ฟ้าทะลาย (โจร) โควิด-19
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 เป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ที่ระบาดรุนแรง และคร่าชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วกว่า 4 ล้านคน (ข้อมูลจาก COVID-19 Dashboard by the Center for Systems Science and Engineering (CSSE) วันที่ 18 กรกฎาคม 2564) นอกจากเกิดผลกระทบโดยตรงกับสุขภาพของผู้คนแล้ว ยังสร้างความเสียหายอย่างมากกับระบบเศรษฐกิจทั่วโลก หลายประเทศจึงพยายามหาทางออกโดยการทุ่มงบประมาณไปกับการพัฒนาและจัดซื้อวัคซีน
วัคซีนจึงเป็นเสมือนแสงแห่งความหวังที่จะหยุดเชื้อโรคร้ายนี้ อาจมีหลายคนสงสัยหรืออยากทราบว่า ในการพัฒนาวัคซีนรวมถึงยามีขั้นตอนอย่างไร และฟ้าทะลายโจรซึ่งเป็นสมุนไพรของไทย สามารถป้องกันโควิด - 19 ได้จริงหรือไม่ หลายครั้งที่ในการจัดการเรียนการสอนจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยง เรื่องที่กำลังเป็นประเด็นในสังคมเพื่อกระตุ้นความสนใจแก่ผู้เรียน และเพื่อให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องที่กำลังจะเรียนรู้ เช่น เรื่องระบบภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้สืบค้นข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้ที่น่าเชื่อถือ และนำข้อมูลดังกล่าว มาวิเคราะห์เพื่อสรุปองค์ความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งบทความนี้ก็ได้รวบรวมข้อมูลในประเด็นดังกล่าว มาพอสังเขปเพื่อเป็นข้อมูลแก่ผู้ที่สนใจ
โดยปกติแล้ววัคซีนหรือยาที่ได้รับอนุญาตให้ใช้นั้น ต้องใช้เวลาในการศึกษายาวนานถึง 10 - 20 ปี โดยขั้นก่อนการศึกษาทางคลินิก (Preclinical phase) จะมีการทดสอบในเซลล์ที่เพาะเลี้ยงในห้องปฏิบัติการและกับสัตว์ทดลอง เมื่อได้ผลที่พึงพอใจแล้วจึงจะมีการวิจัยในคลินิก (Clinical Trials) กับมนุษย์ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ (Phase) (Rousseaux & Bracken, 2013, Mwidau & Chang, 2010)
0 : Human Microdosing คือ การให้ยาในขนาดที่ต่ำกว่าขนาดออกฤทธิ์จริง ใช้เป็นข้อมูลการออกฤทธิ์ของยาในมนุษย์ เพื่อเป็นการกรองว่าจะตัดสินใจศึกษาในขั้นต่อไปหรือไม่ (10 - 15 คน)
I : Human Pharmacology คือ ศึกษาเพื่อประเมินขนาดที่ดีที่สุด (Dosage Ranges) และปลอดภัยที่สุด (Safety) ของยา เช่น ความอดทน รับยาได้ เภสัชจลนศาสตร์ และเภสัชพลศาสตร์ของยา (20 - 80 คน)
II : Therapeutic Exploratory คือ ศึกษาประสิทธิภาพของยา (Efficacy) อาการข้างเคียง (Side Effects) ของผู้ป่วยเมื่อใช้ยาในขนาดที่เหมาะสมในระยะสั้น (100 - 300 คน)
III : Therapeutic Confirmatory คือ ศึกษาประสิทธิภาพ (Efficacy) และอาการข้างเคียงในระยะยาว (Monitoring of Adverse Reactions) ในกลุ่มที่ใหญ่ขึ้น มีการวิเคราะห์ทางสถิติของกลุ่มประชากรที่ได้รับยาจริงและยาหลอก (Placebo) ระยะนี้อาจใช้เวลานาน 7 - 15 ปี (1,000 - 3,000 คน)
IV : Therapeutic Use คือ การติดตามหลังยาได้รับการอนุมัติให้จำหน่ายในท้องตลาด (Post-marketing Surveillance) เพื่อยืนยันประสิทธิภาพในข้อบ่งใช้ของยาและความปลอดภัยในระยะยาวของผู้ป่วย (5,000 - 10,000 คน)
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้มีการพัฒนาวัคซีนอย่างเร่งด่วน เพื่อที่จะลดความรุนแรงและการสูญเสียจากการติดเชื้อ แต่การจัดสรรวัคซีนในแต่ละประเทศ รวมถึงประสิทธิภาพของวัคซีนในระยะยาวก็ยังเป็นที่กังขา ผู้คนจึงพยายามรักษาสุขภาพตนเองและเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ได้มากที่สุด รวมถึงใช้แพทย์ทางเลือกและสมุนไพรในการป้องกันและการรักษาโรคโควิด - 19
