logo IPST4 IPST4
  • วีดิทัศน์
  • คลังภาพ
  • บทความ
  • โครงงาน
  • บทเรียน
  • แผนการสอน
  • E-Books
  • Apps
  • เกี่ยวกับ scimath
  • ติดต่อเรา
  • สรุปข้อมูล
  • แผนผังเว็บไซต์
Login
Login / Register
  • สมัครสมาชิก
  • ลืมรหัสผ่าน
  • วีดิทัศน์
  • คลังภาพ
  • บทความ
  • โครงงาน
  • บทเรียน
  • แผนการสอน
  • E-Books
  • Apps
  • เกี่ยวกับ scimath
  • ติดต่อเรา
  • สรุปข้อมูล
  • แผนผังเว็บไซต์
Login
Login / Register
  • สมัครสมาชิก
  • ลืมรหัสผ่าน
  • learning space
  • ระบบอบรมครู
  • ระบบการสอบออนไลน์
  • ระบบคลังความรู้
  • ระบบการเรียนรู้ร่วมกัน
  • สสวท.
  • สำนักงานสลากกินแบ่ง
  • วีดิทัศน์
  • คลังภาพ
  • บทความ
  • โครงงาน
  • บทเรียน
  • แผนการสอน
  • E-Books
  • Apps
Login
Login / Register
  • สมัครสมาชิก
  • ลืมรหัสผ่าน
ค้นหา
    

ค้นหาบทเรียน

กลุ่มเป้าหมาย
ระดับชั้น
สาขาวิชา/กลุ่มสาระวิชา
การกรองเปลี่ยนแปลง โปรดคลิกที่ส่งเมื่อดำเนินการเสร็จ
เลือกหมวดหมู่
    
  • บทเรียนทั้งหมด
  • ฟิสิกส์
  • เคมี
  • ชีววิทยา
  • คณิตศาสตร์
  • เทคโนโลยี
  • โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ
  • วิทยาศาสตร์ทั่วไป
  • สะเต็มศึกษา
  • อื่น ๆ
  • หน้าแรก
  • บทเรียน
  • ชีววิทยา
  • กล้องจุลทรรศน์ และส่วนประกอบของกล้องจุลทรรศน์

กล้องจุลทรรศน์ และส่วนประกอบของกล้องจุลทรรศน์

โดย :
เนียรวรรณ มีเจริญ
เมื่อ :
วันอังคาร, 27 กุมภาพันธ์ 2561
Hits
18293
  • 1. Introduction
  • 2. กล้องจุลทรรศน์: แบบใช้แสงอิเล็กตรอน
  • 3. การเตรียมวัสดุเพื่อศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์
  • - All pages -

การศึกษาจุลินทรีย์ด้วยกล้องจุลทรรศน์

ในการศึกษาทางด้านจุลชีววิทยาซึ่งเป็นการศึกษาสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จึงจำเป็นต้องอาศัยกล้องจุลทรรศน์ซึ่งเป็นเครื่องมือวิทยาศาสตร์ที่สำคัญ สำหรับผู้ที่จะศึกษาวิชาจุลชีววิทยาจึงควรเรียนรู้เกี่ยวกับกล้องจุลทรรศน์และวิธีใช้ที่ถูกต้อง ในปัจจุบันวิทยาการในด้านต่างๆ ได้เจริญก้าวหน้าไปมาก รวมทั้งมีการประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์แบบใหม่ๆขึ้น จึงทำให้การศึกษาในวิชาจุลชีววิทยารุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว

กล้องจุลทรรศน์ที่ใช้กันแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ แบบใช้แสงธรรมดาและแบบใช้แสงอิเล็กตรอน

 

กล้องจุลทรรศน์: แบบใช้แสงธรรมดา

        

กล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงธรรมดา (Compound microscope)

แบ่งออกเป็น 2 ชนิดด้วยกัน    

  1. กล้องจุลทรรศน์อย่างง่ายหรือแว่นขยาย (Compound Microscope or Magnifying glass) ซึ่งใช้เพียงเลนส์นูนเพียงอันเดียวเป็นตัวช่วยในการขยายวัตถุให้ดูใหญ่ขึ้น และภาพที่ได้จะเป็นภาพเสมือน
  2. กล้องจุลทรรศน์เชิงซ้อน (Compound Light Microscope) เป็นกล้องจุลทรรศน์ที่มีระบบเลนส์ที่ทำหน้าที่ขยายภาพ 2 ชุดด้วยกัน คือ เลนส์ใกล้วัตถุ และเลนส์ใกล้ตา กล้องจุลทรรศน์เชิงซ้อนที่ใช้งานทั่วไปในห้องปฏิบัติการจะเป็นชนิด Light field Microscope หรือ Bright field Microscope หลักการทำงานของกล้องจุลทรรศน์ชนิดนี้คือ เมื่อแสงไฟจากหลอดไฟเป็นแหล่งกำเนิดแสงจะถูกรวบรวมแสงโดย condenser lens ไปตกที่วัตถุที่วางบนแท่นวางวัตถุ (Specimen stage) จากนั้นเลนส์ใกล้วัตถุ (objective lens) จะเป็นตัวขยายวัตถุให้ได้ภาพที่ใหญ่ขึ้น แล้วจะส่งต่อไปยัง เลนส์ใกล้ตา (ocular lens) เพื่อขยายภาพสุดท้าย

 

ส่วนต่าง ๆ ของกล้องจุลทรรศน์ชนิด Compound light microscope (Olympus)

ส่วนต่าง ๆ ของกล้องจุลทรรศน์ชนิด compound light microscope (Olympus)

www.biology.sc.chula.ac.th/2303106/2303106BU.pdf

 

โครงสร้างโดยทั่วไปของกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงธรรมดา มีส่วนประกอบดังภาพที่ 1 ดังนี้ คือ
  1. ส่วนฐาน (base) คือส่วนฐานที่วางติดกับโต๊ะ มีหลอดไฟฟ้าติดอยู่ที่ฐานกล้องพร้อมสวิทช์ปิดเปิด
  2. ส่วนแขน (arm) คือส่วนที่ยึดติดระหว่างลำกล้องกับส่วนฐาน
  3. ลำกล้อง (body tube) มีเลนส์ใกล้ตาติดอยู่ด้านบน ส่วนด้านล่างติดกับแผ่นหมุน ซึ่งมีเลนส์ใกล้วัตถุติดอยู่ บางกล้องมีปริซึมติดอยู่เพื่อหักเหแสงจากเลนส์ใกล้วัตถุให้ผ่านเลนส์ใกล้ตา
  4. แผ่นหมุน (revolving nosepiece) คือแผ่นกลมหมุนได้ มีเลนส์ใกล้วัตถุติดอยู่เพื่อหมุนเปลี่ยนกาลังขยายของเลนส์ตามความต้องการ
  5. เลนส์ใกล้วัตถุ (objective lens) คือเลนส์ที่ติดอยู่บนแผ่นหมุน ตามปกติจะมี 3 หรือ 4 อัน แต่ละอันจะมีตัวเลขแสดงกำลังขยายกำกับไว้ เช่น x4, x10, x40 หรือ x100 เป็นต้น ในกรณีที่ใช้เลนส์ใกล้วัตถุกาลังขยาย x100 ต้องใช้น้ำมันเป็นตัวกลางระหว่างเลนส์และวัตถุจึงจะเห็นภาพ นอกจากนี้ ด้านข้างของเลนส์ใกล้วัตถุมีตัวเลขแสดงค่า N.A. (numerical aperture) กำกับอยู่ (ภาพที่ 2) ค่า N.A. (ความสามารถของเลนส์ที่รวบรวมแสงที่หักเหผ่านวัตถุเข้ากล้องมากที่สุด) มีความสัมพันธ์กับ resolving power ดังนี้

สูตรหา Resolving power

λ = ความยาวคลื่นแสง

N.A. = numerical aperture

*** ถ้า N.A. มีค่าสูง resolving power มีค่าน้อย แสดงว่ากล้องมีการแจกแจงรายละเอียดได้ดี

 

  1. เลนส์ใกล้ตา (eyepiece lens) คือเลนส์ชุดที่อยู่ส่วนบนสุดของกล้อง มีตัวเลขบอกกำลังขยายอยู่ทางด้านบน เช่น x5, x10, หรือ x15 เป็นต้น บางกล้องมีเลนส์ใกล้ตาอันเดียว (monocular) บางกล้องมีเลนส์ใกล้ตา 2 อัน (binocular) เลนส์ชุดนี้ขยายภาพที่เกิดจากเลนส์ใกล้วัตถุ ภาพที่เห็นมีขนาดขยาย เป็นภาพเสมือนหัวกลับ และกลับซ้ายเป็นขวากับวัตถุ
  2. วงล้อปรับภาพ (adjustment wheel) สำหรับปรับระยะห่างระหว่างวัตถุกับเลนส์ใกล้วัตถุ เพื่อปรับภาพให้เห็นชัด ซึ่งระยะห่างที่ทาให้เห็นภาพชัด เรียกว่า ระยะการทำงานของกล้อง (working distance) หรือระยะโฟกัสของกล้อง วงล้อดังกล่าวมี 2 ชนิด คือ ชนิดปรับภาพหยาบ (coarse adjustment wheel) ใช้ปรับระยะห่างระหว่างวัตถุกับเลนส์ใกล้วัตถุชนิดกำลังขยาย 10 เท่าลงมา และชนิดปรับภาพละเอียด (fine adjustment wheel) ใช้ปรับภาพให้ชัด เมื่อใช้เลนส์ใกล้วัตถุกำลังขยายสูง 40 เท่าขึ้นไป
  3. แท่นวางวัตถุ (stage) มีช่องตรงกลางสำหรับให้แสงผ่าน และใช้วางสไลด์แก้ว เป็นอุปกรณ์ที่เคลื่อนที่ได้ (mechanical stage) ด้วยการหมุนปุ่มบังคับ อุปกรณ์ดังกล่าวมีคลิปเกาะสไลด์ และมีสเกลบอกตำแหน่งของสไลด์บนแท่นวางวัตถุ ฉะนั้นอุปกรณ์นี้จะช่วยอำนวยความสะดวกในการเลื่อนสไลด์ไปทางขวา ซ้าย หน้า และหลังได้ในขณะที่ตามองภาพในกล้อง ช่วยให้หาภาพได้รวดเร็ว และมีสเกลบอกตำแหน่งของวัตถุบนสไลด์
  4. คอนเดนเซอร์ (condenser) คือชุดของเลนส์ที่ทำหน้าที่รวมแสงให้มีความเข้มมากที่สุด เพื่อส่องวัตถุบนสไลด์แก้วให้สว่างที่สุด มีปุ่มปรับความสูงต่ำของ condenser
  5. ไอริสไดอะแฟรม (iris diaphragm) เป็นม่านปรับรูเปิดเพื่อให้แสงผ่านเข้า condenser และมีปุ่มสาหรับปรับ iris diaphragm ให้แสงผ่านเข้ามากน้อยตามต้องการ
  6. แหล่งกำเนิดแสง (light source) เป็นหลอดไฟฟ้าให้แสงสว่างติดอยู่ที่ฐานกล้อง มีสวิทช์เปิดปิด และมีสเกลปรับปริมาณแสงสว่าง

 

การใช้กล้องจุลทรรศน์
  1. การจับกล้องและเคลื่อนย้ายกล้อง ต้องใช้มือหนึ่งจับที่แขนและอีกมือหนึ่งรองที่ฐานของกล้อง
  2. ตั้งลำกล้องให้ตรง
  3. เปิดไฟเพื่อให้แสงเข้าลำกล้องได้เต็มที่
  4. หมุนเลนส์ใกล้วัตถุ ให้เลนส์ที่มีกำลังขยายต่ำสุดอยู่ในตำแหน่งแนวของลำกล้อง
  5. นำสไลด์ที่จะศึกษามาวางบนแท่นวางวัตถุ โดยปรับให้อยู่กลางบริเวณที่แสงผ่าน
  6. ค่อยๆหมุนปุ่มปรับภาพหยาบให้กล้องเลื่อนขึ้นช้าๆเพื่อหาระยะภาพ แต่ต้องระวังไม่ให้เลนส์ใกล้วัตถุกระทบกับสไลด์ตัวอย่าง เพราะจะทำให้เลนส์แตกได้
  7. ปรับภาพให้ชัดเจนขึ้นด้วยปุ่มปรับภาพละเอียด ถ้าวัตถุที่ศึกษาไม่อยู่ตรงกลางให้เลื่อนสไลด์ให้มาอยู่ตรงกลาง
  8. ถ้าต้องการให้ภาพขยายใหญ่ขึ้นให้หมุนเลนส์ใกล้วัตถุที่มีกำลังขยายสูงกว่าเดิมมาอยู่ในตำแหน่งแนวของลำกล้อง จากนั้นปรับภาพให้ชัดเจนด้วยปุ่มปรับภาพละเอียดเท่านั้น ห้ามปรับภาพด้วยปุ่มปรับภาพหยาบเพราะจะทำให้ระยะของภาพ หรือจุดโฟกัสของภาพเปลี่ยนไป
  9. บันทึกกำลังขยายโดยหาได้จากผลคูณของกำลังขยายของเลนส์ใกล้วัตถุกับกำลังขยายของเลนส์ใกล้ตา

 

แหล่งที่มา

การใช้กล้องจุลทรรศน์ (Microscope).สืบค้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2560.จาก
         www.kruseksan.com/book/microscope.pdf

กล้องจุลทรรศน์ - SMD : E- Learning.สืบค้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2560.จาก
         www.learning.smd.kku.ac.th/home/images/documents/Microscope.pdf

บทปฏิบัติการที่ 1 กล้องจุลทรรศน์ เซลล์ และองค์ประกอบของเซลล์.สืบค้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2560.จาก
        www.biology.sc.chula.ac.th/2303106/2303106BU/บทปฏิบัติการที่%201.pdf

นงลักษณ์ สุวรรณพินิจ, และปรีชา สุวรรณพินิจ. (2554). จุลชีววิทยาทั่วไป. กรุงเทพฯ:
        โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


Return to contents

 

กล้องจุลทรรศน์: แบบใช้แสงอิเล็กตรอน

        กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนเป็นเครื่องมือที่พัฒนามาจากกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงธรรมดา เหตุผลที่ทำให้ประดิษฐ์เครื่องมือนี้ขึ้นมาเนื่องจากว่า ประสิทธิภาพในการขยายภาพของกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสงแบบธรรมดานั้นไม่สามารถศึกษารายละเอียดของโครงสร้างภายในของสิ่งมีชีวิตและสิ่งที่มีขนาดเล็กมากๆอย่างเช่น ดีเอ็นเอ (Deoxyribo nucleic acid : DNA) ก็ไม่สามารถมองเห็นได้ และเครื่องมีนี้ได้ประดิษฐ์ขึ้นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ในปีค.ศ.1932 โดยนักวิทยาศาสตร์ 2 ท่าน คือ Max Knoll และ Ernst Ruska ซึ่งแสงที่ใช้เป็นลำแสงอิเล็กตรอน ที่มีขนาดของความยาวคลื่นประมาณ 0.025 อังสตรอม (oA) มีกำลังขยายถึง 500,000 เท่า หรือมากกว่าแหล่งกำเนิดแสงอิเล็กตรอนได้จากปืนยิงอิเล็กตรอน (Electron gun) ซึ่งเป็นขดลวดทังสเตน มีลักษณะเป็นรูปตัววี เมื่อขดลวดทังสเตนรั้นขึ้นโดยการเพิ่มกระแสไฟฟ้าเข้าไปในขดลวด ทำให้อิเล็กตรอนถูกปลดปล่อยออกมาจากขดลวดทังสเตน เนื่องจากอิเล็กตรอนมีขนาดเล็กมาก และเพื่อเป็นการป้องกันการชนกันของมวลอากาศกับลำแสงอิเล็กตรอน ซึ่งจะทำให้เกิดการหักเหได้ จึงต้องมีการดูดอากาศจากตัวกล้องให้เป็นสุญญากาศระบบเลนส์ที่ใช้เป็นระบบเลนส์แม่เหล็กไฟฟ้า (Electromagnetic lens) แทนเลนส์แก้วในกล้องจุลทรรศน์ชนิดแสงธรรมดา เลนส์แม่เหล็กไฟฟ้าประกอบด้วยขดลวดพันรอบแท่งเหล็ก เมื่อกระแสไฟฟ้าผ่านเข้าไปทำให้เกิดสนามแม่เหล็กขึ้น สนามแม่เหล็กไฟฟ้าจะทำให้ลำแสงอิเล็กตรอนเข้มขึ้น เพื่อไปตกกระทบกับตัวอย่างวัตถุที่จะศึกษา เลนส์ของกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนประกอบด้วยเลนส์รวมแสง (Objective lens) และ Projector Lens โดยที่ Projector lens ทำหน้าที่ฉายภาพจากวัตถุ Electron Microscope ตัวอย่างที่จะศึกษาลงบนจอภาพคล้ายกับ Eyepiece ของกล้องจุลทรรศน์ชนิดแสงธรรมดา จอภาพฉาบด้วยสารเรืองแสงพวกฟอสฟอรัส เมื่อลำแสงอิเล็กตรอนตกลงบนจอ จะทำให้เกิดการเรืองแสงขึ้นซึ่งเป็นสารสีเขียวแกมเหลืองที่มองได้ด้วยตาเปล่า

กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนในปัจจุบันมี 2 ชนิดด้วยกัน

  1. กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องผ่าน (Transmission Electron Microscope: TEM)

เอิร์นสต์ รุสกา สร้างสำเร็จเป็นคนแรก ในปี ค.ศ.1932 ใช้ในการศึกษาโครงสร้างภายในของเซลล์โดยลำแสงอิเล็กตรอนจะส่องผ่านเซลล์ หรือวัตถุตัวอย่างที่ศึกษา ซึ่งต้องมีลักษณะบางเป็นพิเศษ ขั้นตอนในการเตรียมตัวอย่างที่ศึกษายุ่งยาก

 

หลักการทำงานของกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องผ่าน
  1. กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องผ่าน หรือ TEM จะใช้ลำอิเล็กตรอนจากแหล่งกำเนิดอิเล็กตรอน ส่องไปยังวัตถุ แทนที่จะใช้แสงส่องผ่านวัตถุแบบกล้องจุลทรรศน์แบบใช้แสง ซึ่งลำอิเล็กตรอนจะมีความยาวคลื่นสั้นกว่าแสง ทำให้สามารถขยายภาพของวัตถุได้มากกว่า
  2. เมื่อลำอิเล็กตรอนพุ่งออกมาจากแหล่งกำเนิด จะผ่านสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งทำหน้าที่หักเหลำอิเล็กตรอนแทนเลนส์ จึงเรียกสนามแม่เหล็กไฟฟ้านี้ว่า electromagnetic lens
  3. ลำอิเล็กตรอนจะส่องผ่าน condenser lens ซึ่งเป็นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าที่ทำหน้าที่หักเหลำอิเล็กตรอนหรือ electromagnetic lens เช่นเดียวกับเลนส์ชุดแรก เพื่อโฟกัสลำอิเล็กตรอนให้ตกลงบนวัตถุ
  4. เมื่อส่องผ่านวัตถุ สนามแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ electromagnetic lens อีกชุดหนึ่ง จะทำหน้าที่เหมือน objective lens หักเหลำอิเล็กตรอน ให้เกิดการขยายและโฟกัสภาพวัตถุที่ส่องผ่าน แล้วจะมี projection lens ทำหน้าที่โฟกัสลำอิเล็กตรอนอีกครั้งหนึ่ง
  5. ภาพของวัตถุจะตกลงบนจอภาพเรืองแสงหรือจอฟลูออเรสเซนซ์ ถ้าต้องการภาพถ่ายจะใช้แผ่นฟิล์มบันทึก และนำไปล้างและอัดเป็นภาพ หรืออาจบันทึกภาพด้วยอุปกรณ์รับภาพแบบ CCD หรือ charge-coupled device ได้เป็นภาพอิเล็กทรอนิกส์ในคอมพิวเตอร์
  6. กล้องจุลทรรศน์ชนิดส่องกราด (Scanning Electron Microscope: SEM)

        เอ็ม วอน เอนเดนนี (M Von Andenne) สร้างเสร็จในปี ค.ศ. 1938 โดยใช้ศึกษาผิวของเซลล์หรือผิวของตัวอย่างวัตถุที่นามาศึกษา โดยลำแสงอิเล็กตรอนจะส่องกราดไปบนผิวของวัตถุ

 

หลักการทำงานของกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องกราด

         เกิดจากการที่ Primary electron วิ่งไปกระทบพื้นผิวของวัตถุ   ทำให้มีการสะท้อนกลับของพลังงานในรูปแบบต่างๆ เช่น back-scatter electron, รังสีเอ็กซ์ (X-ray) หรือ secondary electron เป็นต้น และในลำกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนชนิดส่องกราด จะมีตัวรับสัญญาณที่ทำหน้าที่รับและเปลี่ยน secondary electron ให้เป็นสัญญาณอิเล็กตรอน (electrical signal) แล้วส่งสัญญาณไปยังจอภาพ (Cathode ray tube) เพื่อทำให้เกิดภาพที่ตามองเห็นได้ โดยภาพที่ออกมานั้นจะมีลักษณะ 3 มิติ จากนั้นจะบันทึกภาพลง Photographic

 

ข้อควรระวังในการใช้กล้องจุลทรรศน์

       เนื่องจากกล้องจุลทรรศน์เป็นอุปกรณ์ที่มีราคาค่อนข้างสูงและมีส่วนประกอบที่อาจเสียหายง่ายโดยเฉพาะเลนส์ จึงต้องใช้และเก็บรักษาด้วยความระมัดระวังให้ถูกวิธี ซึ่งมีวิธีปฏิบัติดังนี้

  1. ในการยกกล้องและเคลื่อนย้ายกล้อง ต้องใช้มือหนึ่งจับที่แขนและอีกมือหนึ่งรองที่ฐานของ กล้อง
  2. สไลด์และกระจกปิดสไลด์ที่ใช้ต้องไม่เปียก เพราะอาจจะทำให้แท่นวางวัตถุเกิดสนิม และเลนส์ใกล้วัตถุอาจขึ้นราได้
  3. เมื่อต้องการหมุนปุ่มปรับภาพหยาบต้องมองด้านข้างตามแนวระดับแท่นวางวัตถุ เพื่อป้องกันการกระทบของเลนส์ใกล้วัตถุกับกระจกสไลด์ ซึ่งอาจทำให้เลนส์แตกได้
  4. การหาภาพต้องเริ่มด้วยเลนส์ใกล้วัตถุที่มีกาลังขยายต่ำสุดก่อนเสมอ
  5. เมื่อต้องการปรับภาพให้ชัดขึ้นให้หมุนเฉพาะปุ่มปรับภาพละเอียดเท่านั้น เพราะถ้าหมุนปุ่มปรับภาพหยาบจะทำให้ระยะภาพหรือจุดโฟกัสของภาพเปลี่ยนไปจากเดิม
  6. ห้ามใช้มือแตะเลนส์ ควรใช้กระดาษเช็ดเลนส์ในการทำความสะอาดเลนส์
  7. เมื่อใช้เสร็จแล้วต้องเอาวัตถุที่ศึกษาออก เช็ดแท่นวางวัตถุและเช็ดเลนส์ให้สะอาด หมุนเลนส์ใกล้วัตถุกำลังขยายต่ำสุดให้อยู่ตรงกลางลำกล้อง และเลื่อนลำกล้องลงต่ำสุด ปรับกระจกให้อยู่ในแนวตั้งฉากกับแท่นวางวัตถุเพื่อป้องกันไม่ให้ฝุ่นเกาะ แล้วเก็บใส่กล่องหรือตู้ให้เรียบร้อย

 

ภาพการใช้งานกล้องจุลทรรศน์

https://pccpcell.wordpress.com

 

แหล่งที่มา

กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน.สืบค้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2560.จาก
       https://sites.google.com/site/aomsupaporn2535/hnwy-thi2/hnwy-thi2-2

กล้องจุลทรรศน์ - SMD : E- Learning.สืบค้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2560.จาก
       www.learning.smd.kku.ac.th/home/images/documents/Microscope.pdf

คู่มือสื่อการสอนวิชาชีววิทยา โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.สืบค้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560.จาก
        www.phukhieo.ac.th.pdf

บทปฏิบัติการที่ 1 กล้องจุลทรรศน์ เซลล์ และองค์ประกอบของเซลล์.สืบค้นเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2560.จาก
        www.biology.sc.chula.ac.th/2303106/2303106BU/บทปฏิบัติการที่%201.pdf

นงลักษณ์ สุวรรณพินิจ, และปรีชา สุวรรณพินิจ. (2554). จุลชีววิทยาทั่วไป. กรุงเทพฯ:
        โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 


Return to contents

 

การเตรียมวัสดุเพื่อศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์

          การเตรียมตัวอย่างเชื้อจุลินทรีย์เพื่อนำมาศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์ที่ใช้แสงธรรมดาอาจกระทำได้ 2 วิธี คือ เลี้ยงจุลินทรีย์ในสภาพของเหลวเพื่อทำสไลด์สดหรือหยดแขวน และอีกวิธีหนึ่งโดยการทำให้เซลล์แห้งตรึงติดอยู่กับที่ และย้อมสีเพื่อให้เห็นความแตกต่างได้

 

เทคนิคการเตรียมสไลด์สดและการทำหยดแขวน

การเตรียมสไลด์สด

            โดยหยดของเหลวที่มีจุลินทรีย์บนแผ่นแก้วสไลด์ ปิดทับด้วยกระจกสไลด์ โดยค่อยๆ วางกระจกปิดให้ด้านหนึ่งสัมผัสกับหยดของเหลว แล้วค่อยๆ ปล่อยกระจกปิดลงช้าๆ เพื่อไม่ให้เกิดฟองอากาศขึ้น เช็ดขอบกระจกปิดสไลด์ให้แห้ง ถ้าต้องการให้ลดการระเหยของของเหลว อาจใช้ยาทาเล็บทาปิดระหว่างขอบกระจกปิดและสไลด์

การทำหยดแขวน

            มีลักษณะคล้ายกับการทำสไลด์สด แต่ให้หยดซัสเพนชันของจุลินทรีย์บนกระจกปิดสไลด์ก่อน แล้วจึงคว่ำสไลด์หลุมตรงกลาง (depression slide) ลงบนกระจกปิด กะปริมาณให้บริเวณหลุมอยู่เหนือหยดของเหลว แล้วรีบพลิกสไลด์ให้หงายขึ้นโดยเร็ว หลดเชื้อจะแขวนอยู่กับกระจกปิดสไลด์และอยู่เหนือหลุมของสไลด์หลุมพอดี

            ข้อดีของการศึกษาด้วยสไลด์สดและการทำหยดแขวน

  1. สามารถศึกษาเซลล์ที่มีชีวิตได้
  2. สังเกตเห็นรูปร่างและการเรียงตัวของเซลล์ได้ชัดเจน
  3. สามารถศึกษาพฤติกรรมต่างๆของเซลล์ได้ เช่น การเคลื่อนที่ด้วยแฟลกเจลลา ศึกษากิจกรรมต่างๆ ของเซลล์ เช่น การสร้างสปอร์ การแบ่งเซลล์ เป็นต้น
  4. สามารถศึกษาถึงองค์ประกอบต่างๆ ภายในเซลล์ เช่น หยดไขมัน แวคิวโอล
การย้อมสี

            เนื่องจากจุลินทรีย์ซึ่งมีขนาดเล็กมากนั้นมักโปร่งแสง จึงแยกความแตกต่างกับของเหลวที่จุลินทรีย์แขวนลอยอยู่ได้น้อย ทำให้มองให้ได้ยาก ดังนั้นการย้อมสีจะช่วยให้เห็นรายละเอียดและความแตกต่างของจุลินทรีย์แต่ละชนิดได้มากขึ้น

            สีที่ใช้ในการย้อมสีแบคทีเรียนั้นเป็นสีที่อยู่ในรูปของเกลือ ซึ่งจะประกอบไปด้วยออนบวกและลบ ส่วนที่แสดงสี หรือ Chromophoric group ซึ่งเป็นส่วนที่มีประจุเป็นออนบวกหรือลบนี้ สามารถใช้ในแบ่งออกเป็น 3 ชนิดตามประจุไฟฟ้า คือ

  1. Acidic dye ได้แก่ สีที่มีอนุภาคเม็ดสีเป็นประจุลบ (-) เช่นสี Eosin Y, Indian ink, Nigrosin ใช้ย้อม Cytoplasm
  2. Basic หรือ Basicdic dye ได้แก่ สีที่มีอนุภาคเม็ดสีเป็นประจุ (+) เป็นสีที่ใช้กันเป็นส่วนใหญ่ เช่น Methylene blue, Crystal violet, Safranin O, Carbol fuchsin ใช้ย้อมนิวเคลียสและโครมาติน
  3. Netral dye ได้แก่ สีที่อนุภาคเม็ดสีไม่มีประจุ เช่นสี Sudan III

 

หลักการของการติดสีในการย้อมสีแบคทีเรีย

 

หลักการของการติดสีในการย้อมสีแบคทีเรีย

หลักการของการติดสีในการย้อมสีแบคทีเรีย

จุรีย์รัตน์ สีสมิทธ์. ปฏิบัติการจุลชีววิทยาทั่วไป. หน้า 27.

 

กลไกในการติดสีย้อมของเซลล์แบคทีเรีย

            การย้อมสีเป็นปฏิกิริยาการแลกเปลี่ยนไอออนของเซลล์กับของสี กล่าวคือ ไอออนของสีจะเข้าไปแทนที่ไอออนบนส่วนประกอบของเซลล์ จึงเกิดสารประกอบของเกลือออกมาและสีจะติดที่เซลล์แทนนอกจากนี้องค์ประกอบทางเคมีของกรดนิวคลีอิคยังมีส่วนในการเกิดเกลืออีกด้วย เช่น เกลือของโซเดียมหรือโปตัสเซียม เป็นต้น เนื่องจากเซลล์ของแบคทีเรียมีประจุไฟฟ้าลบ ดังนั­นจึงดึงดูดได้ดีกับไอออนที่มีประจุไฟฟ้าบวกเช่น ถ้ามี Na+ หรือ K+ จะเกิดการดึงดูด Na+ หรือ K+ ไปติดที่เซลล์ ของแบคทีเรียเป็น (Bacterial cell)- Na+ หรือ (Bacterial cell)- K+

            เนื่องจากสีที่ใช้ย้อมสีแบคทีเรียอยู่ในรูปของเกลือ ซึ่งมีทั้งประจุลบและบวกด้วยกันเม่ือย้อมเซลล์แบคทีเรียทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนประจุระหว่างสีและเซลล์ เช่น ใช้ Methylene blue chloride (MB+Cl-) ย้อมเซลล์แบคทีเรีย จะเกิดการเปลี่ยนประจุกันขึ้นทำให้เซลล์ติดสีย้อมของ Methylene blue ดังสมการ

(Bacterial cell- Na+) + (MB+Cl-) → (Bacterial cell- MB+) + (Na+Cl-)

 

วิธีการย้อมสีแบคทีเรีย

วิธีการย้อมสีแบคทีเรียที่สำคัญมีดังนี้

  1. Simple stain เป็นการย้อมสีแบคทีเรียด้วยสีย้อมชนิดเดียว เซลล์จะติดสีย้อมสม่ำเสมอทั้งหมด การย้อมสีวิธีนี้ต้องการศึกษารูปร่าง ขนาดและการจัดเรียงตัวของแบคทีเรีย ส่วนสีที่ใช้ ได้แก่ Crystal violet, Methylene blue และ Carbol fuchsin เป็นต้น
  2. Differential stain เป็นการย้อมสีที่ใช้ย้อมมากกว่าหนึ่งชนิด สีจะติดส่วนต่าง ๆ ของเซลล์ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างเซลล์แบคทีเรียชนิดต่าง ๆ ได้ วิธีการย้อมสีแบบนี้­มีหลายวิธีที่สำคัญ คือ การย้อมสีแบบกรัม (Gram staining) และ Acid - fast stain

 

ตาราง แสดงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการย้อมสีแบบแกรม      

ตารางแสดงปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากการย้อมสีแบบแกรม

 

สรุปหลักเกณฑ์สำคัญในการย้อมสีแกรมได้ดังนี้

  1. เซลล์ปกติของแบคทีเรียเท่านั้นที่มีการติดสีแกรมบวกและแกรมลบ แต่ถ้าทำให้เซลล์แตกจะติดเฉพาะสีแกรมลบเท่านั้น
  2. การย้อมสีแกรมต้องใช้ Crystal violet และสารละลายไอโอดีนเสมอ
  3. แบคทีเรียเท่านั้นที่ให้ผลแตกต่างกันในการย้อมสีแกรม แต่จุลินทรีย์ชนิดอื่น ๆ จะติดสีย้อมอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น เช่น เซลล์ของยีสต์จะติดสีแกรมบวก
  4. ไซโตพลาสซึมติดสีแกรมลบเท่านั้น
  5. การย้อมสีแกรม สามารถเปลี่ยนแบคทีเรียแกรมบวกเป็นแบคทีเรียแกรมลบได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแบคทีเรียแกรมลบเป็นแกรมบวกได้
  6. แบคทีเรียแกรมบวกถูกล้างสีได้ยากกว่าแบคทีเรียแกรมลบ
  7. สปอร์ที่ยังเจริญไม่เต็มที่ (Immature endospore) ติดสีแกรมบวก ส่วนสปอร์ที่เจริญเต็มที่ (Mature endospore) ไม่ติดสีย้อม

 

แหล่งที่มา

การเตรียมตัวอย่าง (Simple preparation).สืบค้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2560.จาก
      https://www.scribd.com/document/348205778/การยอมสี.pdf

นงลักษณ์ สุวรรณพินิจ, และปรีชา สุวรรณพินิจ. (2554). จุลชีววิทยาทั่วไป. กรุงเทพฯ:
       โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

 

 

 


Return to contents
Previous Page 1 / 3 Next Page
หัวเรื่อง และคำสำคัญ
การศึกษาจุลินทรีย์ด้วยกล้องจุลทรรศน์
ประเภท
Text
รูปแบบการนำเสนอ แบ่งตามผลผลิต สสวท.
สื่อสิ่งพิมพ์ในรูปแบบดิจิทัล
ลิขสิทธิ์
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
วันที่เสร็จ
วันอังคาร, 20 มีนาคม 2561
สาขาวิชา/กลุ่มสาระวิชา
ชีววิทยา
ระดับชั้น
ม.4
ม.5
ม.6
ช่วงชั้น
มัธยมศึกษาตอนปลาย
กลุ่มเป้าหมาย
ครู
นักเรียน
บุคคลทั่วไป
  • 7873 กล้องจุลทรรศน์ และส่วนประกอบของกล้องจุลทรรศน์ /lesson-biology/item/7873-2018-02-27-02-46-18
    คลิ๊กเพื่อติดตาม
    เพิ่มในรายการโปรด
  • ให้คะแนน
    คะแนนเฉลี่ย
    • 1
    • 2
    • 3
    • 4
    • 5
คุณอาจจะสนใจ
Recently added
  • หินปูนที่มีซากดึกดำบรรพ์ (fossilliferous limestone)...
  • สนุกคิดคณิตศาสตร์ ตอน การคูณจำนวนหลายหลัก...
  • Raspberry Pi คอมพิวเตอร์ขนาดเล็กสำหรับด้านการศึกษา...
  • หินอ่อน (Marble)...
  • เทคโนโลยีกับสะเต็มศึกษา...
อ่านต่อ..
คุณอาจจะสนใจ
พันธะเคมี (Chemical Bonding)
พันธะเคมี (Chemical Bonding)
Hits ฮิต (13993)
ให้คะแนน
ประเภทของพันธะเคมี พันธะเคมี (Chemical Bonding) หมายถึง แรงยึดเหนี่ยวระหว่างอะตอมภายในโมเลกุลหรือระ ...
ฟิสิกส์รอบตัว ตอน ฉนวนกันความร้อน
ฟิสิกส์รอบตัว ตอน ฉนวนกันความร้อน
Hits ฮิต (10144)
ให้คะแนน
ฟิสิกส์รอบตัว ตอน ฉนวนกันความร้อน บ้านกับอากาศร้อน เมืองไทยเป็นเมืองร้อน ไม่ว่าฤดูกาลใด ความร้อนมัก ...
Lipid
Lipid
Hits ฮิต (3997)
ให้คะแนน

ค้นหาบทเรียน

กลุ่มเป้าหมาย
ระดับชั้น
สาขาวิชา/กลุ่มสาระวิชา
การกรองเปลี่ยนแปลง โปรดคลิกที่ส่งเมื่อดำเนินการเสร็จ
  • บทเรียนทั้งหมด
  • ฟิสิกส์
  • เคมี
  • ชีววิทยา
  • คณิตศาสตร์
  • เทคโนโลยี
  • โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ
  • วิทยาศาสตร์ทั่วไป
  • สะเต็มศึกษา
  • อื่น ๆ
  • เกี่ยวกับ SciMath
  • ติดต่อเรา
  • สรุปข้อมูล
  • แผนผังเว็บไซต์
Scimath คลังความรู้
Scimath คลังความรู้

สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่แสวงหากำไร ได้จัดทำเว็บไซต์คลังความรู้ SciMath เพื่อส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์และเทคโนโลยีทุกระดับการศึกษา โดยเน้นการศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นหลัก หากท่านพบว่ามีข้อมูลหรือเนื้อหาใด ๆ ที่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาปรากฏอยู่ในเว็บไซต์ โปรดแจ้งให้ทราบเพื่อดำเนินการแก้ปัญหาดังกล่าวโดยเร็วที่สุด

The Institute for the Promotion of Teaching Science and Technology (IPST), Ministry of Education, a non-profit organization under the Thai government, developed SciMath as a website that provides educational resources in Science, Mathematics and Technology. IPST invites visitors to use its online resources for personal, educational and other non-commercial purpose. If there are any problems, please contact us immediately.

Copyright © 2018 SCIMATH :: คลังความรู้ SciMath. All Rights Reserved. 
อีเมล: This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it. โทรศัพท์ : 02-392-4021 ต่อ 7070 (ให้บริการในวันและเวลาราชการเท่านั้น)