รู้ไว้ใช่ว่า “ปัจจัยที่ส่งผลต่อการคงอยู่ของเชื้อโรค”
จากภาวะวิกฤติในช่วงต้นปี ค.ศ. 2020 กับการแพร่กระจายและการระบาดของไวรัสโคโรนา (covid-19) ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิดการติดเชื้อและลุกลามไปทั่วโลก ผู้คนเจ็บป่วยและล้มตายเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศแถบยุโรป เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สเปน อังกฤษ หรือแม้แต่ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่หากดูเรื่องความสะอาดและสาธารณูปโภคนั้น ดูจะไม่แตกต่างกับประเทศแถบเอเชียเช่น สิงคโปร์หรือแม้แต่ญี่ปุ่นเองก็ตาม ท่านเคยสงสัยหรือไม่ว่า แล้วทำไมอัตราการตายหรือการติดเชื้อในประเทศแถบยุโรปจึงพุ่งสูงขึ้นรายวันได้แบบก้าวกระโดดกว่าประเทศแถบเอเชียเรา สภาพอากาศหรืออุณหภูมิมีผลต่อการเจริญเติบโตของเชื้อโรคหรือไม่? แล้วเราจะมีวิธีการใดในการดูแลและป้องกันตนเองจากเชื้อโรคเหล่านี้ได้อย่างไร วันนี้ผู้เขียนมีข้อมูลดีๆมาฝากให้ลองศึกษาเพื่อป้องกันตัวเองจากเชื้อไวรัสดังกล่าวค่ะ ถ้าพร้อมแล้ว ตามไปศึกษากันค่ะ!
ภาพที่ 1 ไวรัสโคโรนา (coronavirus)
ที่มา https://www.pixabay.com/ , geralt
จากข้อมูลการศึกษาในห้องทดลอง ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร New England Journal of Medicine เมื่อ 17 มีนาคม 2563 พบว่าเชื้อไวรัสโคโรนา สามารถคงอยู่เป็นสภาพละอองฝอยได้เป็นระยะเวลาถึง 3 ชั่วโมง จึงทำ ให้องค์การอนามัยโลก World Health Organizations หรือ WHO ออกมาเตือนบุคลากรทางการแพทย์ให้เฝ้า ระวังว่าเชื้อชนิดนี้อาจจะแพร่กระจายแบบแขวนละอองในอากาศ หรือที่เรียกว่า Airborne transmission และต้องป้องกันตัวเองทุกครั้งก่อนดูแลผู้ป่วย แต่อย่างไรก็ตามต้องได้รับการศึกษายืนยันเพิ่มเติมต่อไปว่ามี โอกาสแพร่เชื้อในสภาพแวดล้อมจริงหรือไม่ ทั้งนี้ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างรวดเร็วนั้นมี หลายช่องทาง ซึ่งการแพร่กระจายเชื้อระหว่างคนสู่คน (person-to-person transmission) เป็นช่องทางหลัก ที่เกิดได้จาก 2 ช่องทาง ได้แก่
- การติดต่อผ่านทางละอองฝอยขนาดใหญ่ (Droplet transmission) เมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้
ติดเชื้อภายในระยะ 2 เมตร หรือ 6 ฟุตนั่นเอง หรือผู้ติดเชื้อไอหรือจามแล้วทำให้เกิดละอองฝอยซึ่งสามารถกระเด็นเข้าเยื่อบุตา ช่องปาก เยื่อบุโพรงจมูกโดยตรง หรือหายใจเข้าสู่ปอด
- การติดต่อผ่านทางการสัมผัส (Direct and indirect transmission) เช่น การที่ผู้ติดเชื้อ
นำมือที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก หรือเสมหะของตนเองไปสัมผัสตามพื้นผิวต่างๆ เช่น ลิฟต์ บันไดเลื่อน ลูกบิดประตู แล้วมีผู้ที่ไม่ทันระมัดระวังไปจับพื้นผิวดังกล่าวแล้วกลับมาสัมผัสบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะบริเวณเยื่อบุตา จมูก ช่องปาก จนได้รับเชื้อต่อมา โดยระยะเวลาที่เชื้อจะคงอยู่ขึ้นอยู่กับปริมาณเชื้อ ลักษณะพื้นผิว และอุณหภูมิ ของพื้นผิว พบว่าหากอุณหภูมิสูงขึ้น เช่น 30-40 องศาเซลเซียส เชื้อจะคงอยู่ได้สั้นลง แต่ถ้าหากอุณหภูมิต่ำถึง 4 องศาเซลเซียส เชื้ออาจจะอยู่ได้เป็นเดือน จากการศึกษาแบบจำลองในห้องทดลอง ณ อุณหภูมิ 21-23 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 40% พบว่าสามารถตรวจเชื้อที่ตกค้างอยู่พื้นผิวได้นานถึง 72 ชั่วโมง และบางการศึกษาพบว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ต่างๆอาจจะอยู่ได้ตั้งแต่ 2 ชั่วโมงจนถึง 9-14 วันบนพื้นผิวที่อุณหภูมิห้อง หรือประมาณ 21 องศาเซลเซียส
วิธีการป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อ
ถึงแม้ว่าไวรัสโคโรนา (covid-19) จะดูน่ากลัว แพร่กระจายเร็ว และมีโอกาสติดได้ง่าย แต่พวกเราสามารถช่วย ป้องกันตัวเองและคนอื่นที่อาศัยอยู่ร่วมกันได้ด้วยวิธีต่าง ๆ ตามคำแนะนำของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของประเทศสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention - CDC) ด้วยวิธีการต่อไปนี้
1) ตั้งสติ ศึกษาหาข้อมูลและเข้าใจวิธีการแพร่ระบาดของตัวโรคอย่างถูกต้อง
2) หลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงที่มีการระบาดหรือสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ยืนยันหรือสงสัยโรค
3) ล้างมือบ่อยๆอย่างถูกวิธี โดยเฉพาะหลังไอ จาม ก่อนสัมผัสบริเวณใบหน้า ก่อนรับประทานอาหาร หลังการใช้ห้องน้ำ หลังสัมผัสพื้นผิวในที่สาธารณะ เช่น ปุ่มลิฟต์ มือจับประตู ราวบันได
4) ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ (40-60 วินาที) หากทำได้ครบ 11 ขั้นตอนอย่างถูกต้องตาม คำแนะนำของ WHO ก็จะมีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อได้ไม่ต่างจากเจลแอลกอฮอล์ และควรใช้วิธีนี้เมื่อมีสิ่งสกปรกหรือสารคัดหลั่งบนมือชัดเจน เช่น หลังไอ จาม มีเสมหะ น้ำมูก หรือสารคัดหลั่งปนเปื้อนบนมือ
5) ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ (20-30 วินาที) ด้วยขั้นตอนการล้างมือเช่นเดียวกับที่กล่าวข้างต้น ล้างให้ทั่วมือจนแห้ง ไม่ต้องล้างน้ำซ้ำ
6) ใส่หน้ากากอนามัยในกรณีที่มีโอกาสสัมผัสผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เช่น ทำงานในโรงพยาบาล สนามบิน คนขับรถ หรือสถานที่แออัด เช่น ผับ โรงหนัง สนามมวย สนามม้า
7) ทำความสะอาดพื้นผิวด้วยผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อ (Disinfectant) ตามพื้นผิวต่างๆ เป็นประจำทุกวัน เช่น โต๊ะ ลูกบิดประตู สวิตช์ไฟ โทรศัพท์ คีย์บอร์ด ชักโครก อ่างล้างมือ ปุ่มกดลิฟต์ บริเวณที่มีการสัมผัสร่วมบ่อยครั้ง จำเป็นต้องทำความสะอาดระหว่างวันอย่างพอเพียง โดยถ้าพื้นผิวมีความสกปรกมากควรใช้สบู่หรือน้ำทำความสะอาดก่อนการใช้ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อตามพื้นผิว
หรือ
ภาพที่ 2 โครงสร้างของสบู่หรือโซเดียมสเตียเรต
ที่มา https://catherinekonold.wordpress.com/as-general-education/chem-1010/
ข้อแนะนำในการใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ (Hand sanitizer)
การใช้ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้มีวัตถุประสงค์หลักคือลดจำนวนเชื้อหรือฆ่าเชื้อเพื่อไม่ให้มีการนำเชื้อจากบริเวณมือเข้าสู่ตนเองหรือแพร่ไปยังผู้อื่น โดยมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ต่อไปนี้
1) สบู่ (Soap) และการล้างมือที่ถูกต้อง (Hand hygiene) เป็นวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดสิ่งสกปรก เชื้อโรค หรือไวรัสให้หลุดออกไปจากมือเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ โดยอาศัยการลดแรงตึงผิวช่วยให้น้ำชะล้างสิ่งสกปรกอยากจากมือได้ดีขึ้น แต่อาจจะมีความลำบากคือต้องมีอ่างล้างมือและกระดาษเช็ดมือ
เราจะสังเกตได้ว่าสิ่งสกปรกต่าง ๆ สามารถเกาะติดกับเสื้อผ้าและผิวหนังได้ก็เพราะสิ่งสกปรกเหล่านี้
เกาะติดอยู่กับไขมัน ดังนั้นถ้าสามารถละลายไขมันแยกออกไปจากเสื้อผ้าหรือผิวหนัง สิ่งสกปรกก็จะหลุดออกไปด้วย เป็นการทำความสะอาดเสื้อผ้าและผิวหนัง แต่เนื่องจากไขมันเป็นโมเลกุลที่ไม่ละลายน้ำ ถ้าใช้น้ำล้างอย่างเดียวสิ่งที่ติดอยู่กับไขมันก็จะไม่หลุดออกไป ถ้าใช้สบู่จะช่วยให้ทำความสะอาดได้ง่าย เนื่องจากโมเลกุลของสบู่ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่ไม่มีขั้ว (ส่วนที่เป็นสายยาวของไฮโดรคาร์บอน) และส่วนที่มีขั้ว
การที่สบู่สามารถชะล้างสิ่งสกปรกที่มีไขมันและน้ำมันฉาบอยู่ได้ ก็เนื่องจากกลุ่มสบู่ในน้ำจะหันปลายส่วนที่เป็นไฮโดรคาร์บอนซึ่งไม่มีขั้ว เข้าล้อมรอบสิ่งสกปรก (ไขมันและน้ำมัน) ซึ่งไม่มีขั้วและไม่ละลายน้ำ และดึงน้ำมันออกมาเป็นหยดเล็ก ๆ ล้อมรอบด้วยโมเลกุลสบู่ และหันส่วนมีขั้วออกหาน้ำ (ส่วนของคาร์บอกซีเลทจะละลายในน้ำ) หยดน้ำมันแต่ละหยดที่ถูกดึงออกมาจึงมีประจุลบล้อมรอบและเกิดการผลักกัน จึงกระจายออกไปอยู่ในน้ำมีลักษณะเป็นอิมัลชันหลุดออกไปจากผิวหน้าของสิ่งที่ต้องการทำความสะอาด
ภาพที่ 3 กลไกการทำปฏิกิริยาของของสบู่กับคราบสกปรกบนผิวหนังและเสื้อผ้า
ที่มา http://nsb.wikidot.com/c-9-5-5-3
2) แอลกอฮอล์สำหรับทำความสะอาดมือ (Alcohol-based hand sanitizer) ทำความสะอาดมือจนทั่วจนกระทั่งมือแห้งเพื่อฆ่าเชื้อโรคบริเวณมือโดยไม่ต้องใช้น้ำ โดยแอลกอฮอล์จะทำหน้าที่ฆ่าเชื้อไวรัสให้ตายและไม่สามารถแพร่เชื้อต่อไปได้
2.1. ชนิดเอธิล แอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) หรือ เอธานอล (Ethanol) เป็นผลิตภัณฑ์ที่วางขายอยู่ตามท้องตลาดมากที่สุด ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์อย่างน้อย 60% โดยปริมาตรต่อปริมาตร (%v/v)
2.2. ชนิดไอโซโพรพานอล (Isopropanol) หรือ ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ (Isopropyl alcohol) ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70% (%v/v)
หมายเหตุ: จากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 9 มีนาคม 2563 ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นต่ำกว่า 70% ไม่สามารถผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายในประเทศ ไทยได้ จึงเหลือผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้นอย่างน้อย 70% อยู่ในท้องตลาดเท่านั้น (อ้างอิง http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2563/E/054/T_0006.PDF) ซึ่งในส่วนของแอลกอฮอล์กับการทำความสะอาดนั้นได้กล่าวถึงไปแล้วในบทความก่อนหน้า ย้อนกลับไปติดตามเพื่อความชัดเจนได้ค่ะ
แหล่งที่มา
จตุรงค์ สุภาพพร้อม. (2559). สารชีวโมเลกุล ตอน ปฏิกิริยาไฮโดรลิซิส ของไขมันและน้ำมัน – สบู่และผงซักฟอก. สืบค้นเมื่อ 31 พฤษภาคม 2563. จาก http://www.phukhieo.ac.th/obec-media/2555/manual/
ธนกฤต พงพิทักษ์เมธา และนพดล วัชระชัยสุรพล. (2563). การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือและฆ่าเชื้อตามพื้นผิวต่างๆ เพื่อกำจัด ไวรัสโคโรนา 2019 หรือ เชื้อไวรัสโควิด-19 (Application of hand sanitizer and disinfectant for COVID-19). ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย; กรุงเทพฯ. จาก http://www.findglocal.com/TH/Bangkok/610743119019215/MDCU-Pharmacology/
CDC. Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) - Transmission [Internet]. Centers for Disease Control and Prevention. 2020 [cited 2020 Mar 18]. Retrieved on 31, May 2020. from: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/prepare/transmission.html
CDC. Coronavirus Disease 2019 (COVID-19) – Prevention & Treatment [Internet]. Centers for Disease Control and Prevention. 2020 [cited 2020 Mar 17]. Retrieved on 31, May 2020. from: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/prepare/prevention.html
WHO | Clean hands protect against infection [Internet]. WHO. World Health Organization; [cited 2020 Mar 19].Retrieved on 31, May 2020. from: https://www.who.int/gpsc/clean_hands_protecti
Sattar SA, Springthorpe VS, Karim Y, Loro P. Chemical disinfection of non-porous inanimate surfaces experimentally contaminated with four human pathogenic viruses. Epidemiol Infect. 1989 Jun;102(3):493–505.
-
11642 รู้ไว้ใช่ว่า “ปัจจัยที่ส่งผลต่อการคงอยู่ของเชื้อโรค” /article-science/item/11642-2020-06-30-03-33-36เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง