Blockchain (บล็อกเชน) ร้อยต่อข้อมูลเข้าไว้ด้วยกัน
ทุกต้นปีจะมีการพูดถึงเทรนด์เทคโนโลยีสำคัญใน ค.ศ.นั้น ๆ Blockchain (บล็อกเชน) ถูกจัดไปอยู่ในรายชื่อสำคัญของเทรนด์ในปี ค.ศ.2018 ของหลาย ๆ สื่อทางด้านเทคโนโลยี เนื่องด้วยเพราะเป็นเทคโนโลยีที่กำลังมาแรงจากกลุ่มเทคโนโลยีทางด้านการเงิน หรือมีชื่อเรียกในวงการ Fintech หรือ Financial Technology
ปี พ.ศ. 2551 เริ่มมีการพูดถึง Blockchain (บล็อกเชน) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีลักษณะเป็นฐานข้อมูลในการจัดการชุดข้อมูลที่มีการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรืออธิบายง่าย ๆ ว่า บล็อกเชนเปรียบเสมือนเครือข่ายการเก็บข้อมูลแบบหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะเหมือนร้อยต่อข้อมูลเข้าไว้ด้วยกัน และข้อมูลนั้นคือ บันทึกธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ต โดยเริ่มนำมาใช้งานช่วงปี พ.ศ. 2552 และนำมาใช้กันเป็นที่รู้จักกันดี ในระบบสกุลเงินดิจิทัลที่เรียกว่า บิทคอยน์ (Bit Coin) ซึ่งกล่าวโดยรวมได้ว่า “บล็อกเชน” (Blockchain) เป็นเทคโนโลยีเบื้องหลัง “บิทคอยน์” (Bitcoin) นั่นเอง
“บล็อกเชน” (Blockchain) สร้างขึ้นเพื่อบันทึกธุรกรรมทางอินเทอร์เน็ตโดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางด้านการเงิน ซื้อขายหรือแลกเปลี่ยนสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งมีความปลอดภัยและเข้าถึงได้ง่าย ด้วยคุณสมบัติซึ่งมีลักษณะการแชร์บันทึกธุรกรรมไปทั่วทั้งระบบเครือข่าย ทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลเดียวกัน ซึ่งประกอบไปด้วยบล็อกข้อมูลจำนวนมากที่บันทึกธุรกรรมเอาไว้ ข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บอยู่ในแต่ละบล็อก (Block) ที่เชื่อมโยงกันบนเครือข่ายเหมือนกับห่วงโซ่ (Chain) บล็อกจะถูกเชื่อมโยงกันทางอิเล็กทรอนิกส์ และถูกป้องกันโดยรหัสขั้นสูงเพื่อให้มีความถาวร ผู้ใช้งานในเครือข่ายไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูลใด ๆ ในฐานข้อมูลนี้ได้ เพราะผู้ใช้งานอื่น ๆ ต่างก็มีสำเนาหรือประวัติการทำธุรกรรมที่สามารถตรวจสอบหรือเข้าถึงได้ ซึ่งทำให้ข้อมูลเหล่านั้นมีความปลอดภัยและเชื่อถือได้
เชน (Chain) ที่ใหญ่ที่สุดในปัจจุบันคือ บิทคอยน์” (Bitcoin) อย่างที่กล่าวไปตอนต้น ยกตัวอย่างให้เข้าใจง่าย ๆ ถึงบิทคอยน์ที่ใช้บล็อคเชนในการจัดการ เช่น เมื่อผู้ใช้งาน A โอนบิทคอยน์ จำนวน 1 บิทคอยน์ ผู้โอนต้องระบุว่าโอนจากที่ไหนไปไหน จำนวนเท่าไร ซึ่งข้อมูลนี้จะถูกบันทึกเป็นธุรกรรมในแต่ละบล็อกในเครือข่ายเดียวกัน ซึ่งเราเรียกว่า บล็อกเชน
ดังนั้นบล็อคเชนนี้จะทำหน้าที่เป็นเหมือนบัญชีกลางที่รวมทุกการเคลื่อนไหวของบิทคอยน์ และทุกคนคือผู้ถือบัญชีนี้ไว้ ทุก ๆ ธุรกรรมที่มีการแลกเปลี่ยนซื้อขายบน Blockchain จะถูกบันทึกและกระจายไปทุกบล็อก เพื่อบันทึกข้อมูล นั้นเป็นเป็นสิ่งที่ชาญฉลาดและโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ในวงกว้าง
ข้อดีของระบบนี้คือช่วยตัดวงจรทางการเงินในรูปแบบหนึ่ง อย่างเช่นก่อนหน้านี้ ธุรกรรมทางเงินต่าง ๆ มากมายเกิดขึ้นจากผู้ให้บริการทางการเงินอย่าง ธนาคาร ตัวแทนขาย ที่ต้องแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกันและกันเพื่อตรวจสอบความถูกต้องของธุรกรรมและของผู้ทำธุรกรรมทั้งหมด ซึ่งต้องเสียเวลาในการทำกิจกรรมเหล่านี้ นั่นหมายความว่าต้องมีการคิดค่าบริการจากธุรกรรมทางการเงินเหล่านี้ แต่ถ้าใช้ระบบนี้ ธุรกรรมทั้งหมดจะทำได้ในเวลาไม่กี่นาที และประหยัดเงินได้อย่างมหาศาล โดยประหยัดได้ทั้งผู้ทำธุรกรรมและธนาคาร
แหล่งที่มา
Earth (2560, 4 มิถุนายน). เทคโนโลยี Blockchain คืออะไร. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2560, จาก
https://siamblockchain.com/2017/06/04/blockchain-คืออะไร/
สฤณี อาชวานันทกุล (2560, 18 กรกฎาคม). รู้จักบล็อกเชน (Blockchain) เทคโนโลยีปฏิวัติสังคม. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2560, จาก
https://thaipublica.org/2016/07/blockchain-revolution/
สฤณี อาชวานันทกุล (2560, 18 กรกฎาคม). บล็อกเชน คืออะไรนะ!? มาทำความรู้จักพร้อมทั้งประโยชน์ง่ายๆ ภายใน 5 นาทีกัน!. สืบค้นเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2560, จาก
https://brandinside.asia/what-is-blockchain/
-
7818 Blockchain (บล็อกเชน) ร้อยต่อข้อมูลเข้าไว้ด้วยกัน /article-technology/item/7818-2018-01-10-06-35-59เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง