การรู้เรื่องทางคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21
หลังจากที่เครือข่ายองค์กรความร่วมมือเพื่อทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century skills) หรือที่มีชื่อว่า เครือข่ายที่ P21 ได้พัฒนาวิสัยทัศน์เพื่อความสำเร็จของนักเรียนในระบบเศรษฐกิจโลกใหม่ ซึ่งประกอบด้วยทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 คือ 1. ทักษะการเรียนรู้และนวัตกรรม 2. ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี และ 3. ทักษะชีวิตและอาชีพ ในวงการคณิตศาสตร์ก็ได้มีการปฏิรูปการเรียนการสอนเช่นกัน โดยเฉพาะการประเมินผล PISA (Programme for International Student Assessment) ซึ่ง PISA จะมีการประเมินทุก ๆ 3 ปี ในปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมการประเมินมากกว่า 70 ประเทศ โดยได้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 2000 ในการประเมินนั้นจะเน้นให้ความสำคัญเกี่ยวกับความสามารถของเยาวชนในการใช้ความรู้และทักษะเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริง และการประเมิน PISA 2012 นั้นเน้นไปยังการรู้เรื่องทางคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy)
การรู้เรื่องทางคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) PISA 2012ได้อธิบายความหมายของการรู้เรื่องทางคณิตศาสตร์ไว้ว่า เป็นสมรรถนะของบุคคลในการสร้าง (formulate) การใช้ (employ) และการแปลความ (interpret) ทางคณิตศาสตร์ในบริบทต่าง ๆซึ่งรวมถึงการให้เหตุผลทางคณิตศาสตร์และการใช้มโนทัศน์ทางคณิตศาสตร์ ขั้นตอน ข้อเท็จจริง เครื่องมือในการอธิบาย หรือบรรยาย และทำนายปรากฏการณ์ต่าง ๆ โดยการรู้เรื่องทางคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้บุคคลรับรู้ถึงบทบาทของคณิตศาสตร์ในสถานการณ์จริง และเป็นพลเมืองที่มีความคิด มีความห่วงใย และสร้างสรรค์สังคม สำหรับการประเมินการรู้เรื่องทางคณิตศาสตร์นั้น PISA ได้กำหนดเนื้อหาขอบเขตไว้ 4 เรื่อง ดังนี้ 1. ปริมาณ (Quantity) 2. ความไม่แน่นอนและข้อมูล (Uncertainty and data) 3. การเปลี่ยนแปลงและความสัมพันธ์ (Change and relationships) และ 4. ปริภูมิและรูปทรงสามมิติ (Space and shape)
รูปที่ 1 รูปแบบการรู้เรื่องทางคณิตศาสตร์
ซึ่งจากแนวคิดการประเมินของ PISA 2012 นั้นได้สอดคล้องกับแนวคิดของ De Lange ซึ่งได้อธิบายความหมายของการรู้เรื่องทางคณิตศาสตร์ว่าเป็นการประยุกต์ใช้ความรู้ วิธีการและกระบวนทางคณิตศาสตร์ในบริบทต่าง ๆ อย่างชาญฉลาดและไตร่ตรอง โดยการรู้เรื่องทางคณิตศาสตร์นั้นมีองค์ประกอบมาจากความรู้ 3 ด้าน คือ การรู้เรื่องเชิงปริภูมิ (Spatial Literacy)การคิดคำนวณ (Numeracy) และการรู้เรื่องเชิงปริมาณ (Quantitative Literacy)
รูปที่ 2 โครงสร้างการรู้เรื่องทางคณิตศาลตร์ของ De Lange (1999)
จากรูปที่ 2 De Lange (1999) ได้อธิบายความหมายดังนี้
- การรู้เรื่องเชิงปริภูมิ (Spatial Literacy) เป็นความรู้พื้นฐานในการดำรงชีพ สนับสนุนความเข้าใจเกี่ยวกับโลก (สามมิติ) ที่เราอาศัยและดำรงชีวิตอยู่ โดยมนุษย์ต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับสมบัติของวัตถุ
- การคิดคำนวณ (Numeracy) Treffers (1991) ได้ให้ความหมายไว้ว่า เป็นการเน้นความสามารถในการจัดการจำนวนและข้อมูล และสามารถประเมินผลของการแก้ปัญหาหรือสถานการณ์ได้
- การรู้เรื่องเชิงปริมาณ (Quantitative Literacy)เป็นการศึกษาเกี่ยวกับกลุ่มของปรากฏการณ์วิทยา (phenomenology) เช่น ปริมาณ การเปลี่ยนแปลงและความสัมพันธ์ความไม่แน่นอน โดยเน้นไปยังความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความแน่นอน (ปริมาณ) ไม่แน่นอน และความสัมพันธ์
และจากรูปที่ 2 เราจะพบว่าสิ่งที่เป็นตัวขับเคลื่อน ความรู้ทั้ง 3 ด้านนั้นต้องเกิดมาจากความรู้ใน 4 เรื่อง PISA ให้ความสำคัญและนำมาเป็นหัวข้อในการประเมินโดยได้อธิบายทั้ง 4 หัวข้อดังนี้
- ปริมาณ (Quantity) จุดเน้นเรื่องนี้ คือ การบอกปริมาณ รวมทั้งความเข้าใจเกี่ยวกับขนาด แบบรูปของจำนวนการนำจำนวนไปใช้ เพื่อแสดงปริมาณและแสดงวัตถุต่าง ๆ ในโลกจริง ๆ ในเชิงปริมาณ (การนับและการวัด) นอกจากนี้ปริมาณยังเกี่ยวข้องกับกระบวนการและความเข้าใจเรื่องจำนวนที่นำมาใช้ในเรื่องต่าง ๆ อย่างหลากหลาย
- ความไม่แน่นอนและข้อมูล (Uncertainty and data) เรื่องของความไม่แน่นอนเกี่ยวข้องกับสองเรื่อง คือ ข้อมูล และโอกาส ซึ่งเป็นการศึกษาทางสถิติ และเรื่องของ ความน่าจะเป็นข้อเสนอแนะสำหรับหลักสูตรคณิตศาสตร์ในโรงเรียนคือ ให้เน้นหรือให้ความสำคัญกับเรื่องสถิติและความน่าจะเป็น ให้เป็นจุดเด่นมากกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต เพราะว่าโลกในปัจจุบันในยุคของ "สังคมข้อมูลข่าวสาร" ข้อมูลข่าวสารที่หลั่งไหลเข้ามาและแม้ว่าจะอ้างว่าเป็นข้อมูลที่ตรวจสอบได้จริง แต่ในชีวิตจริงเราต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายอย่าง เช่น ผลการเลือกตั้งที่ไม่คาดคิดการพยากรณ์อากาศที่ไม่เที่ยงตรง การล้มละลายทางเศรษฐกิจการเงิน การพยากรณ์ต่าง ๆ ที่ผิดพลาด แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของโลก คณิตศาสตร์ที่เข้ามามีบทบาทในส่วนนี้คือ การเก็บข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล การนำเสนอข้อมูลความน่าจะเป็น และการอ้างอิงทางสถิติ
- การเปลี่ยนแปลงและความสัมพันธ์ (Change and relationships) เป็นเนื้อหาที่ชี้ถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างมหาศาล และแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทั้งชั่วคราวและถาวรของการเปลี่ยนแปลงในธรรมชาติ ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงของสิ่งมีชีวิตขณะเจริญเติบโต การหมุนเวียนของฤดูกาล การขึ้นลงของกระแสน้ำ การเปลี่ยนแปลงของอวกาศการขึ้นลงของหุ้น การว่างงานของคน การเปลี่ยนแปลงบางกระบวนการสามารถบอกได้หรือสร้างเป็นตัวแบบได้โดยตรงโดยใช้ฟังก์ชันทางคณิตศาสตร์ ความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์ส่วนมากเป็นรูปของสมการหรืออสมการ แต่ความสัมพันธ์ในธรรมชาติอื่น ๆ ก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน ความสัมพันธ์หลายอย่างไม่สามารถใช้คณิตศาสตร์ได้โดยตรง แต่ต้องใช้วิธีการอื่น ๆ และจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อระบุถึงความสัมพันธ์
- ปริภูมิและรูปทรงสามมิติ (Space and shape) เป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรขาคณิต และการวัด ซึ่งเป็นพื้นฐานไปสู่กิจกรรมของการวาด การสร้างและการอ่านแผนที่ การแปลงรูปร่างโดยใช้และไม่ใช้เทคโนโลยี การตีความความสัมพันธ์ระหว่างภาพ(images) ไปยังความรู้สึกในรูปของสามมิติ และการนำเสนอวัตถุและรูปร่าง นอกจากนี้ยังกล่าวถึงเรื่องแบบรูป (pattern) ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในชีวิตประจำวัน แม้แต่การพูด ดนตรี การจราจร การก่อสร้างศิลปะ เป็นต้น รูปร่างที่เป็นแบบรูปที่เห็นได้ทั่วไป เช่น รูปร่างของ บ้านโรงเรียน อาคาร สะพาน ถนน ดอกไม้ การศึกษาเรื่องของรูปร่างมีความเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับแนวคิดของเรื่องที่ว่าง ซึ่งต้องการความเข้าใจในเรื่องของสมบัติของวัตถุและตำแหน่งเปรียบเทียบของวัตถุ เราต้องรู้ว่าเรามองเห็นวัตถุของต่าง ๆ อย่างไร และทำไมเราจึงมองเห็นมันอย่างที่เราเห็น เราต้องเข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างรูปร่างและภาพในความคิด หรือภาพที่เรามองเห็น เป็นต้นว่ามองเห็นความสัมพันธ์ของตัวเมืองจริงกับแผนที่ รูปถ่ายของเมืองนั้น ข้อนี้รวมทั้งความเข้าใจในรูปร่างที่เป็นสามมิติที่แสดงแทนออกมาในภาพสองมิติ มีความเข้าใจในเรื่องของเงาและภาพที่มีความลึก (perspective) และเข้าใจด้วยว่ามันทำงานอย่างไร
เมื่อพิจารณาจะพบว่าเนื้อหาที่ PISA ใช้ในการประเมินนั้นเน้นไปยังการนำความรู้และทักษะไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสอดคล้องกับทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยหากมองย้อนกลับมาดูหลักสูตรคณิตศาสตร์ในประเทศนั้นซึ่งได้มีการปฏิรูปเมื่อปี พ.ศ. 2544 และ พ.ศ. 2551 โดยสามารถเปรียบเทียบกับเนื้อหาคณิตศาสตร์ของ PISA ได้ดังนี้
ตาราง 2 เปรียบเทียบจุดเน้นของหลักสูตร
ดังนั้นภาระหน้าที่ของครูผู้สอนจะต้องเปลี่ยนบทบาทและการสอนใหม่เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาความสามารถอย่างเต็มที่และตอบศตวรรษที่ 21
คำถามจากนี้คือ เมื่อมีการปฏิรูปการศึกษาครั้งที่ 2 (อาจจะเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้) นักเรียนไทยจะเกิดทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 หรือไม่นั้นต้องขึ้นอยู่กับหลาย ๆ องค์ประกอบ แต่หวังว่าเมื่อมีการปฏิรูป นักเรียนสามารถยืนอยู่บนสังคมได้อย่างชาญฉลาดรู้ทัน มีการคิดวิเคราะห์และไตร่ตรองข่าวสารอย่างดี พร้อมทั้งนำความรู้ที่เรียนในห้องเรียนไปใช้ในชีวิตประจำวัน
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
De Lange, J. (1999). Framework for Classroom Assessment in Mathematics. Madison, W: National Center for Improving Student Learning and Achievement in Mathematics and Science. (ncisla)
OECD. (2013), PISA 2012 Assessment and Analytical Framework: Mathematics, Reading, Science, Problem Solving and Financial Literacy, OECD Publishing
Stacey, Kaye. (2012). The International assessment of mathematical Literacy: PISA 2012 Framework and items. Paper presented at 12* International
Congress on Mathematical Education, 8 July-15 July, 2012, COEX, Seoul, Korea.
Treffers, A (1991). Meeting Innumeracy at Primary School. Educational Studies in Mathematics. 22(4), 333-352.
-
12794 การรู้เรื่องทางคณิตศาสตร์ (Mathematical Literacy) ทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 /article-mathematics/item/12794-mathematical-literacy-21เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง