วิทยาการคำนวณ: วิชาบังคับสำหรับนักเรียนไทย
ผู้ปกครองที่มีบุตรหลานเรียนชั้นประถมศึกษาหรือมัธยมศึกษา คงทราบบ้างแล้วว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา นักเรียนในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ต้องเรียนวิทยาการคำนวณ ซึ่งมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Computing Science โดยเริ่มเรียนในบางชั้นปีและขยายไปจนครอบคลุมทุกชั้นปีตั้งแต่ ป.1 - ม. 6ในปีการศึกษา 2563 จึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์หนาหูว่า วิทยาการคำนวณจะเหมาะกับเด็กประถมตัวเล็ก ๆ ได้อย่างไร โรงเรียนที่ไม่มีงบประมาณซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์จะสอนได้ไหม ถ้าครูยังเขียนโปรแกรมไม่เป็นแล้วจะสอนเด็กได้หรือไม่ เสียงวิจารณ์เหล่านี้คงเกิดเพราะวิทยาการคำนวณเป็นวิชาใหม่ จึงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อให้โรงเรียน ครู ผู้ปกครอง และผู้เกี่ยวข้องอื่น ๆ ทำความเข้าใจถึงความต่างของวิทยาการคำนวณกับวิชาคอมพิวเตอร์แบบเดิม
เปลี่ยนมากกว่าชื่อวิชา เนื้อหาก็เปลี่ยน เพื่อเรียนให้ทันโลก
ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 วิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเน้นการนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน และมีความรู้พื้นฐานด้านการเขียนโปรแกรมสำหรับการศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น โดยจัดการเรียนการสอนให้กับนักเรียนระดับ ม.1 ขึ้นไปแต่ในปัจจุบันซึ่งเป็นยุคเศรษฐกิจดิจิทัล สังคมโลกเปลี่ยนไปจากเดิมมาก มีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต บริการ มีการนำเสนข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อพัฒนาประเทศให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จึงเสนอหลักสูตรวิทยาการคำนวณต่อกระทรวงศึกษาธิการ จนได้รับการประกาศใช้ในหลักสูตรอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2560 โดยมีจุดประสงค์ให้เด็กมีความรู้ และทักษะเพื่อแก้ปัญหาในชีวิตจริงหรือพัฒนานวัตกรรม และใช้ทรัพยากรด้านไอชีที ในการสร้างองค์ความรู้หรือสร้างมูลค่าได้อย่างสร้างสรรค์
ภาพที่ 1 ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ โรงเรียนวัตมงคลรัตน์
ที่มา https://data.bopp-obec.infa/ernis/news/news_view_school2.php?ID_New-55573&8chool_D=1013270119
ภาพที่ 2 ทดสอบการเขียนโปรแกรมระดับชั้นประถมศึกษาปีที 4-6 ห้องคอมพิวเตอร์พระราชทาน 2 โรงเรียนศรีสังวาล
ที่มา http://www.swn.ac.th/gallery-detail_498062
ปรับโฉมเนื้อหาใหม่
การจัดการเรียนรู้วิทยาการคำนวณ มีองค์ประกอบหลัก 3 ส่วน คือ 1. วิทยาการคอมพิวเตอร์ 2. เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสาร และ 3. การรู้ดิจิทัล ดังภาพ
คำว่า วิทยาการคำนวณ และ วิทยาการคอมพิวเตอร์ ฟังดูคล้ายกัน และอาจทำให้เกิดความสับสนได้ แต่ทั้ง 2 เรื่องมีขอบเขตต่างกัน วิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นเนื้อหาส่วนที่เกี่ยวข้องกับการคิดแก้ปัญหา และคิดสร้างสรรค์แบบนักคอมพิวเตอร์ โดยใช้ทักษะการคิดเชิงคำนวณประกอบกับการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นองค์ประกอบด้านหนึ่งของวิทยาการคำนวณ
ส่วนเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการรู้ดิจิทัลได้ปรับให้ทันสมัย ครอบคลุมการใช้ประโยชน์จากข้อมูลการรักษาข้อมูลส่วนตัว และการรู้เท่าทันสื่อหรือข่าวลวง สร้างภูมิคุ้มกันการใช้ชีวิตในโลกยุคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต้องเผชิญการแข่งขันสูง
ไม่ต้องมีห้องคอมพิวเตอร์ก็เรียนวิทยาการคำนวณได้
บางคนยังคิดติดกรอบว่า ถ้าเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ นักเรียนคงต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทุกคาบ แต่เป้าหมายแรกของวิทยาการคำนวณคือ ให้เด็กแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ ดังนั้นหนังสือเรียนและกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา จึงเน้นไปที่กิจกรรมแบบUnplugged ที่ให้เด็กคิดแก้ปัญหาโดยไม่ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ เช่นให้นักเรียนวางแผนเดินทางจากโรงเรียนไปบ้านเพื่อน
อีกประเด็นที่กังวลกันมากคือ การเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งที่จริงแล้วความหมายของการเขียนโปรแกรมตามหลักสูตรใหม่นั้น ตีความกว้างกว่าที่เข้าใจกันทั่วไป การเขียนโปรแกรมที่ภาษาอังกฤษเรียก Coding หรือ Programming นั้น ไม่จำเป็นต้องใช้ภาษาคอมพิวเตอร์เสมอไป
สำหรับเด็กเล็ก ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์แต่ใช้บัตรคำสั่ง เช่น ให้เด็กใช้บัตรคำสั่งซึ่งมีภาพลูกศรและใช้แผนที่ เพื่อวางแผนเดินทางไปบ้านเพื่อน หรือใช้สื่อการเรียนรู้บนเว็บไซด์ Code.org หรือ CodingThailand.org ที่มีโจทย์สถานการณ์ต่าง ๆ ซึ่งใช้ฝึกทักษะการเขียนโปรแกรมของนักเรียนทุกระดับได้
ภาพที่ 3 การเรียนวิทยาการคำนวณโยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์
"วิทยาการคำนวณ" ไม่ยากอย่างที่เข้าใจ เรียนรู้เพื่อปั่นนักคิด นักแก้ปัญหา พัฒนาสมวัย
หลักสูตรวิทยาการคำนวณ ออกแบบมาให้เหมาะกับวัยและพัฒนาการของเด็ก มีเป้าหมายในระยะยาวส่วนหนึ่งเพื่อเปลี่ยนบทบาทคนไทยจากผู้ใช้เทคโนโลยีให้เป็นผู้สร้างเทคโนโลยีได้ในอนาคต
ข้อมูลจากการวิจัยของ สสวท. ที่สัมภาษณ์ครูและนักเรียนในโรงเรียนทั้งในเมืองและในพื้นที่ห่างไกล พบว่าครูและนักเรียนยืนยันว่าวิทยาการคำนวณไม่ได้ยากอย่างที่คิด เด็ก ๆ สนุกกับการแก้ปัญหา แม้บางคนจะผิดคาดที่ไม่ได้จับเครื่องคอมพิวเตอร์ในคาบแรก ๆ แต่หลายคนก็เริ่มเข้าใจแล้วว่าเป็นวิชาที่เน้นการคิดและการแก้ปัญหา ไม่ได้เน้นว่าจะต้องใช้คอมพิวเตอร์ทุกคาบชั่วโมง
อย่างไรก็ตาม ถ้าหลักสูตรวิทยาการคำนวณบรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ นอกจากเด็กไทยจะรู้เท่าทันเทคโนโลยีแล้ว เด็กในพื้นที่ห่างไกลก็จะมีโอกาสสร้างเทคโนโลยีระดับโลกได้เหมือนมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก แจ็ก หม่า หรือ บิล เกตส์ ก็เป็นได้
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://magazine.ipst.ac.th/
-
12351 วิทยาการคำนวณ: วิชาบังคับสำหรับนักเรียนไทย /article-technology/item/12351-2021-07-01-05-42-38เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง