สะเต็มกับบัวลอย
แน่นอนว่าเราทราบกันดีอยู่แล้วว่า STEM (สะเต็ม) คือแนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน 4 สาขาวิชาคือ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดนมีแกนคำสำคัญคือกระบวนการ ซึ่งกระบวนการดังกล่าวกระทำเพื่อการแก้ปัญหา พัฒนา สิ่งที่มีอยู่หรือเพื่อสร้างสิ่งใหม่ โดยใช้กระบวนการสำคัญทั้งหลักการวิทยาศาสตร์ทั่วไป หลักการออกแบบเชิงวิศวกรรม หรือกระบวนการทางเทคโนโลยีเป็นตัวนำ
ภาพ ลูกบัวลอย
แนวทางการจัดกิจกรรม
วันนี้อยากนำกิจกรรมสนุก ๆ ที่สามารถทำได้ทุกเพศทุกวัย นั่นคือ การทำขนมบัวลอย โดยมีต้นแบบที่ผู้เขียนได้มีโอกาสได้อ่านบทความเกี่ยวกับ เบื้องหลังการออกแบบกิจกรรม STEM คณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา ออกแบบกิจกรรม “ขนมเจลลี่ที่ถูกใจ” โดยเลือกใช้กระบวนการทางเทคโนโลยีเป็นตัวนำในการทำกิจกรรม
สำหรับกิจกรรม “สะเต็มกับบัวลอย” นี้ ผู้เขียนเองก็คิดว่าน่าจะเป็นกิจกรรมที่มีความคล้ายกันกับเจลลี่ แต่ก็มีความแตกต่างกันตามขั้นตอนการทำอย่างแน่นอน เพราะมีความยากและรายละเอียดการทำที่มากกว่า โดยไม่ได้กำหนดว่าผู้ทำกิจกรรมต้องเป็นระดับใด การบูรณาการตามขั้นตอนของกิจกรรมนี้ ต่างก็เป็นทักษะปฏิบัติทางวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ อย่างแน่นอน ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงกับวิชาอื่นไรบ้างนั้น ลองพิจารณากันดูจากกิจกรรมได้เลย ก่อนอื่นเรามาดูกันก่อนว่า กระบวนการทางเทคโนโลยีประกอบไปด้วยอะไรบ้าง
แนวทางการจัดกิจกรรมตามกระบวนการทางเทคโนโลยี
ประกอบด้วย
- ขั้นกำหนดปัญหาหรือความต้องการ (Identify)
- ขั้นรวบรวมข้อมูล (Information gathering)
- ขั้นการเลือกวิธีการ (Selection)
- ขั้นออกแบบ และปฏิบัติการ (Design and making)
- ขั้นการทดสอบ (Testing)
- ขั้นการปรับปรุงแก้ไข (Modification and improvement)
- ขั้นการประเมินผล (Assessment)
ทีนี้เราลองนำมาบูรณาการกับกิจกรรมการทำบัวลอยกันดูบ้าง
- ขั้นกำหนดปัญหาหรือความต้องการ ในขั้นนี้เราต้องลองสังเกตลักษณะภายนอกของขนมบัวลอยที่พร้อมรับประทานแล้ว สิ่งต่อไปคือการกำหนดปัญหาโดยให้ผู้ทำกิจกรรมได้ทดลองชิมขนมบัวลอย ซึ่งอาจจะมีรสชาติอย่างไรก็ได้ตามแต่ผู้นำกิจกรรมจะเป็นผู้ออกแบบ แต่สุดท้ายต้องให้ผู้ร่วมทำกิจกรรมสงสัยและกำหนดความต้องการของตนเองในรสชาติของขนมบัวลอยที่จะทำขึ้น
- ขั้นรวบรวมข้อมูล ค้นหาข้อมูลว่าขนมบัวลอยทำอย่างไร โดยตั้งเป็นประเด็นสำคัญว่า กว่าจะได้ขนมบัวลอย 1 ถ้วย ต้องทำอย่างไรบ้าง ต้องมีอุปกรณ์อะไรบ้าง ต้องเตรียมวัตถุดิบอะไรบ้าง โดยทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับวัยของผู้ทำกิจกรรม หากเป็นเด็กก็อาจจะต้องเตรียมให้ หากเป็นระดับโตขึ้นมาหน่อย ก็เป็นการฝึกเพื่อให้ค้นคว้าหาข้อมูลในการทำด้วยตนเอง โดยผู้นำกิจกรรมให้คำแนะนำตามความเหมาะสม
- ขั้นเลือกวิธีการ ในขั้นนี้ เป็นวิธีการที่เป็นขั้นสำคัญ คือตั้งแต่การเตรียมแป้ง การแยกสารละลายน้ำกะทิ การแยกสารละลายสีต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นสีผสมในแป้ง และขั้นตอนเลือกวิธีการที่ส่งผลต่อรสชาติที่อยากจะได้ในขั้นตอนแรก เช่น รสชาติที่ต้องการ หวาน มัน เค็ม ระดับความยืดหยุ่นของแป้งลูกบัวลอย ขนาดและรูปร่างของลูกบัวลอย และสีที่ต้องการ เป็นต้น
- ขั้นออกแบบและปฏิบัติการ ขั้นนี้ ผู้ทำกิจกรรมจะต้องออกแบบแนวทางเพื่อให้สอดคล้องตามขั้นตอนที่เลือกไว้ โดยต้องกำหนดแนวทางปฏิบัติว่า ถ้าจะให้แป้งนุ่มอร่อย ควรนวดแป้งอย่างไร ถ้าต้องการบัวลอยสีนี้ควรใส่สีผสมอย่างไร การปั้นแป้งลูกบัวลอยที่อาจมีการออกแบบเป็นทรงกลม สี่เหลี่ยม รูปทรงตามแต่จินตนาการ ก็จะมีขั้นตอนการชั่ง การตวงส่วนผสมสำคัญ รวมไปถึงการทำน้ำขนมบัวลอยที่ต้องเติมเครื่องปรุงตามรสชาติที่ต้องการ ก็ลงมือปฏิบัติตามข้นตอนที่ออกแบบไว้ จนสุดท้ายที่การนำลูกบัวลอยไปต้มก็ต้องสังเกตและศึกษาการใช้ไฟอ่อนหรือแรงในการต้มลูกบัวลอยที่ปั้นแล้ว
- ขั้นทดสอบ หลังจากที่ได้บัวลอย 1 ถ้วยก็ได้เวลาพิจารณาและชิมบัวลอยถ้วยผลงานตนเอง
- ขั้นปรับปรุงแก้ไข ในขั้นนี้ จากการชิมเราต้องพยามยามร่วมกันพิจารณารสชาติตามที่เราตั้งใจหรือกำหนดไว้ตั้งแต่แรกว่าต้องการแบบไหน หากยังไม่พอใจก็ร่วมกันพิจารณาว่าควรปรับเปลี่ยนอะไรบ้าง เช่นการปรุงรสชาติ อุณหภูมิ ระยะเวลาการต้ม การปั้น แล้วทำการเปลี่ยนแปลงตามที่ลงความเห็นว่าต้องแก้ไข
- ขั้นประเมินผล หลังการปรับปรุง แล้วประเมินว่า ถูกใจ แล้วหรือยัง ถ้ายัง ควรปรับอะไรและอย่างไรอีก จากนั้นควรให้ผู้ทำกิจกรรมเขียนสรุปสูตรส่วนผสมและวิธีการทำขนมบัวลอยที่ตัวเองถูกใจ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับผู้ทำกิจกรรมท่านอื่น
ซึ่งการเรียนรู้ในครั้งนี้ อาจสร้างทั้งองค์ความรู้ ความตื่นเต้น และความสนุกสนานกับผู้ร่วมทำกิจกรรมเป็นอย่างมาก
แหล่งที่มา
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.). นวัตกรรมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2560, จาก
https://drive.google.com/file/d/0B9JhYGeJWvD_YWtmcWxxcE9LbDg/view
สุรัชน์ อินทสังข์. (2557). เบื้องหลังการออกแบบกิจกรรม STEM คณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา. สืบค้นเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2560, จาก
https://library.ipst.ac.th/bitstream/handle/ipst/751/187_19-22_สุรัชน์ อินทสังข์.pdf?sequence=1&isAllowed=y
-
7757 สะเต็มกับบัวลอย /article-stem/item/7757-2017-12-04-07-54-21เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง