ปฏิสัมพันธ์ในระบบสุริยะ
ปรากฏของดวงอาทิตย์
ความหมายของคำว่า “ฤดู” จากพจนานุกรมของราชบัณฑิตยสถาน หมายถึง ส่วนของปี ซึ่งแบ่งโดยถือเอาภูมิอากาศเป็นหลัก และ คำว่า “กาล” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง ดังนั้น คำว่า ฤดูกาล จึงหมายถึง ช่วงเวลาใน 1 ปี ที่แบ่งโดยถือเอาภูมิอากาศเป็นหลัก
ภาพที่ 1 ภาพแสดงฤดูกาลต่าง ๆ ในประเทศเขตอากาศหนาวและเขตอากาศอบอุ่น
ที่มา: ศุภาวิตา จรรยา
ปัจจัยที่ส่งผลที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาล มีอยู่ 3 ประการ ได้แก่ ดวงอาทิตย์ การโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ และแกนโลก นอกจากนี้ในประเทศที่อยู่ในเขตอากาศร้อน ( Tropical zone ) ลมมรสุม ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลเช่นกัน
ฤดูกาล ( Seasons ) เกิดจากโลกของเราโคจรรอบดวงอาทิตย์ โดยวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์มีลักษณะเป็นวงรี ในขณะที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์นั้นแกนของโลกจะเอียงทำมุมคงที่ตลอดเวลา แกนของโลกจะวางตัวในแนวเอียงจากแนวตั้งฉากกับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 23.5 องศา ทำให้บริเวณซีกโลกทางเหนือ และซีกโลกทางใต้ได้รับแสงสว่างและความร้อนไม่เท่ากัน จึงทำให้เกิดฤดูกาลต่าง ๆ สลับกันไปในเวลา 1 ปี เมื่อโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ
ภาพที่ 2 ภาพแสดงวงลักษณะโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ใน 1 ปี ซึ่งมีผลต่อการเกิดฤดูกาล
ที่มา: ศุภาวิตา จรรยา ดัดแปลงจาก https://th.m.wikipedia.org/wiki/Seasons1.svg,Duoduoduo and Gothika
จากภาพที่ 2 เราสามารถแบ่งการโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ได้เป็น 4 ช่วงหลัก ๆ ได้แก่
- Vernal Equinox หรือวันวิสันตวิษุวัต ( ตำแหน่งที่ 1 ) ซึ่งตรงกับวันที่ 21 มีนาคม ของทุกปีโดยประมาณ จะเป็นวันที่กลางวันและกลางคืนมีความยาวเท่ากัน หรือที่เรียกว่า Equinox ( Equal Night ) ในวันนี้ดวงอาทิตย์จะขึ้นและตกตรงกับทิศพอดี และเป็นวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรมากที่สุด โดยประเทศที่อยู่ทางซีกโลกเหนือจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนประเทศฝั่งซีกโลกใต้จะเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง
- Summer Solstice หรือวันครีษมายัน ( ตำแหน่งที่ 2 ) ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน ของทุกปีโดยประมาณ เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นเฉียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด โดยจะเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูร้อน ของประเทศทางด้านซีกโลกเหนือ และเป็นวันที่ช่วงเวลากลางวันยาวกว่ากลางคืนของประเทศทางฝั่งซีกโลกเหนือ ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ เช่น ออสเตรเลีย และจะเป็นฤดูหนาว และมีช่วงเวลากลางวันสั้นกว่ากลางคืน
