การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ขณะนี้ อย่างน้อยก็ทำให้เราสนใจอ่านบทความหรือฟังเรื่องราวเกี่ยวกับเชื้อโรคและการดูแลสุขอนามัยกันมากขึ้น ทั้งนี้หลายคนก็อาจจะได้ยินคำว่าไวรัสกับแบคทีเรียกันอยู่บ่อย ๆ แล้วเคยเกิดความสงสัยกันบ้างไหมว่า ไวรัสกับแบคทีเรียมีความแตกต่างกันอย่างไร ก่อให้เกิดโรคอะไรได้บ้าง บทความนี้ก็เลยจะเปรียบเทียบให้ผู้อ่านทุกท่านได้เข้าใจกัน จะได้รู้กันไปเลยว่า”ไวรัสกับแบคทีเรียใครร้ายกว่ากันนะ?”
ภาพ ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ที่มา https://pixabay.com , Thor_Deichmann
เพื่อเป็นการดูความแตกต่างของทั้งไวรัสและแบคทีเรีย ลองมาเปรียบเทียบกันในหลาย ๆ ด้าน ดังนี้
ด้านที่ 1 มาดูทางกายภาพกันก่อน
1.1 ไวรัส คืออนุภาคชนิดหนึ่งมีโครงสร้างไม่ซับซ้อน โดยมีขนาดอยู่ในช่วงระหว่าง 20-300 นาโนเมตร มีโครงสร้างและส่วนประกอบง่าย ๆ คือ
1.1.1 ส่วนแกนกลาง (Core) มีกรดนิวคลีอิกทำหน้าที่ควบคุมการสร้างส่วนประกอบไวรัสและ ถ่ายทอดพันธุกรรม
1.1.2 ส่วนที่ทำหน้าที่เป็นโปรตีนห่อหุ้มหรือแคปสิด(Capsid) ทำหน้าที่ห่อหุ้มป้องกันส่วนแกน กลางและใช้ยึดเกาะกับเซลล์สิ่งมีชีวิต
1.2.3 เปลือกหุ้ม (Envelope) หุ้มรอบแคปสิดอีกที
1.2 สำหรับแบคทีเรีย คือจุลชีพเซลล์เดียวมีส่วนประกอบคล้ายเซลล์สิ่งมีชีวิตอื่นแต่ไม่มีเยื่อหุ้มนิวเคลียส มีขนาดตั้งแต่ 0.3 ไมครอนไปจนถึงขนาด 750 ไมครอนเลยทีเดียว ส่วนประกอบหลักๆคือ
1.2.1 ผนังเซลล์ เป็นส่วนที่แข็งแรงที่สุด ใช้ห่อหุ้มป้องกันเซลล์ให้คงรูปร่างไว้
1.2.2 เยื่อหุ้มเซลล์ ทำหน้าที่ควบคุมการแลกเปลี่ยนสารอาหารและน้ำ
1.2.3 ไซโทพลาซึม อยู่ข้างในเยื่อหุ้มเซลล์ประกอบด้วยโปรตีน ไขมัน และเอนไซม์ รวมถึง ดีเอ็นเอที่บรรจุรหัสพันธุกรรมสำหรับการดำรงชีวิตหรือสืบพันธุ์ไว้ด้วย
Koli Bateria
ที่มา https://pixabay.com , geralt
ทั้งไวรัสและแบคทีเรียเองก็มีรูปร่างและขนาดแตกต่างไปตามสายพันธุ์อีก โดยสรุปแล้วไวรัสนั้นมาแนว “จิ๋วแต่แจ๋ว” ส่วนแบคทีเรียนั้น “ใหญ่ กำยำ ล่ำสัน” แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมนุษย์ก็ไม่สามารถเห็นพวกมันทั้งคู่ ด้วยตาเปล่าอยู่ดีทำให้เรามีโอกาสโดนโจมตีจากเชื้อโรคทั้งสองชนิดได้ทุกเมื่อ
ด้านที่ 2 มาดูความอันตรายที่มีผลกับร่างกายของเรากันบ้าง
2.1 ไวรัสนั้นนับเป็นปรสิตสำหรับเซลล์มนุษย์ โดยไวรัสจะอยู่ได้ต้องเกาะติดกับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตนั้นๆแล้วไวรัสจะเข้าไปเติบโตในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตนั้นและแบ่งตัวออกมาเมื่อเติบโตเต็มที่ ไวรัสจะบังคับให้ เซลล์สร้างโปรตีนที่เป็นประโยชน์กับไวรัสเท่านั้นเป็นเสมือนโรงงานผลิตไวรัสไปแล้ว และเซลล์นั้นก็จะ ไม่สามารถทำหน้าที่ที่เป็นประโยชน์กับร่างกายจนตายไปในที่สุดแล้วไวรัสก็จะไปจู่โจมเซลล์ตัวใหม่ไป เรื่อยๆจนเป็นที่มาของการเกิดโรคนั่นเอง ในส่วนของร่างกายจะมีแอนติบอดี้มาขจัดไวรัสได้เช่นกันโดย ผลจากการกำจัดสิ่งแปลกปลอมนี้ทำให้เรามีอาการป่วยบางอย่างเช่นมีไข้ ปวดเมื่อย เจ็บคอ หรือมีน้ำมูกนั่นเอง
2.2 แบคทีเรียสามารถอยู่นอกร่างกายได้ถ้ามีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสม แต่เมื่อเข้าไปในร่างกายสิ่งมี ชีวิตจะก่อให้เกิดโรคจากการที่ตัวมันปล่อยสารพิษออกมาหรือการที่ร่างกายตอบโต้แบคทีเรียก็จะทำให้ เกิดอาการบวมอักเสบ เป็นไข้ ตัวร้อนได้เช่นกัน รวมถึงแบคทีเรียบางชนิดเองก็จู่โจมถึงระดับเซลล์ แย่งอาหารและทำให้เซลล์ตายในที่สุดได้ด้วย ถ้าพิจารณาแค่นี้แบคทีเรียดูจะมีความหลากหลายในการจู่โจมมนุษย์มากกว่า
ด้านที่ 3 โรคที่เกิดจากเชื้อทั้งสอง
3.1 โรคที่เกิดจากไวรัสที่เรารู้จักกันดีเช่น ไข้หวัด, ไข้หวัดใหญ่, ไข้เลือดออก, พิษสุนัขบ้า, โรคฝีดาษ, โรคติดเชื้ออีโบลา, โรคหัด, อีสุกอีใส, โรคตับอักเสบเอบีซี, โรคงูสวัด, เริม, คางทูม, โรคสมองอักเสบ และ โรควัวบ้า รวมถึงโรคที่ยังไม่มีทางรักษาอย่างเอดส์และตัวร้ายที่สุด ณ ตอนนี้อย่างไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ด้วย
3.2 โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เช่น วัณโรค, ฉี่หนู, ไข้รากสาดน้อย, บาดทะยัก, โรคซิฟิลิส, โรคคอตีบ, ปอดบวม, กาฬโรค, โลหิตเป็นพิษ, ถุงน้ำดีอักเสบ, ตับอ่อนอักเสบ, ไทฟอยด์, ไส้ติ่งอักเสบ และ ไอกรน จริงๆโรคทั้งหลายถ้าเราเป็นแล้วร่างกายไม่แข็งแรงและไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีก็จะทำอันตราย อาจถึงกับเสียชีวิตได้กันหมดทั้งนั้น แต่ถ้าเรามาวัดกัน ณ วันนี้ที่เรายังคงหวาดผวากับไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และเอดส์ที่ยังไม่มียารักษาจริงจังแล้วละก็
ด้านที่ 4 การรักษาและการป้องกัน
สำหรับไวรัสนั้นยังไม่มีการยารักษาโรคจริงจัง แม้ในช่วงหลังจะมียาต้านไวรัสบางประเภท เช่น ไวรัสตับอักเสบ บี ซีหรือเฮอร์ปีไวรัสรวมถึงไวรัส HIV แต่ก็ยังไม่แพร่หลายและยังมีผลข้างเคียง ส่วน มากจึงเป็นการให้ยารักษาตามอาการเท่านั้นโดยต้องรอให้ร่างกายเรียนรู้ที่จะกำจัดไวรัสได้เอง และ จะป้องกันโดยใช้วัคซีนสำหรับโรคที่ผลิตวัคซีนได้แล้วเป็นส่วนใหญ่ เช่น โรคไข้หวัดใหญ่, โรคหัด และ โรคพิษสุนัขบ้า
ส่วนแบคทีเรียเองนั้นมีการรักษาได้หลายรูปแบบทั้งการให้ยาปฏิชีวนะ, การผ่าตัด เช่น โรคฝี หรือจะเป็นการให้เซรุ่มหรือรักษาตามอาการก็มี และยังมีวัคซีนสำหรับโรคที่พบแล้วเช่นกันเช่นโรคไอกรนและ บาดทะยัก
จะเห็นได้ว่า มนุษยชาติยังไม่สามารถหาทางแก้โรคไวรัสได้เต็มที่ โดยเฉพาะเชื้อที่น่ากลัวอย่าง HIV และ ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19)
ด้านที่ 5 โรคระบาดที่ผ่านมาอันเกิดจากเชื้อโรคทั้งสอง
กาฬโรค (Plague) - เชื้อแบคทีเรีย
ครั้งที่ 1 ปี ค.ศ.541 ศูนย์กลางการระบาดอยู่ที่อาณาจักรไบเซนไทน์ คาดการณ์ผู้เสียชีวิตทั่วโลกรวม 30-50 ล้านคน
ครั้งที่ 2 ช่วงศตวรรษที่ 14 ประชาชนยุโรปเสียชีวิตราว 30-60 เปอร์เซ็นต์ ประชากรเสียชีวิตมากกว่า 25 ล้านคน (ข้อมูลบางแหล่งว่าอาจถึง 100 ล้านคน)
ครั้งที่ 3 ช่วงศตวรรษที่ 19-20 เริ่มจากมณฑลยูนนานในประเทศจีนและแพร่ไปทั่วโลก มีผู้เสียชีวิต 12 ล้านคน
โรคฝีดาษ (Smallpox) – เชื้อไวรัส (เท่าที่มีบันทึกเป็นตัวเลข)
ครั้งที่ 1 ช่วงปี ค.ศ.165 โรมัน เสียชีวิตราว 5 ล้านคน
ครั้งที่ 2 ศตวรรษที่ 15 ระบาดจากกองเรือสเปนไปทวีปอเมริกาคาดการณ์ว่าเสียชีวิตไม่น้อยกว่า 10 ล้านคน
ครั้งที่ 3 ปลายศตวรรษที่ 18 ระบาดในยุโรปไม่ทราบยอดรวมแน่นอน แต่มีผู้เสียชีวิตราว 100,000 คนต่อปี
อหิวาตกโรค (Cholera) - แบคทีเรีย
ค.ศ.1817 รัสเซีย เสียชีวิตราว 1 ล้านคน หลังจากนั้นแพร่จ่อที่อินเดีย เสียชีวิตอีกราว 1 ล้านคน
ไข้หวัดใหญ่รัสเซีย (Russian flu) - เชื้อไวรัส
ค.ศ.1889-1890 มีผู้เสียชีวิตรวม 360,000 คน
ไข้หวัดใหญ่สเปน (Spanish flu) - เชื้อไวรัส
ค.ศ.1918 มีผู้เสียชีวิตรวม ทั้งอเมริกาและยุโรปรวมถึง 20-50 ล้านคน ข้อมูลบางแหล่งเชื่อว่าอาจถึง 100 ล้านคน!!
