ฟิสิกส์กับการแพทย์
ฟิสิกส์ สาขาวิชาแขนงหนึ่งทางด้านวิทยาศาสตร์ หลาย ๆ คนเข้าใจและทราบกันดีว่า ฟิสิกส์เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของธรรมชาติ หรือเป็นวิทยาศาสตร์ของโลกแห่งธรรมชาติ หรือศึกษาความเป็นไปธรรมชาติ ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและสุขภาพ ด้วยเหตุนี้ ฟิสิกส์จึงมีความสำคัญและเกี่ยวข้องกันกับสุขภาพและการแพทย์เป็นอย่างมาก
ภาพ ฟิสิกส์กับการแพทย์
ที่มา https://pixabay.com/th , AbsolutVision
การทำงานของร่างกายมีความสัมพันธ์กับการใช้ชีวิตประจำวัน เราประยุกต์และใช้ความรู้ทางหลักการทางด้านฟิสิกส์มาแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตและสุขภาพได้ และที่สำคัญกับมนุษย์มากที่สุด ก็คงเป็นเรื่องเกี่ยวกับการแพทย์ เพราะการทำงานของอวัยวะในร่างกายของมนุษย์ก็มีการประยุกต์ศาสตร์ทางด้านฟิสิกส์อยู่หลายส่วนด้วยกัน ดังข้อมูลตัวอย่างต่อไปนี้
-
การแก้ไขปัญหาสุขภาพด้านกระดูกหรือการทำกายภาพบำบัด (Physical Therapy) เช่น การดึงกระดูกให้เข้าที่ด้วยระบบแทร็กชัน (Traction) รวมไปถึงการกีฬาในรูปแบบต่าง ๆ รวมทั้งในด้านโภชนาการ
-
การประยุกต์เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับการได้ยิน (Hearing) และการแก้ปัญหาเรื่องการมองเห็น (Vision Correction)
-
การใช้แอลกอฮอล์ในการลดอุณหภูมิร่างกายได้อย่างรวดเร็ว
-
ระบบประสาท (Nervous System)
-
การใช้เครื่องอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ในการตรวจและรักษาร่างกาย
-
การใช้ไมโครเวฟเพื่อการให้ความร้อน (Microwave Deep Heating)
-
ระบบไหลเวียนของเลือดและระบบหายใจ (Blood Flow and Respiration)
-
การวิเคราะห์สเปกตรัม (X-ray)
นักฟิสิกส์การแพทย์
บุคคลากรทางการแพทย์ก็เป็นบุคคลกลุ่มหนึ่งที่ผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับฟิสิกส์ทางด้านการแพทย์ มีบทบาทและหน้าที่สำคัญในกระบวนการปฏิบัติงานสำคัญต่าง ๆ ที่กล่าวไปข้างต้น นักฟิสิกส์การแพทย์ จะเป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในงานประเภทต่าง ๆ ดังนี้คือ ด้านรังสีวิทยา รังสีวินิจฉัย และเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ซึ่งเป็นผู้ที่จบการศึกษามาโดยตรงจากด้านฟิสิกส์การแพทย์ (Medical physics) ศาสตร์แขนงหนึ่งของวิทยาศาสตร์ที่เน้นการประยุกต์ใช้กระบวนการทางฟิสิกส์เพื่อนำมาใช้ในทางการแพทย์ ในด้านตรวจวินิจฉัยและบำบัดโรค
ทั้งนี้ นักฟิสิกส์การแพทย์จะร่วมทำงานกับรังสีแพทย์ นักรังสีเทคนิคและพยาบาล โดยทำงานเป็นทีมในงานด้านรังสีวิทยา งานที่ต้องปฏิบัตินั้นเกี่ยวข้องกับศาสตร์ทางด้านฟิสิกส์โดยตรง เช่น งานด้านการใช้เครื่องมือและควบคุมคุณภาพของภาพถ่าย ภาพทางการแพทย์ (X-ray) งานตรวจวัดปริมาณเชิงฟิสิกส์จากของเครื่องถ่ายภาพรังสีระบบคอมพิวเตอร์ การวัดปริมาณเชิงชีวฟิสิกส์ที่สัมพันธ์กับพยาธิสภาพของผู้ป่วย การกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยทางรังสีและการป้องกันอันตรายจากรังสีทั้งชนิดก่อประจุ และไม่ก่อประจุที่ใช้ในงานรังสีวินิจฉัย
นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มบุคลากรสำคัญทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับศาสตร์ทางด้านฟิสิกส์อีกประเภทก็คือ กลุ่มฟิสิกส์อุตสาหกรรมและอุปกรณ์การแพทย์ ซึ่งทำหน้าที่และมีตำแหน่งที่เกี่ยวข้องที่สามารถทำงานได้ทั้ง การประกอบอาชีพอิสระ หรือทำงานในหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน สถานพยาบาล และสถานบริการต่าง ๆ ทางการแพทย์ เช่น วิศวกรบริการ (Service Engineer) ซึ่งจะทำงานเป็นวิศวกรติดตั้งดูแลและบำรุงรักษาเครื่องมือแพทย์ ชีวการแพทย์ประจำโรงพยาบาล ผู้เชี่ยวชาญผลิตภัณฑ์เครื่องมือแพทย์ ( Product Specialist ) ทำงานเป็นวิศวกรผู้มีความเชี่ยวชาญพิเศษในเครื่องมือนั้น ๆ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษา หรือบางครั้งต้องสอนการใช้เครื่องมือให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ดูแลความเหมาะสมในการใช้เครื่องมือ ผู้แทนขายเครืองมือแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น
ที่กล่าวไปทั้งหมดนั้น จะเห็นได้ว่าศาสตร์ทางด้านฟิสิกส์นั้นมีความสำคัญอย่างมาก อีกทั้งยังเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ทุกคนสัมผัสได้จากชีวิตประจำวัน ที่สำคัญ คงไม่มีมนุษย์คนไหนที่ไม่เคยต้องเข้าออกโรงพยาบาลอย่างแน่นอน ฟิสิกส์เป็นเรื่องของธรรมชาติที่มีประโยชน์มหาศาลต่อแนวทางการรักษาทางการแพทย์ เพื่อบำบัดและรักษาร่างกายของมนุษย์ให้มีชีวิตต่อไป
แหล่งที่มา
อ.ณภัทรษกร สารพัฒน์ .เอกสารประกอบการบรรยาย “หลักฟิสิกส์เพื่อชีวิต”.สืบค้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561.จาก https://www.slideshare.net/napatsakon/1-42906614
วิทยาศาสตร์ประยุกต์ สาขาฟิสิกส์อุตสาหกรรมและอุปกรณ์การแพทย์ . สืบค้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561.จาก https://www.u-review.in.th/th/edu/34261
นักฟิสิกส์การแพทย์กับบทบาทในงานรังสีวินิจฉัย. สืบค้นเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2561.จาก http://www.radiologythailand.org/content/23
-
9603 ฟิสิกส์กับการแพทย์ /article-physics/item/9603-2018-12-13-08-03-28เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง