Coding กับการศึกษาในศตวรรษที่ 21
ปัจจุบันเรากำลังจะก้าวเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ที่มีการเปลี่ยนแปลงมากกว่า และรุนแรงกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา เทคโนโลยีเกิดใหม่จะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ เทคโนโลยีการแพทย์ หุ่นยนต์ ควอนต้มคอมพิวติ้ง บิ๊กดาต้า บล็อกเชน เทคโนโลยีเกิดใหม่เหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางอุตสาหกรรม (Disrupting Industries) ซึ่งจะทำให้เปลี่ยนรูปแบบการทำงาน และวิถีชีวิตของมนุษย์ในศตวรรษนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากองค์กรภาคธุรกิจต้องแข่งขันกันด้านบริการและผลิตภัณฑ์แล้ว ยังต้องเปลี่ยนรูปแบบของการผลิตให้เป็นระบบอัตโนมัติมากยิ่งขึ้น การทำงานในอนาคตจึงต้องการทักษะของแรงงานที่สูงขึ้น โดยต้องมีความสามารถในการทำงานที่ซับซ้อน สามารถเลือกใช้ความรู้จากข้อมูลที่มีอยู่ และประยุกต์ใช้ความรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งด้านวิชาชีพ และการใช้ชีวิต
การมีสมรรถนะทางดิจิทัล (Digital Competence) จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ประชาชนไทยมีทักษะ และมีความเข้าใจเพื่อเข้าสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งนี้ โดยสมรรถนะทางดิจิทัลนี้จะรวมไปถึงการจัดการข้อมูล การทำงานร่วมกัน การสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล การสร้างสรรค์ การแก้ปัญหา การมีจริยธรรมและความรับผิดชอบ ตลอดจนทักษะด้านโค้ดดิ้ง (Coding Litoracy)ซึ่งเป็นทักษะที่ทำให้เรามีความเข้าใจเรื่องโค้ดและการเขียนโค้ดซึ่งเป็นภาษาที่ใช้สื่อสารระหว่างมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ โค้ดดิ้งยังช่วยให้มนุษย์สื่อสารวิธีการแก้ปัญหาออกมาอย่างมีตรรกะมีโครงสร้างและเป็นระบบ ซึ่งเมื่อหันมามองทางด้านการศึกษาเด็กในทุกวันนี้เติบโตมาในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว จึงเป็นความท้าทายสำหรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่จะช่วยชี้แนะ หรือมีส่วนร่วมในการวางแผน อนาคตของเด็กให้สามารถปรับตัวได้ในสภาพแวดล้อมที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
ภาพที่ 1 การเรียน Coding ผ่านกิจกรรมที่ไม่ต้องใช้เครื่องคอมพิวเตอร์
ก่อนหน้านี้คนอาจมองว่าการเรียนรู้ด้านโค้ดดิ้งเหมาะสำหรับคนที่ชื่นชอบเทคโนโลยี และใช้เวลาอยู่กับคอมพิวเตอร์แต่ในโลกปัจจุบันเมื่อเด็ก Gen Y (ยุคมิลลิเนียม) และ Gen Z (ยุคดิจิทัลเนที่ฟ ได้ใช้เวลาและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่อุปกรณ์ต่าง ๆ ถูกควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์ ควรต้องได้รับความรู้ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับโค้ดดิ้ง เพื่อให้รู้ว่าโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทำงานอย่างไร และเขาสามารถพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้งได้ เพื่อพัฒนาซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันของตนเอง การเป็นเพียงผู้ใช้ซอฟต์แวร์อาจไม่เพียงพอสำหรับนักเรียนในยุคนี้ การให้โอกาสนักเรียนได้เรียนรู้ด้านการเขียนโปรแกรมไม่เพียงแต่เพิ่มทางเลือกให้พวกเขาในการประกอบอาชีพต่อไปในอนาคต แต่ยังสอนพวกเขาให้รู้จักวิธีคิดเหมือนที่กับที่สตีฟ จ็อบได้กล่าวไว้
ภาพที่ 2 สตีฟ จ็อบ
ที่มา https://time.com/3604784/steve-jobs-movie-universal/
ช่วงเวลา 4-5 ปีมานี้ หลาย ๆ ประเทศทั่วโลกได้ตระหนักถึงความสำคัญในการสอนโค้ดดิ้ง และกำหนดให้การสอนโค้ดดิ้งเป็นวิชาบังคับในระดับประถมศึกษา โดยประเทศอังกฤษเริ่มในปี พ.ศ. 2557 ส่วนฟันแลนด์และเกาหลีใต้เริ่มในปีเดียวกันกับประเทศไทยคือในปี พ.ศ. 2561 สำหรับประเทศไทยการเรียนโค้ดดิ้งจะอยู่ในวิชาเทคโนโลยี (วิทยาการคำนวณ) โดยประกอบด้วยองค์ความรู้ 3 ด้าน คือวิทยาการคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และทักษะการรู้ดิจิทัล โดยองค์ความรู้ด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการแก้ปัญหาการเขียนโปรแกรมหรือโค้ดดิ้ง และทักษะการคิดเชิงคำนวณ หรือ Computational Thinking ซึ่งเป็นทักษะการแก้ปัญหาที่สอดคล้องกับแนวทางการแก้ปัญหาด้วยการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยทักษะนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันได้ ไม่เฉพาะแต่ในการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เท่านั้น ตัวอย่างเช่น การจับประเด็นหรือสาระสำคัญของปัญหา การแบ่งงานออกเป็นงานย่อย ๆ การเรียงลำดับขั้นตอนการทำงาน เหล่านี้ล้วนเป็นกระบวนการเดียวกับการที่โปรแกรมเมอร์วิเคราะห์ปัญหา แยกส่วนประกอบย่อยของปัญหาและเขียนลำดับของโปรแกรมออกมา
ดังนั้น เพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี และพฤติกรรมการใช้งานของเยาวซนยุคนี้จึงต้องมีการพัฒนาหลักสูตรและการเรียนการสอนให้ทันต่อยุคสมัย สถานศึกษาต้องจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับประสบการณ์ในการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละกลุ่มให้นักเรียนสามารถข้าถึงเนื้อหาหรือบทเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสอนโค้ดดิ้งในโรงเรียนจะเป็นการเปิดโลกใบใหม่ผ่านเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่มีอยู่ การสอนโค้ดดิ้งนอกจากจะเป็นการจุดประกายให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับสาขาอาชีพในอนาคต ยังเป็นการสร้างทักษะในการวางแผน การแก้ปัญหาอย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ ส่งเสริมการใช้ตรรกะในการแก้ปัญหา สร้างคนให้เกิดกระบวนการคิดและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับการเตรียมพลเมืองในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังมาถึง
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://magazine.ipst.ac.th/
-
12414 Coding กับการศึกษาในศตวรรษที่ 21 /article-technology/item/12414-coding-21เพิ่มในรายการโปรด