สมุนไพรไทยเป็นอีกทางเลือกที่กำลังนิยมในปัจจุบัน สมุนไพรหลายชนิดถูกเผยแพร่และแนะนำให้ใช้เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในร่างกาย เช่น ขิง (Zingiber officinale) (Rathinavel, Palanisamy, Palanisamy, Subramanian & Thangaswamy, 2020) ข่า (Alpinia galanga) (Bendjeddou, Lalaoui & Satta. 2003) ขมิ้น (Curcuma longa) (Yan, Shen, Cao, Zhang, Wang & Cheng, 2020) คาวตอง (Houttuynia cordata) (Chiow, Phoon, Putti, Tan & Chow, 2016) แต่สมุนไพรที่ได้รับการยอมรับหรือนำมาใช้มากที่สุดในขณะนี้ คงหนีไม่พ้นฟ้าทะลายโจร ซึ่งขณะนี้ได้ถูกเพิ่มเงื่อนไขการใช้ในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ. 2564 ให้ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด- 19 ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง ซึ่งสามารถใช้ได้ในรูปของสารสกัดและในรูปผงจากผงฟ้าทะลายโจร อย่างไรก็ตาม การใช้กับผู้ป่วยต้องใช้ภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม และจะต้องมีการติดตามประเมินประสิทธิผล และความปลอดภัยหลังการใช้อย่างเป็นระบบ
ฟ้าทะลายโจร
ฟ้าทะลายโจร
ชื่อวิทยาศาสตร์: Andrographis paniculata (Burm.f.) Nees
วงศ์: Acanthaceae
ชื่อสามัญ: King of Bitters
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์: ไม้ล้มลุก ลำต้นเป็นสี่เหลี่ยม ใบเดี่ยว เรียงตรงข้าม รูปหอกหรือหอกแกมไข่ ขอบใบเรียบ ปลายใบแหลม ช่อดอกแบบช่อแยกแขนง กลีบดอกสีขาว กลีบบนจำนวน 2 พู หมุนทิศกลับกลีบล่างจำนวน 3 พู กลีบกลางล่างมีแต้มสีม่วงเข้ม ผลแห้งแตกรูปรี
สารออกฤทธิ์หลัก: Andrographolide เป็นสารกลุ่มไดเทอปีนแลคโตน (Diterpene Lactones) ในตระกูลไอโซพรีนอยด์ (Isoprenoids) ซึ่งรู้จักกันดีว่าออกฤทธิ์ต้านไวรัสได้หลายกลุ่ม (Gupta, Mishra & Ganju, 2017)
ความจริงแล้วฟ้าทะลายโจรเป็นพืชที่สำคัญในวงการแพทย์แผนจีนและแพทย์แผนไทยมานานแล้ว เนื่องด้วยฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์เย็น จึงนิยมนำมาใช้เป็นยาลดไข้ ใช้ดับธาตุไฟที่สูงขึ้นในร่างกาย เช่น การลดไข้ และได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติตั้งแต่ พ.ศ. 2542 (บัญชียาสมุนไพร) ซึ่งมีข้อบ่งใช้ คือ แก้ไข้ เจ็บคอ รักษาอาการท้องเสียไม่ติดเชื้อ
การศึกษาทางเภสัชวิทยาพบว่าสาร Andrographolide และอนุพันธ์ของสาร (14-deoxy-11,12-didehydroandrographolide) สามารถลดอาการไข้ ลดอาการเจ็บปวด และการอักเสบของหนูที่ใช้ในการทดลองได้ (Suebsasana, Pongnaratorn, Sattayasai, Arkaravichien, Tiamkao & Aromdee, 2009) ช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในการทดลองของหนูที่ติดเชื้อแบคทีเรีย โดยช่วยให้มีการหลั่ง IgG, IgA Antibody, Interferon-γ (IFN-γ) และ interleukin-2 (IL-2) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าฟ้าทะลายโจรสามารถช่วยต้านการติดเชื้อของจุลชีพที่ก่อโรคภายในเซลล์ได้ (Xu., 2009)
จากความเกี่ยวเนื่องของคุณสมบัติของฟ้าทะลายโจร และสารออกฤทธิ์หลัก Andrographolide ต่ออาการที่คล้ายคลึงกับโรคโควิด-19 ฟ้าทะลายโจรจึงเป็นสมุนไพรที่มีการให้ความสนใจในการนำมาทดสอบการออกฤทธิ์ต่อเชื้อไวรัส SARS-CoV-2
นอกจากนี้ ยังพบว่าเมื่อมีการทดลองโดยใช้เซลล์เยื่อบุปอด (Human Lung Epithelial Cells) Calu-3 cells ที่ถูกทำให้ติดเชื้อ SARS-COV-2 พบว่า สารสกัดจากฟ้าทะลายโจรที่สกัดด้วย เอทานอล และสาร Andrographolide สามารถยับยั้งการติดเชื้อได้อย่างมีนัยยะสำคัญ โดยมีค่า IC50 (ความเข้มข้นของสารที่สามารถยับยั้งเชื้อได้ 50%) ของสารสกัดฟ้าทะลายโจรที่ 9,54 μg/mL และของ andrographolide ที่ 1.68 μM นอกจากนี้ ยังพบว่าเมื่อหาปริมาณไวรัสโดยการนับจำนวนการเกิดพลัค (Plaque Assay) ฟ้าทะลายโจรและสารออกฤทธิ์สามารถลดจำนวนของพลัคที่เกิดจากเซลล์ที่ตายจากการติดเชื้อลงได้ที่ IC50 ต่ำ (Sa-Ngiamsuntorn et al, 2021)
การติดเชื้อไวรัสที่ปอด
ที่มา : Anti-SARS-CoV-2 activity of Andrographis paniculata extract and its major component Andrographolide in human lung epithelial cells and cytotoxicity evaluation in major organ cell representatives
โดยปกติแล้วเชื้อไวรัสจะเพิ่มจำนวนได้จะต้องใช้เซลล์ของ Host ช่วยสร้างไวรัสตัวใหม่ ซึ่ง Spike (S) Glycoprotein ของไวรัส SARS CoV-2 จะจับกับ ACE2 receptor บนเซลล์ของมนุษย์ ทำให้เกิดการหลอมรวมเปลือกหุ้มไวรัสกับเยื่อหุ้มเซลล์ของ Host แล้วปล่อย RNA ของไวรัสเข้าไปในเซลล์เพื่อจำลองตัวเอง (Replication) เกิดการเพิ่มจำนวนไวรัส มีการศึกษาพบว่าสาร Andrographolide นี้สามารถจะเข้าแย่งจับกับ ACE2 Receptor และ M Protease ของเชื้อไวรัสซึ่งมีบทบาทสำคัญของการเพิ่มจำนวนและแบ่งตัวของไวรัส ทำให้ Andrographolide สามารถป้องกันไวรัสเข้าสู่เซลล์ รวมถึงลดการแบ่งตัวของเซลล์ไวรัสได้ (Yan, Shen, Cao, Zhang, Wang & Cheng, 2020)
การศึกษาส่วนใหญ่นั้นจะเป็นการศึกษาในขั้นก่อนการศึกษาทางคลินิก (Preclinical Phase) อาจจะด้วยเป็นโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ จึงมีเวลาศึกษาค่อนข้างน้อย บวกกับจำนวนเคสที่เข้ารับการศึกษาไม่มาก อย่างไรก็ตามประเทศไทยได้มีการศึกษานำร่องโดยกรมการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือกร่วมกับโรงพยาบาลสมุทรปราการ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และองค์การเภสัชกรรม เก็บข้อมูลอาสาสมัครผู้ป่วยโควิด-19 ระดับความรุนแรงน้อย จำนวน 6 คน โดยใช้ยาฟ้าทะลายโจรที่มีสาร Andrographolide ขนาด 20 มิลลิกรัมต่อแคปซูล ร่วมกับการรักษาตามปกติ พบว่าสามารถลดความรุนแรงของอาการร่วมที่ปรากฏอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติ เช่น การไอ เจ็บคอ ปริมาณเสมหะ การปวดศีรษะ และไม่พบอาการไม่พึงประสงค์นอกจากนี้ พบว่าผู้ป่วย 3 ราย ตรวจไม่พบเชื้อในวันที่ 5 หลังจากได้รับยา (กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, 2019) ซึ่งผลการศึกษานี้ทำให้เห็นว่าฟ้าทะลายโจรให้ผลในทิศทางที่ดีต่อการรักษาโรคโควิด-19 แต่เมื่อไม่นานมานี้ จากสถานการณ์การระบาดเป็นกลุ่มก้อนขนาดใหญ่ในเรือนจำกรุงเทพมหานคร กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกและเครือข่าย ได้จัดส่งยาสมุนไพรไปให้ผู้ติดเชื้อ และได้ติดตามการใช้ยาฟ้าทะลายโจรแบบบดผง ขนาด 400 มิลลิกรัมต่อแคปซูล และกระชายขาวแบบสารสกัด ขนาด 100 มิลลิกรัม เปรียบเทียบกับยาแผนปัจจุบัน Favipiravir ในกลุ่มคนที่ไม่มีอาการทางคลินิก จำนวน 120 ราย จากนั้นมีการติดตามผลการกำจัดเชื้อ SARS-COV-2 โดยการเก็บตัวอย่าง Nasopharyngeal Swab วันเว้น 2 วัน ส่งตรวจด้วยเทคนิค RT-PCR จากผลการศึกษาพบว่า จำนวนวันที่เก็บตัวอย่างจนไปถึงวันที่ไม่พบเชื้อ ฟ้าทะลายโจรแบบบดผง สารสกัดกระชายขาวและฟ้าทะลายโจรร่วมกับกระชายขาว ใช้เวลาทั้งสิ้น 8 วัน ส่วนยา Favipiravir ใช้เวลา 12 วัน จากผลการรักษาพบว่าสามารถลดระยะเวลาการรักษา และระยะเวลาการขับเชื้อ (Viral Shedding) ได้ดีกว่า และผู้ป่วยไม่มีอาการตัวเหลืองตาเหลืองในระหว่างการรักษา (เอนก มุ่งอ้อมกลาง. 2564) ดังนั้นยาฟ้าทะลายโจรจึงน่าจะเป็นความหวังอีกทางหนึ่งสำหรับวงการแพทย์ในการศึกษาระยะยาวต่อไป
คำแนะนำการใช้ฟ้าทะลายโจรสำหรับโรคโควิด - 19 (กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข, 2019)
ㆍ สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ (Asymptomatic COVID-19) แนะนำให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณ Andrographolide 20 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน และเย็น ติดต่อกันนาน 5 วัน
ㆍ สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการไม่รุนแรง ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรครุนแรงและโรคปอดอักเสบ (Symptomatic COVID-19 without Pneumonia and No Risk Factors for Severe Disease) แนะนำให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณ Andrographolide 60 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร เช้า กลางวัน และเย็น ติดต่อกันนาน 5 วัน
ㆍ สำหรับผู้ที่ต้องการเสริมภูมิคุ้มกัน แนะนำให้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรที่มีปริมาณ Andrographolide 10 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง ติดต่อกันนาน 5 วัน เว้น 2 วัน ติดต่อกันไม่เกิน 12 สัปดาห์
ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อควรได้รับการดูแลตามหลักมาตรฐาน และรับการจ่ายยาโดยอยู่ในการควบคุมของแพทย์อย่างใกล้ชิด (กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, 2019)
ข้อควรระวัง (กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, 2019)
ㆍ ฟ้าทะลายโจรมีฤทธิ์เย็น หากใช้ติดต่อกันเกินระยะเวลาที่แนะนำ อาจทำให้แขนขาชา อ่อนแรง รู้สึกหนาวเย็นภายใน
ㆍ การใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาลดความดันโลหิต (Antihypertensives) อาจเสริมฤทธิ์กัน
ㆍ ไม่ควรใช้ฟ้าทะลายโจรร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด(Anticoagulants) ยาต้านเกล็ดเลือด (Antiplatelets) ยาต้านซึมเศร้า(Antidepressant) เช่น Clozapine, Fluvoxamine, Olanzapine ยาบรรเทา อาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) หรือยาแก้ปวดข้อต่างๆ เช่น Diclofenac, Ibuprofen
ㆍ บางรายอาจเกิดอาการไม่พึงประสงค์ เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ ใจสั่น ผิดปกติเกี่ยวกับผิวหนัง
ㆍ ห้ามใช้ในหญิงที่ตั้งครรภ์ หรืออาจจะตั้งครรภ์ และที่กำลังให้นมบุตร เพราะอาจทำให้ทารกผิดรูป
จะเห็นได้ว่า ฟ้าทะลายโจรมีแนวโน้มที่จะนำมาใช้ในการรักษาโรค Covid-19 ในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงได้ หรืออาจใช้ในกรณีที่ต้องการเสริมภูมิคุ้มกัน แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยก็จำเป็นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์ และใช้ยาตามข้อบ่งชี้ในปริมาณที่เหมาะสม แม้ว่าปัจจุบันจะมีทั้งสมุนไพร ยารักษาโรค และวัคซีนป้องกันโรค Covid - 19 แต่ทุกคนก็ยังคงต้องดูแลสุขภาพร่างกายของตนเองให้แข็งแรง ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และล้างมือให้สะอาด สวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงทุกครั้ง และคอยติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 50 ฉบับที่ 235 มีนาคม - เมษายน 2565
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
BendJeddou, D & Lalaoul, K & Satta, D. (2003). Immunostimulating activity of the hot water-soluble polysaccharide extracts of Anacyclus pyrethrum, Alplnla galanga and Citrullus colocynthls. Joumal of ethnopharmacology. 88(2-3): 155-60.
Chlow, K & Phoon, M & Putti, T & Tan, BK & Chow, VT.(2016). Evaluation of antiviral activittes of Houttuynla cordata Thunb, extract, quercetin, quercetrin and cinanserin on murine coronavirus and dengue virus Infectlon. Asian Paciic journal of tropical medcine. 9(1): 1-7.
COVID-19 Dashboard by the Center for Systems Sclence and Englneering (CSSE) at Johns HopkIns Unlverslty (JHU)". ArcGIs. Johns HopkIns Universlty. Retrleved July18,2021,from https://gisanddata.maps.arcgis.com/apps/dashboards/bda7594740fd40299423467b48e9ecf6
Gupta, S & Mlshra, K & Ganju, L. (2017). Broad-spectrum antivlral propertles of andrographollde. Archives of virology.162(3): 611-23.
Mwldau, J & Chang, D. (2010). Clinlcal Trals: Why Partlcipate? Early Dlagnosis and Treatment of Cancer Series. Colorectal Cancer E-Book:Expert Consult.
RathInavel, T & PalanIsamy, M & Palanisamy, S & Subramanlan, A & Thangaswamy s. (2020). Phytochemlcal 6-Gingerol--A promlsing Drug of cholce for COVID-19, Int J Adv Scl Eng. (4): 1482-9.
Rousseaux, CG & Bracken, WM.(2013). Overview of Drug Development. Haschek and Rousseaux's Handbook of Toxcologlc Pathology: Elsevler.
Sa-Nglamsuntorn K & Suksctu, A & Pewkliang, Y & Thongsrl, P & KanJanasirirat, P & ManopwisedJaroen, s et al. (2021). Ant-SARS-CoV-2 activlty of AndrographIs paniculata extract and Iits major component Andrographollde In human lung eplthellal cells and cytotoxicity evaluation in major organ cell representatves. Joumal of Natural products. 84(4): 1261-70.
Suebsasana, S & Pongnaratorn, P & Sattayasal, J & Arkaravichlen, T & Tlamkao, S & Aromdee, C. (2009), Analgeslc, antipyretlc, anth-Infiammatory and toxlc effects of andrographollde derivatives In experlmental anImals. Archives of pharmacal research. 32(9): 1191-200.
Xu, Y. (2009). Adaptive Immune Response-modliying and Antimicroblal Propertles of Andrographis paniculata and Andrographollde (DIssertation Doktor). The Department of Blologlcal and Physlcal Sclence The Unlverslty of Queensland.
Yan, J & Shen, X & Cao, Y & Zhang, J& Wang, Y & Cheng, Y. (2020). Discovery of Anti-2019-nCoV Agents from 38 Chinese Patent Drugs toward Resplratory Diseases via Docking Screening. PreprInts, Article ID: 2020020254.
กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. (2564), คำแนะนำการใช้ยาฟ้าทะลายโจรสำหรับการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรุงเทพมหานคร: บริษัท สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพ) จำกัด.
เอนก มุ่งอ้อมกลาง. เอกสารประกอบการเสวนาวิชาการ ฟ้าทะลายโจร สมุนไพรไทยในวิกฤต COVID-19 กรมการพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, (facebook post. สืบค้นเมื่อ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2564. จาก https://www.facebook.com/biothai.net/posts/4353405928031228
-
13045 ฟ้าทะลาย (โจร) โควิด-19 /article-science/item/13045-2023-06-13-06-14-22-6เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง