Planet Zoo เกมสร้างสวนสัตว์สุดเกินคาดกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ที่ซ่อนอยู่
หากใครเป็นคอเกมสายจำลองสถานการณ์ โดยเฉพาะด้านการออกแบบและวางแผน ชื่อเกม Planet Zoo ก็น่าจะเป็นเกมยอดนิยมลำดับต้น ที่คอเกมนึกถึง โดย Planet Zoo เป็นเกมสร้างสวนสัตว์ยอดนิยมที่วางขายเมื่อปลายปี 2562 จุดเด่นของเกมอยู่ที่ระบบการบริหารจัดการสวนสัตว์ที่ลงลึก ครอบคลุมหลายมิติ ระบบการออกแบบสถานที่เลี้ยงที่ค่อนข้างเปิดกว้างและอิสระ รวมถึงระบบการวิจัยเกี่ยวกับสัตว์ที่ซับซ้อนและสมจริง
ว่าด้วยเรื่อง Planet Zoo
เกม Planet Zoo เป็นวิดีโอเกม ในรูปแบบผู้เล่นคนเดียว พัฒนาและจัดจำหน่ายโดย Frontier Developments โดยวางจำหน่ายบนเว็บไซต์ Steam (https://store.steampowered.com) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2562 โดยมีราคาเต็มอยู่ที่ 975 บาท ตัวเกมเปิดโอกาสให้ผู้เล่นออกแบบสร้างและบริหารสวนสัตว์ของตนเอง สร้างโลกสำหรับสัตว์ป่าบนภูมิทัศน์อันกว้างใหญ่ ดูแลสัตว์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี เฝ้าดูการเจริญเติบโต จนกระทั่งการขยายเผ่าพันธุ์ของบรรดาสัตว์ที่น่าทึ่ง พบกับสัตว์หลากหลายสปีชีส์ในเกม ตั้งแต่สัตว์เลื้อยคลานตัวเล็กอย่างอิกัวน่าไปจนถึงสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมขนาดใหญ่อย่างช้างแอฟริกา โดยมีสัตว์จำนวนทั้งสิ้น 79 สปีชีส์ในเกมหลักและอีกกว่า 40 สปีชีส์ที่วางจำหน่ายในภาคเสริมต่าง ๆ เช่น ภาคเสริมสัตว์ในอเมริกาเหนือ สัตว์หากินกลางคืน โดยสัตว์ทุกตัวใน Planet Zoo ล้วนมีความรู้สึกนึกคิดเป็นของตัวเอง มีรูปลักษณ์ภายนอกที่เป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัว
ผู้เล่นจะได้รับหน้าที่ 2 บทบาทด้วยกัน โดยบทบาทแรก คือ “นักบริหาร” ที่จะต้องบริหารจัดการกับรายรับรายจ่ายในสวนสัตว์ การจ้างงานของพนักงาน การแบ่งพื้นที่การทำงานให้แก่พนักงาน การสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับผู้เยี่ยมชม เช่น ร้านอาหาร ห้องน้ำ ตู้กดเงิน รถไฟโมโนเรล ซึ่งเป็นการฝึกทักษะการวางแผน การจัดการ รวมถึงความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ผู้เล่น และอีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่ผู้เล่นจะได้รับก็คือบทบาทของ “นักวิทยาศาสตร์” โดยผู้เล่นจะต้องทำการสืบค้นข้อมูลของสัตว์แต่ละชนิด ว่ามีข้อกำหนดและความต้องการอย่างไร จากนั้นผู้เล่นจะต้องสร้างสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย (Enclosure) ให้เหมาะสมกับสัตว์ชนิดนั้น เช่น หมีขาวเหมาะสำหรับอยู่ในไบโอมทุนดรา อากาศค่อนข้างหนาวเย็น และเป็นสัตว์สันโดษ ไม่สามารถอยู่ร่วมกันเป็นฝูงใหญ่ได้ นอกเหนือจากการดูแลสวัสดิภาพของสัตว์แล้ว ผู้เล่นจะต้องทำการวิจัยเพื่อพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ ที่ใช้สำหรับส่งเสริมคุณภาพของสัตว์ วิจัยโรคที่พบได้ในสัตว์เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของโรค ที่อาจพบได้ในสวนสัตว์ รวมถึงวิจัยและทำงานเพื่ออนุรักษ์สัตว์ที่ถูกคุกคามใกล้สูญพันธุ์
จะเห็นได้ว่า Planet Zoo เป็นเกมที่อัดแน่นด้วยความเป็นวิทยาศาสตร์ไว้สูงมาก ที่เห็นได้อย่างเด่นชัด คือ ระบบนิเวศและความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต ตัวเกมเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้ทำความเข้าใจลักษณะของไบโอม (Biome) ว่าไบโอมแต่ละประเภทนั้นมีอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน ชนิดของพืช ชนิดของสัตว์เป็นอย่างไร รวมถึงพาผู้เล่นไปทำความรู้จักลักษณะภายนอก อัตลักษณ์และพฤติกรรมของสัตว์หลากหลายสปีซีส์ ไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่รักการปีนป่าย อย่างลิงชิมแพนซี หมีขอ สัตว์ที่รักการอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่อย่างนกกระจอกเทศ นกฟลามิงโกใหญ่ หรือจะเป็นสัตว์ที่มีระบบผู้นำฝูงอย่างสุนัขจิ้งจอกอาร์กติก และหากผู้เล่นกังวลว่าเนื้อหาและหลักการในตัวเกมด้านชีววิทยาถูกต้องหรือไม่ จะสร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนแก่ผู้เล่นหรือไม่ ก็ไม่ต้องกังวลไป เนื่องจากทีมผู้พัฒนาได้เชิญนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยหลายสิบชีวิต ร่วมเป็นที่ปรึกษาในขั้นตอนการพัฒนาเกมนี้ นอกจากนั้น ผู้พัฒนาได้ศึกษาสรีระและพฤติกรรมของสัตว์แต่ละชนิด ผ่านการสังเกตด้วยตนเองเป็นเวลาหลายเดือน ก่อนจะเริ่มทำการออกแบบอีกด้วย ดังนั้น ผู้เล่นจึงสามารถคลายกังวลเรื่องความถูกต้องด้านชีววิทยาได้เลย
นอกเหนือจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่ตัวเกมมอบให้ผู้เล่นแล้วยังมีเรื่องของธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ (Nature of Science; NOS) ที่สอดแทรกผ่านระบบการเล่นต่าง ๆ ของเกมอีกด้วย ซึ่งเป็นใจความสำคัญที่บทความนี้จะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป
ภาพจากเกม Planet Zoo
ภาพจากเกม Planet Zoo
ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ (Nature of Science; NOS)
ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ เป็นลักษณะเฉพาะที่บ่งบอกความแตกต่างระหว่างวิทยาศาสตร์กับศาสตร์อื่น โดยสมาคมเพื่อความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์อเมริกัน (American Association for the Advancement of Science: AAAS, 1990) ได้เสนอขอบข่ายธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ไว้ 3 ประเด็นด้วยกันคือ ลักษณะความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การแสวงหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และวิทยาศาสตร์กับสังคม
หากวิเคราะห์รายละเอียดในเกม Planet Zoo อย่างถี่ถ้วนแล้วพบว่าตัวเกมเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้เข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ในหลายด้าน โดยบทความนี้จะใช้กรอบแนวคิดธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ของ AAAS (1990) ในการอธิบาย ดังนี้
ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ต้องอยู่บนหลักฐานเชิงประจักษ์ (Science Demands Evidence)
ในเกม Planet Zoo นั้น ผู้เล่นจะต้องศึกษาว่าสัตว์แต่ละชนิดที่ผู้เล่นเลือกจะรับเข้ามาในสวนสัตว์ได้นั้น ต้องการสิ่งแวดล้อมแบบใดในสถานที่เลี้ยง สัตว์แต่ละชนิดชอบพันธุ์ไม้ประเภทใด สามารถอยู่ร่วมกับสัตว์ชนิดใดได้บ้าง เลือกกินอาหารประเภทใด โดยข้อมูลในส่วนนี้ ผู้เล่นจะต้องศึกษา ค้นคว้า ทดลองและสังเกตพฤติกรรมของสัตว์ ว่าชอบสถานที่เลี้ยงที่ผู้เล่นจัดสรรให้หรือไม่ ตัวเกมจะแสดงข้อมูลออกมาเป็นส่วน ว่าสัตว์พึงพอใจสถานที่เลี้ยงในระดับใด ซึ่งเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ว่า ผู้เล่นไม่สามารถยึดความคิดหรือความเชื่อเดิมของตนเองเป็นหลักได้ เช่น ผู้เล่นหลายคนมีความเชื่อว่า “เต่าทุกชนิดกินผักบุ้งเป็นอาหาร” แต่เมื่อทดลองรับเต่ากาลาปากอสมาเลี้ยง กลับพบว่าเต่ากาลาปากอสไม่กินผักบุ้ง แต่เลือกกินผลไม้แทน ซึ่งผลลัพธ์ในส่วนนี้เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ที่ผู้เล่นต้องยอมรับและปรับความรู้ ความเข้าใจของตนเองใหม่
วิทยาศาสตร์ใช้ทั้งเหตุผลและจินตนาการในการสืบเสาะหาความรู้ (Science is a Blend of Logic and Imagination)
ในการออกแบบสถานที่เลี้ยงนั้น นอกจากผู้เล่นจะต้องวิเคราะห์ถึงความต้องการในด้านต่าง ๆ ของสัตว์แล้ว ผู้เล่นยังจะต้องใช้จินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ ในการออกแบบวิธีการในการหาข้อมูลเหล่านั้นด้วย เช่น หากต้องการทดสอบว่า พื้นที่แหล่งน้ำเพียงพอต่อความต้องการของจระเข้น้ำเค็มหรือไม่ นอกจากผู้เล่นจะต้องคำนวณขนาดพื้นที่ในสถานที่เลี้ยงแล้ว ผู้เล่นยังต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบพื้นที่ ให้จระเข้สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้ด้วย หากพื้นที่ชันเกินไปหรือมีสิ่งกีดขวาง จระเข้น้ำเค็มจะไม่สามารถเข้าถึงแหล่งน้ำได้ ดังนั้น ผู้เล่นจึงต้องดึงศักยภาพทางด้านตรรกศาสตร์ของตนเองผนวกรวมกับความคิดสร้างสรรค์ จึงจะนำมาซึ่งคำตอบที่ผู้เล่นต้องการทราบได้
วิทยาศาสตร์แตกแขนงเป็นสาขาวิชาต่าง ๆ และดำเนินงานในหลายองค์กร (Science is Organized into Content Disciplines and is Conducted in Various Institutions)
ใน Planet Zoo นั้น ผู้เล่นจะต้องบริหารจัดการให้นักวิทยาศาสตร์และสัตวแพทย์ดำเนินการวิจัย เพื่อศึกษาศาสตร์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ เพื่อนำความรู้ที่ได้ปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของสัตว์ในสวนสัตว์ โดยการวิจัยในเกมนั้นได้แตกแขนงเป็นหลายสาขา เช่น การวิจัยด้านโครงสร้างเพื่อศึกษาว่ารั้วแบบใดเหมาะกับสัตว์ชนิดใด มีความทนทานมากแค่ไหนการวิจัยด้านพยาธิวิทยา เพื่อศึกษาพยาธิและปรสิตที่อาจพบได้ในตัวสัตว์ ศึกษาแนวทางการป้องกันและรักษาสัตว์จากพยาธิเหล่านั้น หรือจะเป็นการวิจัยด้านการส่งเสริมพฤติกรรมและสวัสดิภาพของสัตว์ เพื่อพัฒนาวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ส่งเสริมพฤติกรรมของสัตว์ เช่น ราวโหนสำหรับสัตว์ในกลุ่มไพรเมท
จะเห็นได้ว่า ในตัวเกมก็มีการศึกษาทางวิทยาศาสตร์หลายสาขาวิชา ทำให้ผู้เล่นเห็นการจัดกลุ่มทางเนื้อหาที่ศึกษา และเห็นว่าการศึกษาดังกล่าวนั้นดำเนินงานในหลาย ภาคส่วนในสวนสัตว์
ภาพจากเกม Planet Zoo
จริยธรรมและจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพทางวิทยาศาสตร์ (There are Generally Accepted Ethical Principles in the Conduct of Science)
แม้ว่า Planet Zoo จะเปิดโอกาสให้ผู้เล่นได้มีอิสระทางความคิดในการทดลองอะไรใหม่ ได้หลากหลาย แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้เล่นจะลืมไม่ได้อย่างเด็ดขาดก็คือ “จริยธรรม” ในการทดลอง หากผู้เล่นทำการทดลองใด ที่ส่งผลต่อสวัสดิภาพของสัตว์ เช่น ทดลองให้หมีขาวอยู่ในกรงแคบ และอดอาหารเป็นระยะเวลานาน สิ่งที่จะตามมา คือ “การประท้วง” จากประชาชน โดยผู้ประท้วงจะถือป้ายและตะโกนโห่ร้องหน้าสถานที่เลี้ยงสัตว์ชนิดนั้น เพื่อเรียกร้องให้ผู้เล่นปฏิบัติต่อสัตว์อย่างมีจริยธรรม ไม่ทรมานสัตว์ ไม่ทำการทดลองที่ส่งผลทางลบต่อสวัสดิภาพของสัตว์ ซึ่งการทดลองในสัตว์อย่างมีจริยธรรมสอดคล้องกับจรรยาบรรณการใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ, 2542) ข้อที่ 1 และ 4 ได้แก่ ผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตสัตว์ และผู้ใช้สัตว์ต้องตระหนักว่าสัตว์เป็นสิ่งมีชีวิตเช่นเดียวกับมนุษย์
นอกจากการละเว้นการทารุณกรรมสัตว์แล้ว ตัวเกมยังแฝงการปลูกฝังค่านิยมด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านแต้มการอนุรักษ์ โดยแต้มนี้ผู้เล่นจะได้มาก็ต่อเมื่อได้ทำการเพาะพันธุ์สัตว์ป่าหายาก สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ และทำการปล่อยคืนสู่ป่า เพื่อเป็นการเพิ่มจำนวนสัตว์ป่าหายากในธรรมชาติ จากนั้นผู้เล่นจะสามารถใช้แต้มการอนุรักษ์ที่ได้รับ เพื่อกลับมาพัฒนาสวนสัตว์ของตนเองในด้าน ๆ ต่อไป
อีกสิ่งหนึ่งที่ตอกย้ำว่าทีมผู้พัฒนา Planet Zoo ให้ความสำคัญกับจริยธรรมต่อสัตว์คือ ในตัวเกมจะปราศจากพื้นที่โชว์การแสดงของสัตว์ไม่ว่าจะเป็นการแสดงโลมาเล่นลูกบอล การแสดงช้างอินเดียวาดรูป ฯลฯ เนื่องจากทีมผู้พัฒนาได้ศึกษางานวิจัยและพบว่า การบังคับให้สัตว์ป่าทำการแสดงโชว์นั้น เป็นการฝืนพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์ อีกทั้งยังเป็นการทรมานสัตว์อีกด้วย ทีมผู้พัฒนาจึงตัดเนื้อหาระบบการแสดงของสัตว์ในเกมออก ถึงแม้ว่าจะมีการเรียกร้องจากแฟนเกมมากเพียงใดก็ตาม
วิทยาศาสตร์เป็นกิจกรรมทางสังคมที่ซับซ้อน (Science is a Complex Social Activity)
จากธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ในข้อที่แล้ว จะเห็นได้ว่าการดำเนินงานทางวิทยาศาสตร์กับกิจกรรมทางสังคมนั้น เป็นสิ่งที่แยกขาดจากกันไม่ได้ ค่านิยม วัฒนธรรม ศีลธรรม และจริยธรรมของคนในสังคมยังคงเป็นสิ่งที่กำหนดแนวทางในการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ แม้ว่าผู้เล่นจะอยากทดลองค้นคว้า ศึกษาในแนวทางของผู้เล่นเอง แต่ว่าหากการทดลองนั้นส่งผลกระทบทางลบต่อสัตว์ สิ่งที่ตามมาก็คือ การประท้วง การวิพากษ์วิจารณ์ในแง่ลบจากคนในสังคม ตามมาด้วยการขาดทุนสนับสนุนการศึกษาค้นคว้าในที่สุด
นอกจากนี้ ในแต่ละปีจะมีผู้ตรวจการจากหน่วยงานภายนอก เดินทางมาตรวจสอบสวัสดิภาพของสัตว์ในสวนสัตว์ของผู้เล่น โดยหน่วยงานในเกมนั้นเทียบได้กับองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบสวัสดิภาพของสัตว์ ในสวนสัตว์ต่าง ๆ ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน หากผู้เล่นมีการวางแผนการจัดการที่ดี ก็จะส่งผลให้การประเมินมีแนวโน้มเป็นบวก ผู้เยี่ยมชมและรายรับของสวนสัตว์ก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ผู้เล่นมีทุนที่จะนำมาพัฒนา ปรับปรุง และวิจัยต่อยอดได้มากยิ่งขึ้น จะเห็นได้ว่าวิทยาศาสตร์นั้นไม่ได้แยกเป็นเอกเทศ หากแต่มีการผูกพันเชื่อมโยงกับสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
การส่งเสริมให้ผู้เรียนเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์นั้น เป็นเป้าหมายสำคัญของกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ (American Association for the Advancement of Science (AAAS),1990) เนื่องจากการเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์เป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งของการรู้วิทยาศาสตร์ หากผู้เรียนเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์อย่างเหมาะสม จะทำให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของการค้นพบความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เกิดความเข้าใจคุณลักษณะที่เป็นเอกลักษณ์ของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เกิดเจตคติที่ดีต่อการเรียนวิทยาศาสตร์ (ประสาท เนื่องเฉลิม, 2559) นอกจากนี้ การเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ยังส่งเสริมความสามารถในการโต้แย้งประเด็นทางสังคม ที่เกี่ยวเนื่องกับวิทยาศาสตร์ได้เป็นอย่างดี (Khishfe, 2021)
ภาพจากเกม Planet Zoo
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้เกมเป็นฐานนั้น เป็นกิจกรรมการเรียนรู้ที่ออกแบบมา เพื่อให้ผู้เรียนได้มีความสนุกสนานไปพร้อมกับการเกิดการเรียนรู้ จากงานวิจัย (Pho, 2015) พบว่าการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยใช้เกมเป็นฐานนั้น สามารถเพิ่มแรงจูงใจและการมีส่วนร่วมในชั้นเรียนของผู้เรียนได้ นอกจากนี้ การสอนโดยใช้เกมยังสามารถส่งเสริมความเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย (Kalogiannakis, 2020)
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยการสอดแทรกธรรมชาติวิทยาศาสตร์ผ่านเกม Planet Zoo นั้น ผู้สอนสามารถจัดการเรียนรู้โดยเชื่อมโยงกับเนื้อหาทางชีววิทยา เรื่อง ไบโอม โดยให้ผู้เรียนเรียนรู้สภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ลักษณะพืชพรรณ และชนิดของสัตว์ต่าง ๆ หรือเรื่องชีวจริยธรรม โดยใช้ประเด็นทางวิทยาศาสตร์กับสังคม เพื่อให้ผู้เรียนโต้แย้งและอภิปรายร่วมกันในประเด็นดังกล่าว เช่น “เราควรส่งเสริมการอนุรักษ์ชนิดพันธุ์สัตว์โดยการปล่อยเข้าป่าหรือไม่ อย่างไร” หรือใช้คำถามอื่น ที่ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เพื่อกระตุ้นให้ผู้ร่วมอภิปรายมีความคิดหลากหลายและแลกเปลี่ยนมุมมองซึ่งกันและกัน และรู้จักรับฟังและยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น
นอกจากการใช้เกม Planet Zoo เป็นสื่อการเรียนรู้ในห้องเรียนวิทยาศาสตร์ ผู้สอนอาจใช้เกมนี้เป็นสื่อการเรียนรู้ในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเช่น ชุมนุมหรือชมรมก็ได้เช่นเดียวกัน ผู้สอนสามารถให้ผู้เรียนรับหน้าที่เป็นสตรีมเมอร์ (Streamer) ถ่ายทอดสดการเล่นเกมให้กับผู้ชมในโลกออนไลน์ได้รับชม และให้เพื่อนร่วมชั้นเรียนอภิปรายและเสนอแนวทางในการวางแผนร่วมกัน หรือผู้สอนอาจจะทำหน้าที่สตรีมเมอร์ด้วยตนเองและให้ผู้เรียนทำหน้าที่เสนอความคิดก็ได้ ทั้งนี้ ส่วนสำคัญคือ ผู้สอนจะต้องมีการประเมินผลผู้เรียนว่ามีความเข้าใจในธรรมชาติของวิทยาศาสตร์มากน้อยเพียงใด การจัดการเรียนรู้ประสบผลสำเร็จหรือไม่อย่างไร
จะเห็นได้ว่า ผู้สอนนั้นสามารถสอดแทรกธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ ให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านกิจกรรมได้อย่างหลากหลาย แม้กระทั่งเกมคอมพิวเตอร์อย่าง Planet Zoo ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมการเรียนรู้ได้ นอกจากเกมคอมพิวเตอร์แล้ว ผู้สอนสามารถนำสื่อบันเทิงประเภทอื่น เช่น ภาพยนตร์ซีรีส์ หรือหนังสือนิยาย มาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้เช่นเดียวกัน เพราะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 นั้น ไม่ได้จำกัดอยู่แต่เพียงในตำราเรียนเท่านั้น
บรรณานุกรม
American Association for the Advancement of Science (AAAS). (1990). Nature of Science. Retrieved October 15, 2022,American Association for the Advancement of Science (AAAS). (1990). Nature of Science. Retrieved October 15, 2022,from https://www.project2061.org/publications/sfaa/online-/chap1.htm.
Kalogiannakis, M.& Papadakis, S. & Zourmpakis. (2021). Gamification in Science Education. A Systematic Review of the Literature. Retrieved October 15, 2022,from https://www.mdpi.com/2227-7102/11/1/22.
Khishfe, R. (2021). Nature of Science and Argumentation Instruction in Socio-scientific and Scientific Contexts. International Journal of Science Education.44(4): 647-673.
Pho, A. (2015). Game-Based Learning. Retrieved October 15, 2022, from https://acrl.ala.org/IS-/wp-content/uploads/2014/05/spring2015.pdf.
YouTube. (2019, August 29). The Making of Planet Zoo. Retrieved October 15, 2022, from https://www.youtube.com/watch?v=PQ6DzhLtpxU&ab_channel=PlanetZoo.
ประสาท เนืองเฉลิม. (2556). การสอนธรรมชาติของวิทยาศาสตร์. ครุศาสตร์สาร. 7(1): 135-139.ประสาท เนืองเฉลิม. (2559). ความเข้าใจธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ของนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5. วารสารหน่วยวิจัยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมเพื่อการเรียนรู้. 8(1): 85-100.
วรัตต์ อินทสระ. (2563). เอกสารประกอบการอบรมและปฏิบัติการเปลี่ยนห้องเรียนให้เป็นห้องเล่น. กรุงเทพมหานคร: มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต.
สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.). คู่มือการประเมินผลข้อเสนอการวิจัยของหน่วยงานภาครัฐที่เสนอของบประมาณ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ตามมติคณะรัฐมนตรี.สืบค้นเมื่อ 5 ตุลาคม 2565. จาก http://www.agricul.rbru.ac.th/download/ethics_research.pdf.
องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์. (2555). ระเบียบองค์การสวนสัตว์ว่าด้วยการขาย แลกเปลี่ยน และการให้สัตว์. สืบค้นเมื่อ 7 ตุลาคม 2565.จาก https://www.zoothailand.org/download/article-/article_20210321163048.pdf.
-
13053 Planet Zoo เกมสร้างสวนสัตว์สุดเกินคาดกับธรรมชาติของวิทยาศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ /article-science/item/13053-2023-06-13-06-14-22-14เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง