 .จาก https://tdri.or.th/2018/07/thinkx2-258/
-
10636 คณิตศาสตร์กับนักกฎหมาย /article-mathematics/item/10636-2019-09-02-02-10-58เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง