ในปัจจุบัน เราสามารถติดต่อผู้คนและเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้เร็วขึ้นผ่านแพลตฟอร์มสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Facebook ใน Global Digital Report 2021 ของ We Are Social และ Hootsuite ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบริหารจัดการสื่อสังคมออนไลน์ ได้รายงานว่าคนไทยใช้ Facebook เป็นอันดับ 8 ของโลก มีบัญชีผู้ใช้งานถึง 54 ล้านบัญชี(Simon Kemp, 2021) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
หากพิจารณาถึงการใช้งานบน Facebook จะพบว่า ได้มีการใช้งานตามวัตถุประสงค์หลักไว้ 3 ส่วน ด้วยกัน ดังนี้ (Facebook, n.d.)
1. Facebook ส่วนตัว (Facebook Profile)
Facebook ส่วนตัว เป็นส่วนเริ่มต้นของการใช้งาน Facebook มีไว้สำหรับเล่าเรื่องส่วนตัว และติดต่อสื่อสารกับเพื่อน เราสามารถตั้งค่าความเป็นสาธารณะ ความเป็นส่วนตัว หรือให้เฉพาะกลุ่มมองเห็นโพสต์ของเราได้ Facebook ส่วนตัวจะมีการจำกัดให้เพิ่มเพื่อนได้ถึง 5,000 คนเท่านั้น หากจำนวนเพื่อนเต็มแล้วจะไม่สามารถเพิ่มเพื่อนได้อีก นอกจากนี้ เราสามารถเปิดให้บุคคลอื่นๆ กดติดตาม (Follow) เราได้ ซึ่งจะเห็นเฉพาะโพสต์ของเราที่มีการตั้งค่าความเป็นสาธารณะเท่านั้น
ภาพ 1: Facebook ส่วนตัว
ภาพ 2: Facebook group ของกลุ่ม IPST SMT 64 ระดับประถมศึกษาตอนปลาย (วิทยาศาสตร์) เรื่องการเปลี่ยนแปลงของน้ำ
ภาพ 3: Facebook Page IPST SMT Teacher ปฐมวัย
2. Facebook Group
Facebook Group เป็นกลุ่มที่สร้างขึ้นเพื่อใช้พูดคุยเฉพาะสมาชิกภายในกลุ่ม ทุกคนที่เป็นสมาชิกสามารถโพสต์และอ่านข้อความภายในกลุ่มได้ ดังภาพ 2 เราสามารถตั้งค่าการมองเห็นข้อความภายในกลุ่มได้ 2 แบบ คือ การตั้งเป็นกลุ่มส่วนตัว จะทำให้ผู้ใช้Facebook คนอื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกไม่สามารถมองเห็นข้อความภายในกลุ่มได้ และการตั้งเป็นกลุ่มสาธารณะ จะทำให้ผู้ใช้ Facebook คนอื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกมองเห็นข้อความภายในกลุ่มได้ แต่จะไม่สามารถโพสต์ภายในกลุ่มได้
3. Facebook Page
Facebook Page เป็นพื้นที่มีไว้สำหรับการสร้างแบรนด์และการประชาสัมพันธ์ของหน่วยงาน บุคคลสาธารณะ รวมถึงร้านค้าขายของออนไลน์ต่างๆ ดังภาพ 3 ผู้ใช้ Facebook สามารถมองเห็นข้อความและแสดงความคิดเห็นภายใน Page ได้เลย เนื่องจากข้อความที่ถูกโพสต์ใน Page จะถูกตั้งค่าให้เป็นโพสต์สาธารณะเสมอ และหากผู้ใช้Facebook กดถูกใจ (Like) หรือกดติดตาม (Follow) ก็จะสามารถติดตามข่าวสารหรือโพสต์ใน Page ได้เร็วขึ้น Mark Zuckerberg ได้กำหนดจุดประสงค์หลักของการสร้าง Facebook คือการใช้ Facebook ส่วนตัว เพื่อติดต่อเพื่อนในมหาวิทยาลัย และขยายจนกลายเป็นช่องทางที่ใช้สำหรับติดต่อเพื่อนในโรงเรียนเพื่อนร่วมงาน ครอบครัว และคนอื่นๆ ที่รู้จัก (History.com Editors, 2021) Facebook กลายเป็นช่องทางหนึ่งที่ผู้ใช้งานสามารถติดตามข่าว โพสต์ข่าวและแชร์ข่าวได้เร็วกว่าช่องทางอื่น เช่น หนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ Facebook กลายเป็นช่องทางบันเทิงที่ศิลปิน ดารา หรือบุคคลดัง สามารถสร้างFacebook Page เพื่อโปรโมตผลงานรวมถึงให้แฟนคลับได้ติดตามข้อมูลของตนเองอย่างใกล้ชิด Facebook เป็นช่องทางการทำธุรกิจออนไลน์ที่ผู้ใช้งานสามารถซื้อหรือขายของออนไลน์ได้เร็วและง่ายขึ้น นอกจากนี้ Facebook ยังเป็นช่องทางในการส่งเสริมด้านการศึกษาได้ด้วย เช่น การตั้ง Facebook Group ระหว่างครูและนักเรียนเพื่อใช้สื่อสารภายในชั้นเรียน การใช้ Facebook Page เพื่อเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้ให้แก่นักเรียน (นรรัชต์ ฝันเชียร, 2563) และครู รวมถึงการนำ Facebook มาประยุกต์ใช้ในการอบรมครูทั้งในลักษณะการอบรมทั่วไปหรือแบบสาธารณะผ่าน Facebook Page และการอบรมกลุ่มปิดผ่าน Facebook Group
ฟีเจอร์ที่ใช้งานใน Facebook Group และ Facebook Page กับการอบรมครู
Facebook มีฟีเจอร์ที่หลากหลายและใช้งานได้ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ผู้ใช้ Facebook จึงต้องเลือกใช้ฟีเจอร์ให้เหมาะสมกับแต่ละส่วนของการใช้งานด้วย ในบทความนี้ผู้เขียนขอยกตัวอย่างฟีเจอร์ที่สามารถนำไปใช้ในการอบรมครูได้ ดังนี้
ㆍ การโพสต์ข้อความ รูปภาพ หรือวีดิทัศน์ เป็นฟีเจอร์พื้นฐานที่ใช้ สำหรับการสื่อสารในการอบรมครู เราสามารถใช้ฟีเจอร์นี้ในการไปร่วมกันประชาสัมพันธ์ข้อมูล รวมถึงการโพสต์คำถามหรือข้อความเพื่อให้ผู้ใช้งานเข้ามาตอบหรือแสดงความคิดเห็นได้ทั้งในแบบข้อความ รูปภาพและวีดิทัศน์ในคอมเมนต์นอกจากนี้ เราสามารถกำหนดเวลาการโพสต์ทั้งใน Facebook Group และ Facebook Page ได้
ㆍ แฮชแท็ก (Hashtag) เป็นการทำให้คำหรือข้อความกลายเป็นลิงก์ด้วยการใส่ # (เครื่องหมายสี่เหลี่ยม) ไว้นำหน้าคำหรือข้อความดังภาพ 4 เมื่อผู้ใช้งานคลิกที่แฮชแท็กหรือพิมพ์แฮชแท็กในแถบค้นหา ผู้ใช้งานจะพบโพสต์ต่างๆ ที่มีการใส่แฮชแท็กนั้น อย่างไรก็ตามแฮชแท็กนั้นต้องเป็นคำหรือข้อความที่ไม่มีช่องว่าง ไม่ใช้เครื่องหมายวรรคตอนและอักขระพิเศษ (Facebook,n.d.) และควรเป็นคำหรือข้อความที่ทำให้ผู้ใช้งานสามารถพบโพสต์ต่าง ๆ ที่ต้องการได้โดยไม่ปะปนกับโพสต์อื่นๆ
ภาพ 4: การสร้างแฮชแท็ก #ถามมาตอบไป และ #การอบรมครูด้วยรูปแบบออนไลน์64
ㆍ แบบสำรวจ (Poll) ปัจจุบัน ฟีเจอร์นี้ปรากฏให้ใช้งานได้ใน Facebook Group เท่านั้น โดยเราต้องสร้างแบบสำรวจในที่เดียวกันกับการสร้างโพสต์ข้อความ กำหนดคำถามและคำตอบเพื่อให้ผู้ใช้งานคนอื่นๆ เลือกตอบเพียงหนึ่งตัวเลือก หรือหลายตัวเลือก หรือกำหนดให้ผู้ใช้งานเพิ่มตัวเลือกเองได้ด้วย ดังภาพ 5
ㆍการไลฟ์ (Live) เป็นฟีเจอร์ที่ใช้สำหรับการถ่ายทอดสดผ่าน Facebook การไลฟ์ใน Facebook Group นั้น ผู้ใช้งานทั่วไปสามารถทำได้เลยแต่การไลฟ์ใน Facebook Page มีเพียงผู้ดูแลเท่านั้นที่สามารถทำได้ หากผู้เข้าร่วมอบรมมีจำนวนมากและเป็นผู้ใช้งาน Facebook อยู่แล้ว การไลฟ์ผ่าน Facebook Group หรือ Facebook Page จะช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมเข้าถึงไลฟ์ได้อย่างรวดเร็วจากการแจ้งเตือนอัตโนมัติของ Facebook หรือการแชร์ไลฟ์โดยผู้เข้าร่วมอบรม คนอื่น ๆ ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถแสดงความคิดเห็นในระหว่างการไลฟ์ได้ โดยการพิมพ์ข้อความลงในช่องคอมเมนต์ดังภาพ 6 และหากไลฟ์จบแล้ว ผู้เข้าร่วมอบรมก็ยังสามารถดูไลฟ์ย้อนหลังได้ทันที
ภาพ 5: การสร้างแบบสำรวจ (Poll) ในกลุ่ม Facebook Group
ภาพ 6: การ Live ผ่าน Facebook Page ของหลักสูตรระดับมัธยมศึกษาตอนต้น (วิทยาศาสตร์)
เรื่อง ยืดเส้นยืดสาย ร่างกายแข็งแรง ใน Facebook Page IPST SMT Teacher มัธยมต้น
ㆍ กิจกรรม (Event) เป็นฟีเจอร์สำหรับการสร้างกิจกรรม หรือการนัดหมายที่สำคัญเพื่อแจ้งให้ผู้ใช้งาน Facebook ทราบถึงข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าร่วมกิจกรรมตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนดไว้ในรายละเอียดของกิจกรรม การสร้างกิจกรรมสามารถทำได้ทั้งในFacebook Group และ Facebook Page ซึ่งผู้สร้างกิจกรรมสามารถใช้นับจำนวนผู้ที่สนใจเข้าร่วม สามารถโพสต์ข้อความหรือรูปภาพในหน้ากิจกรรม รวมถึงเชื่อมต่อไปยังการไลฟ์ได้เลย สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรมก็สามารถเชิญให้ผู้ใช้งาน Facebook คนอื่น ๆ เข้าร่วมกิจกรรมได้เมื่อมีการสร้างกิจกรรมแล้ว กิจกรรมดังกล่าวก็จะปรากฏอยู่ในหน้ากิจกรรมรวมของ Facebook ด้วย ดังภาพ 7
ภาพ 7: หน้ากิจกรรม (Event) ของ Facebook ซึ่งรวบรวมกิจกรรมต่างๆ ที่ถูกสร้างขึ้น
ㆍ การส่งข้อความผ่านทางกล่องข้อความ (Inbox) เป็นการติดต่อสื่อสารในรูปแบบส่วนตัวระหว่างผู้ใช้งานด้วยกัน หรือระหว่างผู้ใช้งานกับผู้ดูแล Facebook Page ในปัจจุบันมีการพัฒนาการสื่อสารในรูปแบบนี้จนกลายเป็นแอปพลิเคชันที่สามารถใช้งานผ่านสมาร์ตโฟนได้ง่าย (Facebook Messenger) ผู้ใช้งานสามารถส่งข้อความ รูปภาพ วีดิทัศน์ และไฟล์ รวมถึงการโทรหรือวิดีโอคอลได้อีกด้วย สำหรับใน Facebook Page นอกจากการส่งข้อความ รูปภาพ วีดิทัศน์และไฟล์แล้ว ผู้ดูแลยังสามารถตั้งข้อความตอบกลับอัตโนมัติ ข้อความระบุว่าไม่อยู่ รวมถึงข้อความที่เป็นคำตอบของคำถามที่พบบ่อย
การใช้ฟีเจอร์ที่กล่าวมาข้างต้นในการนำเสนอข้อมูลอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ Facebook Group หรือ Facebook Page มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้งานหรือผู้ติดตามยังคงเข้าถึงข้อมูลที่นำเสนอได้ ในการทำให้ Facebook Group หรือ Facebook Page มีการเคลื่อนไหวและอัปเดตตลอดเวลา จึงควรมีทีมผู้ดูแลมาช่วยดำเนินการจัดการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน Facebook Page เช่น การโพสต์ข้อมูล การอ่านและตอบคำถามในคอมเมนต์หรือกล่องข้อความการลงโฆษณา และการวิเคราะห์ข้อมูลของผู้ติดตาม นอกจากนี้ ทีมผู้ดูแลยังต้องคำนึงถึงการใช้ภาษาและโทนในการสื่อสารให้เหมาะสม ความใส่ใจ
ในการตอบคำถาม การตัดสินใจที่เหมาะสมและฉับไว การคาดการณ์และวิเคราะห์สถานการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น รวมถึงการแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ด้วย
จากประสบการณ์ของผู้เขียน ในฐานะทีมงานที่ร่วมรับผิดชอบดูแลงานด้านประชาสัมพันธ์การอบรมครูพี่เลี้ยง ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วยระบบทางไกลปี พ.ศ. 2563 และการอบรมครูด้วยรูปแบบออนไลน์ปี พ.ศ. 2563 และ พ.ศ. 2564 ได้เลือกใช้ Facebook Page เป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์หลักและพบว่าเป็นช่องทางหนึ่งที่สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว ทั้งนี้ยังช่วยให้ผู้เข้าร่วมอบรมเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับการอบรมครูได้อย่างสะดวกมากขึ้น ผู้เข้าร่วมอบรมสามารถสอบถามข้อมูล แจ้งปัญหา และได้รับการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วภายใน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ วิทยากรที่ให้การอบรมก็สามารถเลือกใช้ Facebook Page และ Facebook Group เป็นช่องทางให้ผู้เข้าร่วมอบรมแสดงความคิดเห็น ตอบคำถาม ส่งภาพหรือวีดิทัศน์จากการทำกิจกรรมในโพสต์ที่สร้างขึ้นระหว่างการอบรม รวมถึงมีการไลฟ์ผ่าน Facebook Page เพื่อเป็นช่องทางในการสื่อสารและพูดคุยเกี่ยวกับเนื้อหาระหว่างการอบรมได้แบบเรียลไทม์นอกเหนือจากการอบรมภายในระบบอบรมครู(https://teacherpd.ipst.ac.th) ทำให้ผู้เข้าอบรมมีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เข้าอบรมคนอื่น ๆ ช่วยสร้างความเข้าใจในเนื้อหาของการอบรมได้ดีมากขึ้น และได้รับการตอบคำถามหรือข้อสงสัยที่เกิดขึ้นระหว่างการอบรมได้ทันที
จากที่ผู้เขียนกล่าวมาข้างต้น Facebook จึงเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการอบรมครู โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านของการประชาสัมพันธ์และการเพิ่มช่องทางการจัดการอบรม อย่างไรก็ตาม มีข้อเสนอแนะสำหรับผู้ที่สนใจในการนำ Facebook ไปประยุกต์ใช้ในการอบรมครู คือ ควรมีการวางแผนการดำเนินการล่วงหน้า โดยต้องมีการจัดทีมงานเพื่อเป็นผู้ดูแลช่องทางดังกล่าว เพื่อการประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการอบรมครู และเพื่ออำนวยความสะดวกในการตอบคำถามและแก้ไขปัญหาต่างๆ ให้กับผู้เข้าร่วมอบรมทั้งก่อนการอบรม ระหว่างการอบรม และหลังการอบรมอีกด้วย
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 50 ฉบับที่ 234 มกราคม - กุมภาพันธ์ 2565
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/234/42/
บรรณานุกรม
Facebook. n.d. What's the difference between a profile, page and group on Facebook? Retrieved October 20, 2021, from https://www.facebook.com/help/337881706729661.
Facebook. n.d. How do I use hashtags on Facebook? Retrieved November 19, 2021, from https://www.facebook.com/help/587836257914341.History.com
Editors. 2021. Facebook launches. Retrieved November 17,2021, from https://www.history.com/this-day-in-history/facebook-launches-mark-zuckerberg.
Simon Kemp. 2021. Digital 2021 July global statshot report. Retrieved December 6, 2021, from https://datareportal.com/reports/digital-2021-July-global-statshot.
Digital การตลาดออนไลน์. (2020), ความแตกต่างระหว่าง Facebook ส่วนตัว, Facebook Group และ Facebook Fanpage. สืบค้นเมื่อ 19 ตุลาคม 2564, จาก https://digitorystyle.com/about-facebook-fanpage-group-profile.
นรรัชต์ ฝันเชียร. (2563), การใช้ Facebook เพื่อส่งเสริมการศึกษา. สืบค้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2564. จาก https://www.trueplookpanya.com/education/content/85852.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด
The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.
Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. Terms and Conditions. Privacy. , All Rights Reserved.
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)