ฟรุกโตส ภัยร้ายทำลายสุขภาพ
อาหารไทยขึ้นชื่อว่ามีรสชาติที่จัดจ้าน ทั้งเปรี้ยว เค็ม เผ็ด หวาน เข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภท ยำ แกง ต้น ลาบ ผัด ทอด ฯลฯ ที่เป็นรสชาติของอาหารที่โดดเด่นมากซึ่งเป็นที่ชื่นชอบก็คือ รสหวาน ที่ได้จากน้ำตาลในรูปแบบต่าง ๆ ทั้ง น้ำตาลทราย น้ำตาลปึกจากต้นตาล หรือต้นมะพร้าว และคนเราก็จะชอบรสหวานมาก ๆ กินอร่อย ชื่นใจ แต่นั่นคือโรคภัยจะถามหาในวันหนึ่งข้างหน้า
พฤติกรรมการกินอาหารของคนไทยเราในยุคปัจจุบัน เรียกได้ว่ายึดติดอยู่กับความหวานหรือน้ำตาล อาหารที่กินอยู่ในชีวิตประจำวันและในเครื่องดื่มทุกชนิด จะมีรสหวานปนอยู่ด้วยเสมอ ทำให้การบริโภคน้ำตาลของของคนไทยอยู่ในระดับสูงมาก คือมากกว่า 20 ช้อนชาต่อวัน ทำให้เราเป็นโรคเบาหวานกันตั้งแต่เด็ก ๆ เรียกว่าโรคเบาหวานเป็นโรคฮิตของคนไทย และสถิติจากสมาคมโรคเบาหวานแห่งประเทศไทย ระบุว่าในคนไทยช่วงอายุ 15 ปีขึ้นไป ทุก ๆ 100 คนจะเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวาน 7 คน
ภาพ ก. นายแพทย์ สมบูรณ์ รุ่งพรชัย ภาพ ข. น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลทรายขาว น้ำตาลทรายขาวชนิดซองละ 1.5 ช้อนชา
ขอบคุณ ภาพประกอบ ก. จาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ ที่ 11 มกราคม 2559
สมาพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation : IDF) ได้ประมาณการว่าปัจจุบันทั่วโลกมีผู้ป่วยเบาหวาน 382 ล้านคน และคาดว่าในปี พ.ศ. 2578 จะมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นถึง 592 ล้านคน หรือใน 10 คนจะพบผู้ป่วยเบาหวาน 1 คน สำหรับประเทศไทยในปี พ.ศ. 2552 มีผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 3.5 ล้านคน และเสียชีวิตจากสาเหตุโรคเบาหวาน เฉลี่ยวันละ 27 คน และคาดว่าในปี พ.ศ. 2560 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นถึง 4.7 ล้านคน เป็นตัวเลขที่น่าตกตลึง เพราะความน่ากลัวของโรคเบาหวาน นำไปสู่โรคร้ายแรง อื่น ๆหรือโรค NCD เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรคแต่เกิดจากวิถีการดำรงชีวิตของเราเอง ตามมาได้อีกหลายโรค การรณรงค์ให้คนเราตระหนักเกี่ยวกับภัยจากโรคเบาหวานจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง
ที่ร้ายแรงมากยิ่งขึ้นน้ำตาลที่เรียกว่า ฟรุกโตส ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นวายร้ายทำลายสุขภาพของคนเรา นายแพทย์ สมบูรณ์ รุ่งพรชัย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ชะลอวัย ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพไวทัลไลฟ์ (Vitallife Wellness Center) ในเครือโรงพยาบาลบำรุงราษฏร์ ได้กล่าวในบทความเรื่อง สารให้ความหวาน มหันตภัยทำลายสุขภาพ ผ่านทางหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 11 มกราคม 2559 หน้า 21 ว่า เราควรเลือกรับประทานน้ำตาลชนิดที่มีประโยชน์ เพราะน้ำตาลแต่ละชนิดนั้นให้ผลไม่เหมือนกัน เช่น
กลูโคส (Glucose) เป็นน้ำตาลที่ร่างกายสร้างขึ้นเองตามธรรมชาติโดยสังเคราะห์ขึ้นที่ตับ จากการเปลี่ยนพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตที่ได้จากอาหารเช่น ข้าว ได้กลูโคส และกลูโคสก็จะถูกดูดซึมเข้าสู่ตับและจะถูกส่งต่อไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย กลูโคสเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นแหล่งพลังงานหล่อเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเซลล์สมอง
ฟรุกโตส (Fructose) เป็นน้ำตาลอีกประเภทหนึ่งที่พบในผักและผลไม้ เป็นน้ำตาลที่เราเติมเข้าไปในเครื่องดื่ม เช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้กล่อง เป็นต้น ซึ่งแตกต่างจากน้ำตาลกลูโคส เนื่องจาก ฟรุกโตส ไม่ได้สร้างพลังงานให้กับกล้ามเนื้อและสมองเลย แต่จะส่งตรงไปที่ตับและสะสมเป็นไขมันพอกอยู่ที่ตับ
นอกจากนี้ นายแพทย์ สมบูรณ์ รุ่งพรชัย ยังได้กล่าวว่า ฟรุกโตส ยังไประงับการหลั่งของสาร อินซูลิน อีกด้วย จึงทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคที่เกิดจากการเผาผลาญอาหารที่ผิดปกติ เช่น โรคความดันสูง น้ำตาลในเลือดสูง โรคอ้วนลงพุง ระดับคอเลสเตอรอลผิดปกติ ซึ่งนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและโรคเบาหวานตามมาอีกด้วย
น้ำเชื่อมที่มีฟรุกโตสสูง (Hight Fructose Corn Syrup – HFCS) ถูกพัฒนาขึ้นมาในช่วง พ.ศ. 2490 มีราคาถูก โดยสกัดมาจากข้าวโพด ซึ่งต่อมาน้ำเชื่อมนี้ก็ได้มีการใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไป ในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มต่าง ๆ และอาหาร เนื่องจากมีราคาถูกกว่าน้ำตาลทรายจากอ้อย น้ำเชื่อมฟรุกโตสนี้ถือว่าเป็นมหันตภัยของความหวานอันดับแรก ๆ ที่เราควรหลีกเลี่ยง
เครื่องดื่มต่าง ๆ ที่จำหน่ายทั่วไปนั้น กำลังกัดกร่อนสุขภาพของคนไทย เพราะความหวานจากน้ำตาลที่เป็นส่วนผสมอยู่ในเครื่องดื่ม เช่น ชาเขียวพร้อมดื่มในขวดหนึ่งมีน้ำตาลอยู่ถึง 12 ช้อนชา ในขณะที่องค์การอนามัยโลกให้ค่าบริโภคน้ำตาลของร่างกายที่เหมาะสมคือ 6 ช้อนชาหรือ 24 กรัมต่อวันเท่านั้นเอง
ปัจจุบันอุตสาหกรรมเครื่องดื่มต่าง ๆ เป็นที่นิยมของผู้บริโภคมาก อุตสาหกรรมเหล่านี้จึงหันมาใช้ ฟรุกโตสไซรัป (Fructose Syrup) ที่เราเรียกว่า น้ำเชื่อมฟรุกโตส หรือ น้ำเชื่อมข้าวโพด เพราะให้ความหวานกว่าน้ำตาลทรายถึง 6 เท่า และอยู่ในรูปของเหลวจัดเก็บได้ง่าย และราคาถูกกว่าน้ำตาลทราย ประหยัดค่าขนส่ง ทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้ ทุกวันนี้น้ำเชื่อมฟรุกโตสจึงถูกนำไปใช้แทนน้ำตาลในอุตสาหกรรมอาหาร ใช้เป็นส่วนประกอบอาหารแทบทุกชนิด ตั้งแต่เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว คุกกี้ ไอสครีม ฯลฯ
การบริโภคน้ำเชื่อมฟรุกโตสในปริมาณที่สูงถึงร้อยละ 42 – 55 แสดงให้เห็นถึงปัญหาด้านสุขภาพเนื่องจากการบริโภคฟรุคโตสเป็นการทำลายระบบการทำงานของตับ และไประงับ ฮอร์โมนอิ่ม (Leptin hormone) ทำให้กินไม่รู้จักอิ่มและกินเกินความต้องการ และจากผลการวิจัยของสหรัฐอเมริกาพบว่า น้ำเชื่อมฟรุคโตสสูงเป็นพิษต่อร่างกายและสามารถทำลายระบบลำไส้ได้ด้วย
ดร. เนตรนภิส วัฒนสุชาติ นักโภชนาการ สถาบันค้นคว้าและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในฐานะนักวิชาการทำงานในเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ฟรุกโตส เมื่อเข้าสู่กระแสเลือดส่วนใหญ่จะพุ่งตรงไปที่ตับ และนำไปสู่ภาวะไขมันพอกตับ ในวันหนึ่งถ้าเราบริโภคฟรุกโตสเกิน 6 ช้อนชาอยู่เป็นประจำ ฟรุกโตสจะเปลี่ยนเป็นไตรกลีเซอร์ไรด์ คือไขมันสะสมอยู่ในกระแสเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุให้มีการสะสมไขมันในตับและบริเวณพุง กลายเป็นโรคอ้วนตามมาด้วย
นายแพทย์ สันต์ ใจยอดศิลป์ ซึ่งเคยเป็นแพทย์ผ่าตัดหัวใจ อยู่ 20 ปี เป็นแพทย์ผ่าตัดหัวใจที่ Greelane Hospital , Ackland , New Zealand เป็นแพทย์ผ่าตัดหัวใจที่ Brigham & Women’s Hospital เป็นโรงพยาบาลในเครือ Harvard ที่เมือง บอสตัน สหรัฐอเมริกา เป็นแพทย์ผ่าตัดหัวใจที่โรงพยาบาลราชวิถี กรุงเทพฯ เป็นกรรมการสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย อยู่หลายสมัย และเคยทำงานบริหารเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 2 อยู่เป็นเวลา 6 ปี ฯลฯ ยังได้อธิบายเรื่องนี้ว่า ฟรุกโตสที่เหลือใช้จะถูกนำไปเก็บที่ตับในรูปของไขมัน ถ้ามีมาก ๆ ก็จะเกิดภาวะไขมันแทรกตับ ถ้าแทรกมาก ๆ เซลล์ตับก็จะแตกเสียหายเป็นตับอักเสบ ตับก็จะพยายามซ่อมด้วยการแทรกพังผืดเข้าทำให้กลายเป็นตับแข็ง และภาวะตับแข็งนี้จะนำไปสู่การเป็นมะเร็งตับได้ การบริโภคน้ำเชื่อมฟรุกโตสมากเกินไปก็ทำให้เกิดผลเสียได้
ทันตแพทย์ หญิง ปิยดา ประเสริฐสม ทันตแพทย์เชี่ยวชาญ ผู้จัดการเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้กล่าว ฟรุกโตสทำให้คนอิ่มไม่เป็น เช่นเวลาหิว น้ำตาลในกระแสเลือดจะลด สมองก็จะบอกว่าขาดอาหารแล้ว และเมื่อกินจนอิ่ม น้ำตาลในกระแสเลือด จะเริ่มขึ้นเป็นปกติ จึงส่งสัญญาณไปที่สมองว่าอิ่มแล้ว ฮอร์โมนหิว (Ghrelin hormone) ก็จะหยุดหลั่ง เราจะกินน้อยลง แต่สำหรับฟรุกโตสไม่เกิดกลไกนี้ เพราะย่อยไม่ได้ในลำไส้ปกติ ร่างกายจึงนำไปเก็บไว้ที่ตับ น้ำตาลในกระแสเลือดจึงขึ้นช้ามาก เราก็กินอาหารเข้าไปมากและบ่อย นั่นคือฟรุกโตสทำให้เราอร่อยแต่ไม่อิ่ม
ความหวานของน้ำตาลฟรุกโตสคือความล้ำสมัยในอุตสาหกรรมอาหาร แต่มีผลกระทบต่อสุขภาพของคนเรามากมายตามมา เมื่อเลี่ยงได้ก็ควรจะเลี่ยงหรือดื่มเครื่องดื่มแต่น้อย ๆ เพื่อสุขภาพของเรา ครับ
………………………
สุนทร ตรีนันทวัน
ฝ่ายนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้ สสวท.ข้อมูลอ้างอิง
1. สารให้ความหวาน มหันตภัยทำลายสุขภาพ หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วันจันทร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2559 หน้า 21
2. ข้องใจเรื่องน้ำตาลฟรุกโตส (Fructose) (Online) เข้าถึงได้จาก http://visitdrsant.blogspot.com/
2015/06/fructose.html สืบค้น 11/01/2559
3. ฟรุกโตส หวานทันสมัย สารภัยในชาเขียวพร้อมดื่ม (Online) เข้าถึงได้จาก http://www.
dailynews.co.th/article/309463 สืบค้น 24/01/2559
4. มหันตภัยจากความหวาน อาจทำลายระบบลำไส้ (Online) http://m.prachachat.net/news_detail.
php?newsid=1451965584 สืบค้น 24/01/2559
5. กลูโคส ฟรุกโตส ซูโครส ใครแสบที่สุด (Online) เข้าถึงได้จาก http://blog.fitforfun.com/
2015/1596 สืบค้น 24/01/2559
6. ฟรุกโตส หวานทันสมัย สารพัดภัยในเครื่องดื่ม (Online) เข้าถึงได้จากhttp://healthinfo.in.th/
hiso5/healhy/news.php?names=13&news_id=7317 สืบค้น 24/01/2559
-
4811 ฟรุกโตส ภัยร้ายทำลายสุขภาพ /article-biology/item/4811-2016-07-13-02-56-53เพิ่มในรายการโปรด