ไข้หวัดใหญ่เอเชีย (Asian Flu)
ค.ศ.1956-1958 ทั่วโลกเสียชีวิตจำนวน 2 ล้านคน
ไข้หวัดใหญ่ฮ่องกง (Hong Kong Flu)
ค.ศ.1968 เสียชีวิตราว 1 ล้านคน
เอดส์ (Acquired Immunodeficiency Syndrome: AIDS) - เชื้อไวรัส HIV
ตั้งแต่ปี 2535 ประเทศไทยเริ่มเกิดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์อย่างรุนแรง
ไข้หวัดใหญ่ 2009 A(H1N1) - เชื้อไวรัส
ค.ศ.2009 เสียชีวิตมากกว่า 200,000 คน
ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) - เชื้อไวรัส
ค.ศ.2019-ปัจจุบัน ข้อมูลวันที่ 28 มีนาคม 2020 ผู้เสียชีวิต 27,365 คนจากผู้ติดเชื้อ 597,267 คน
จริง ๆ แล้วยังมีการระบาดอื่น ๆ อีก แต่ที่สรุปมาข้างต้น นับเป็นเฉพาะครั้งใหญ่ ๆ เท่านั้น ในยุคหลัง ๆ ที่การแพทย์เราก้าวหน้าและมีความเข้าใจในเชื้อโรคมากขึ้น แนวโน้มในการรักษาก็ค่อนข้างได้ผลทำให้ผู้เสียชีวิตจากการติดโรคดังกล่าวที่ผ่านมาลดลง จนไม่อยู่ในสถานการณ์โรคระบาด แต่ทั้งนี้ไม่นับรวมโรคอุบัติใหม่อย่าง ไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งยังไม่มีวัคซีนป้องกันและที่รักษาโรคได้โดยตรง
บทสรุป
การเปรียบเทียบเชื้อโรคทั้งสองข้างบนเป็นแค่ความเห็นของทีมผู้เขียนเท่านั้น ความน่ากลัวของเชื้อโรคสำหรับแต่ละคนอาจแตกต่างกันไปตามประสบการณ์ที่ได้พบโดยตรงหรือทางอ้อมซึ่งถ้าให้เปรียบเทียบ อาจได้ผลที่ต่างกัน แต่ที่แน่ๆคือเราทุกคนควรรู้จักป้องกันตัวรักษาสุขอนามัย เพื่อไม่ให้ติดเชื้อเหล่านี้ เลยจะดีที่สุด
แหล่งที่มา
Alana, B. (2018, 11 October). What’s the Difference Between Bacterial and Viral Infections?. Retrieved 5 April 2020, from https://www.healthline.com/health/bacterial-vs-viral-infections
Betty, B. (2019, 21 November). Is it a Bacterial Infection or Virus?. Retrieved 3 April 2020, from https://www.dukehealth.org/blog/it-bacterial-infection-or-virus
Carmen, F. (2019, 17 July). What's the difference between a bacteria and a virus?. Retrieved 3 April 2020, from https://www.drugs.com/medical-answers/difference-between-bacteria-virus-3503840/
Emiliani, C. (1993). Extinction and viruses. Journal of the BioSystems, 1993 (31), 155-159.
James, M. (2017, 17 September). Bacterial vs. viral infections: How do they differ?. Retrieved 4 April 2020, from https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/infectious-diseases/expert-answers/infectious-disease/faq-20058098
Peggy T. (2004). Bacteria and Viruses (1st ed). New York: Lucent Books.
Physicians' Review Network (PRN). (2016, 5 November). Bacterial Infections 101. Retrieved 3 April 2020, from https://www.onhealth.com/content/1/bacterial_infections
Physicians' Review Network (PRN). (2016, 7 January). Viral Infections: Types, Treatment, and Prevention. Retrieved 3 April 2020, from https://www.onhealth.com/content/1/viral_infections
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)