- Autumnal Equinox หรือวันศารทวิษุวัต ( ตำแหน่งที่ 3 ) ตรงกับวันที่ 23 กันยายน ของทุกปีโดยประมาณ โดยดวงอาทิตย์จะกลับมาขึ้นและตกตรงกับทิศพอดีอีกครั้งหนึ่ง กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน แต่ในคราวนี้ประเทศทางซีกโลกเหนือกำลังจะย่างเข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วงเนื่องจากโลกได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์ลดลงเมื่อเทียบกับฤดูร้อน ต้นไม้จึงผลัดใบทิ้ง ในขณะที่ประเทศทางซีกโลกใต้ก็กำลังจะเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ
- Winter Solstice หรือวันเหมายัน ( ตำแหน่งที่ 4 ) ตรงกับวันที่ 21 ธันวาคมโดยประมาณ โลกหันซีกโลกใต้เข้าหาดวงอาทิตย์ ทิศทางดวงอาทิตย์ขึ้นจะเฉียงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด ทำให้ประเทศทางซีกโลกใต้มีกลางวันยาวกว่ากลางคืน ซีกโลกใต้จะย่างเข้าสู่ฤดูร้อน โดยทางซีกโลกเหนือจะย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ประเทศทางซีกโลกเหนือมีกลางวันสั้นกว่ากลางคืน
เมื่อแบ่งพื้นที่โลกของเราตามสภาพภูมิอากาศ สามารถแบ่งเขตภูมิอากาศในแต่ละซีกโลกออกเป็น 3 เขต ดังนี้
- เขตอากาศหนาว ( Frigid zone ) อยู่เหนือเส้นอาร์คติกเซอร์เคิล ซึ่งตั้งอยู่ที่ละติจูด 5° เหนือ ขึ้นไป ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, รัสเซีย, ไอซ์แลนด์, สวีเดน, ฟินแลนด์, นอร์เวย์และกรีนแลนด์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเดนมาร์ก และฝั่งซีกโลกใต้อยู่ที่ใต้เส้นแอนตาร์คติกเซอร์เคิล ( ละติจูด 66.5° ใต้ ) ลงมา แสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นโลกเป็นมุมลาด จนในฤดูหนาวบางวันไม่มีดวงอาทิตย์ขึ้นเลย
- เขตอากาศอบอุ่น ( Temperate zone ) อยู่ระหว่างเส้นทรอปิคออฟแคนเซอร์ (ละติจูด 5° เหนือ) กับเส้นอาร์คติกเซอร์เคิล ( ละติจูด 66.5° เหนือ ) และพื้นที่ระหว่างเส้นทรอปิคออฟแคปริคอน ( ละติจูด 23.5° ใต้ ) กับเส้นแอนตาร์คติกเซอร์เคิล ( ละติจูด 66.5° ใต้ ) แสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นโลกเป็นมุมเฉียง แม้ว่าไม่มีโอกาสที่ดวงอาทิตย์จะอยู่เหนือศีรษะ แต่ก็ยังได้รับแสงอาทิตย์ตลอดปี ตัวอย่างของประเทศในเขตอากาศอบอุ่นได้แก่ อาร์เจนตินา เยอรมันนี สเปน ออสเตรีย กรีก แม็กซิโก ญี่ปุ่น ตุรกี จีน อียิปต์ ฝรั่งเศส เกาหลี เป็นต้น
- เขตอากาศร้อน ( Tropical zone ) อยู่ระหว่างเส้นทรอปิคออฟแคนเซอร์ซึ่งตั้งอยู่ที่ละติจูด 5° เหนือ กับเส้นทรอปิคออฟแคปริคอน ( ละติจูด 23.5° ใต้ ) แสงอาทิตย์ตกกระทบพื้นโลกเป็นมุมชัน และมีโอกาสที่ดวงอาทิตย์จะอยู่เหนือศีรษะได้ พื้นที่เขตนี้จึงรับพลังงานจากดวงอาทิตย์ได้มากกว่าส่วนอื่น ๆ ของโลก ตัวอย่างของประเทศที่อยู่ในเขตอากาศร้อนได้แก่ ฟิจิ มาเลเซีย ซูดาน บังกลาเทศ กานา มาลี บราซิล ฮ่องกง ไทย กัมพูชา อินเดีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม อินโดนีเซีย คิวบา เคนยา สิงคโปร์ ลาว ศรีลังกา เป็นต้น
ฤดูกาลในโลกแบ่งตามโซนเขตอากาศ ได้ 2 แบบ ได้แก่
ประเทศในโซนเขตอากาศหนาวกับเขตอากาศอบอุ่นและแถบขั้วโลก มี 4 ฤดูกาล ได้แก่
- ฤดูใบ้ไม้ผลิ ( Spring ) หรือวสันตฤดู เริ่มต้น 21 มีนาคม และสิ้นสุด 20 มิถุนายนในซีกโลกเหนือ และเริ่มต้น 23 กันยายน สิ้นสุด 20 ธันวาคมในซีกโลกใต้ ธรรมชาติในฤดูใบไม้ผลิจะเต็มไปด้วยต้นไม้
นานาพันธุ์ ผลิดอก ออกใบงดงาม เป็นช่วงเวลาแห่งความสดชื่นเบิกบานเป็นฤดูที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา
ภาพที่ 3 บรรยากาศในฤดูใบไม้ผลิ
ที่มา: https://pixabay.com, Larisa-K
- ฤดูร้อน ( Summer ) หรือ คิมหันตฤดู ในซีกโลกเหนือจะมีระยะเวลาตั้งแต่ 21 มิถุนายน ถึง 21 กันยายน และในซีกโลกใต้เริ่มต้น 21 ธันวาคม สิ้นสุด 20 มีนาคม เป็นฤดูที่มีอากาศร้อนที่สุดในปี โดยทั่วไปในตอนกลางวันจะมีความร้อน และชื้นเป็นอย่างมาก เวลาตอนกลางวันจะยาวนานกว่ากลางคืน ฤดูร้อนเป็นช่วงเวลายอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว ที่ผู้คนหลีกหนีจากอากาศของฤดูร้อน ไปเที่ยวตามแหล่งน้ำที่เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจต่าง ๆ ได้แก่ แม่น้ำ ทะเลสาบ เขื่อน ทะเล
- ฤดูใบไม้ร่วง ( Fall ) หรือสารทฤดู อยู่ระหว่างฤดูร้อนและฤดูหนาว ในซีกโลกเหนือจะเริ่มต้นวันที่ 22 กันยายน สิ้นสุดวันที่ 20 ธันวาคม และในซีกโลกใต้ เริ่มต้นวันที่ 21 มีนาคม และสิ้นสุดลงวันที่ 20 มิถุนายน ใบไม้ในฤดูใบไม้ร่วงจะเปลี่ยนสี เนื่องมาจากในฤดูร้อนที่มีกลางวันยาวนานแต่กลางคืนนั้นสั้น มีแสงแดดและดินที่อุดมด้วยน้ำเพียงพอสำหรับกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง แต่เมื่อฤดูใบไม้ร่วงย่างเข้ามา อากาศจะเริ่มเย็นลง กลางวันจะสั้นลงและกลางคืนจะยาวขึ้น การเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้พืชทราบว่าฤดูกาลกำลังจะเปลี่ยน และเป็นสัญญาณเตือนให้พืชเตรียมตัวสำหรับสภาพอากาศอันเลวร้ายและหนาวจัดของฤดูหนาวที่พืชไม่มีน้ำและแสงเพียงพอสำหรับการสร้างอาหารอีกต่อไป เพื่อความอยู่รอดพืชจึงต้องสลัดใบของมันทิ้งไปเพื่อลดการใช้พลังงาน
ภาพที่ 4 บรรยากาศในฤดูใบไม้ร่วง
ที่มา: https://pixabay.com, Kareni
- ฤดูหนาว ( Winter ) หรือเหมันตฤดู เป็นฤดูกาลที่มีอุณหภูมิต่ำที่สุดในรอบปี ในซีกโลกเหนือ ระยะเวลาเริ่มต้น 21 ธันวาคม ถึง 20 มีนาคม และในซีกโลกใต้เริ่มต้น 21 มิถุนายน สิ้นสุด 20 กันยายน ในประเทศเขตอบอุ่นสภาพภูมิอากาศในฤดูหนาวจะแห้ง และท้องฟ้าโดยทั่วไปมักจะเป็นสีฟ้า สภาพแวดล้อมโดยทั่วไปเต็มไปด้วยสีขาวโพลนของหิมะ ในแถบประเทศที่มีภูเขาสูงจะมีหิมะปกคลุมภูเขาอยู่ขาวนวล แม่น้ำลำคลอง และทะเลสาบ บางแห่งจะกลายเป็นน้ำแข็ง กิจกรรมที่นิยมในฤดูนี้ ได้แก่ เล่นสกี ถไลสโนว์บอร์ดลงไปตามเนินหิมะ และเป็นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองของผู้คนทั่วโลกในเทศกาลคริสต์มาสและวันขึ้นปีใหม่ ที่เต็มไปด้วยการประดับประดาไฟ ต้นคริสต์มาส การแต่งกาย
ภาพที่ 5 บรรยากาศในช่วงฤดูหนาว
ที่มา : https://www.pexels.com, Simon Materzinger
ประเทศที่ตั้งอยู่ในโซนเขตอากาศร้อน จะมี 3 ฤดู ได้แก่ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว ซึ่งผู้เขียนจะให้รายละเอียดเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับฤดูกาลประเทศไทย ดังนี้
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ถึงประมาณกลางเดือนพฤษภาคม เป็นช่วงที่มีท้องฟ้าแจ่มใสที่สุดแต่มีอุณหภูมิสูงที่สุด น้ำในแม่น้ำบางแห่งลดลงและแห้งขอดและมีอากาศร้อนจัดโดยทั่วไป และจะร้อนมากที่สุดในเดือนเมษายน แม้ว่าโดยทั่วไปอากาศจะร้อนและแห้งแล้ง แต่ในบางครั้งอาจมีมวลอากาศเย็นจากประเทศจีนแผ่ลงมาถึงประเทศไทยตอนบน ทำให้เกิดการปะทะกันระหว่างมวลอากาศเย็นที่แผ่ลงมากับมวลอากาศร้อนที่ปกคลุมอยู่เหนือประเทศไทย ส่งผลให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง หรืออาจมีลูกเห็บตกลงมาด้วย พายุฝนฟ้าคะนองที่เกิดขึ้นในฤดูนี้เรียกว่า “พายุฤดูร้อน” เทศกาลในฤดูร้อนที่ช่วยผ่อนคลายความร้อนของคนไทย ได้แก่ เทศกาลสงกรานต์
ภาพที่ 6 บรรยากาศการเล่นน้ำในเทศกาลสงกรานต์
ที่มา: https://pixabay.com, laydown
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมถึงประมาณกลางเดือนตุลาคม ฤดูนี้ประเทศไทยได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และ มรสุมตะวันออกฉียงเหนือ โดยจะเริ่มต้นเมื่อมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นลมชื้นพัดปกคลุมประเทศไทย ทำให้มีฝนตกชุกโดยทั่วไป แบ่งออกเป็นช่วงเวลา ดังนี้
- ช่วงต้นเดือนพฤษภาคม ร่องความกดอากาศต่ำจะพาดผ่านภาคใต้แล้วจึงเลื่อนขึ้นไปทางเหนือตามลำดับ จนถึงปลายเดือนมิถุนายนจะพาดผ่านอยู่บริเวณประเทศจีนตอนใต้ ทำให้ฝนในประเทศไทยลดลงระยะหนึ่ง เรียกว่า “ฝนทิ้งช่วง” ประมาณ 1 – 2 สัปดาห์หรือบางปีอาจนานนับเดือน
- ในเดือนกรกฎาคม ร่องความกดอากาศต่ำจะเลื่อนกลับลงมาจากทางตอนใต้ของประเทศจีน พาดผ่านบริเวณประเทศไทยอีกครั้ง ทำให้มีฝนชุกต่อเนื่อง และปริมาณฝนเพิ่มขึ้น
- ช่วงเดือนตุลาคม ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเข้ามาปกคลุมประเทศไทย แทนที่มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ในเขตภูมิภาคตอนบนของประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะเริ่มมีอากาศเย็นและฝนลดลง ส่วนในภาคใต้จะมีฝนตกชุกต่อไปจนถึงเดือนธันวาคม และอาจตกหนักมากจนถึงขั้นเกิดอุทกภัย
- ในช่วงกลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนพฤศจิกายน จะเป็นช่วงเปลี่ยนฤดูจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว มีอากาศแปรปรวนไม่แน่นอน อาจเริ่มมีอากาศเย็น หรืออาจยังมีฝนฟ้าคะนอง เรียกว่า “ระยะเปลี่ยนจากฤดูฝนไปฤดูหนาว”
ในฤดูนี้ประเทศไทยเป็นฤดูแห่งการเพาะปลูก โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจของไทย เพราะมีน้ำ จากฝนที่ตกลงมา แต่ในบางปีเกิดฝนทิ้งช่วงนานกว่าปกติ ในพื้นที่ที่มีแหล่งชลประทานไม่เพียงพอ ทำให้พืชไม่เจริญเติบโตเต็มที่ก่อให้เกิดผลผลิตที่ตกต่ำได้
ภาพที่ 7 ภาพการเริ่มต้นเพาะปลูกในฤดูฝน
ที่มา: https://pixabay.com, nandhukumar
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ เป็นระยะที่ขั้วโลกใต้หันเข้าหาดวงอาทิตย์ ตำแหน่งลำแสงของดวงอาทิตย์ทำมุมฉากกับผิวพื้นโลก ขณะเที่ยงวันจะอยู่ทางซีกโลกใต้ ทำให้ลำแสงที่ตกกระทบกับพื้นที่ในประเทศไทยเป็นลำแสงเฉียงตลอดเวลา ทำให้อากาศในประเทศไทยหนาวเย็นโดยทั่วไป เว้นแต่ในภาคใต้จะไม่ค่อยหนาวนัก และบริเวณชายฝั่งตะวันออกของภาคใต้จะมีฝนตกชุกในช่วงนี้ ในฤดูนี้ผู้คนนิยมไปท่องเที่ยวตามแหล่งภูเขา เพื่อสัมผัสอากาศหนาว ชมทะเลหมอก และชมไม้เมืองหนาวที่ผลิดอก ในช่วงฤดูนี้
ภาพที่ 8 บรรยากาศการท่องเที่ยวในฤดูหนาว
ที่มา: https://www.maxpixel.net/Travel-Girl-Sky-Outdoors-Nature-3256059
แหล่งที่มา
กระทรวงศึกษาธิการ. การเกิดฤดูกาล. สืบค้นเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2562 จาก https://www.youtube.com/watch?v=2pcxAU70AvE
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โลกและดาราศาสตร์. เขตภูมิอากาศโลก. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2562 จาก https://sites.google.com/a/lesa.biz/www/earth/atmosphere/earthzones
www.reference.com. Which Countries Lie in the Frigid Zones?. Retrieved October 17, 2019 from https://www.reference.com/geography/countries-lie-frigid-zones-
45ca27d08fb9fe5f
กลับไปที่เนื้อหา
ปรากฏการณ์จันทรุปราคา
ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดขึ้นนอกโลกที่ผู้สังเกตสามารถมองเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับดวงจันทร์ได้อย่างชัดเจน อันเกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ สามารถเรียกว่าอุปราคาของดวงจันทร์ก็ได้ ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเกิดขึ้นในวันพระจันทร์เต็มดวง หรือวันเพ็ญ ซึ่งเกิดจากการโคจรของโลกรอบ ๆ ดวงอาทิตย์ และ การโคจรของดวงจันทร์รอบโลก เมื่อโลกโคจรมาอยู่ระหว่างดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ปรากฏการณ์จันทรุปราคาจะเกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงาของโลก ซึ่งเราทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าดวงจันทร์เป็นดาวเคราะห์ที่ไม่มีแสงในตัวเอง แสงที่เรามองเห็นจากดวงจันทร์นั้นเกิดจากแสงเกิดการสะท้อนมาจากดวงอาทิตย์ตกกระทบไปยังพื้นผิวของดวงจันทร์ ทำให้คนบนโลกมองเห็นดวงจันทร์มีแสงสว่าง และมีรูปร่างเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละช่วง ในระหว่างที่เกิดจันทรุปราคาแสงที่มาจากดวงอาทิตย์ถูกปิดบังโดยโลก ทำให้แสงจากดวงอาทิตย์ไม่ได้สัมผัสโดยตรงกับพื้นผิวของดวงจันทร์ ดังนั้น ความสว่างของดวงจันทร์จึงลงลดอย่างรวดเร็ว ซึ่งดวงจันทร์ไม่ได้ถูกบดบังจนมองไม่เห็นทีเดียว แต่ยังมีแสงจากชั้นบรรยากาศของโลกสะท้อนมาถึงพื้นผิวของดวงจันทร์เล็กน้อย ทำให้เราสามารถมองเห็นดวงจันทร์ในขณะนั้นอยู่บ้าง ในขณะที่เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา ดวงจันทร์จะมืด หรือจางลงเพียงชั่วขณะหนึ่งเท่านั้น ซึ่งปรากฏการณ์จันทรุปราคามีความเกี่ยวพันกับความเชื่อที่ไม่เป็นวิทยาศาสตร์ของผู้คนในประเทศต่าง ๆ รวมถึงผู้คนในประเทศไทยที่มีความเชื่อต่อปรากฏการณ์จันทรุปราคาว่าเกิดจากพระราหูกำลังกลืนกินดวงจันทร์เข้าไป สร้างความกลัว ความตื่นตระหนกให้ผู้คนเป็นอย่างมาก ต่างก็เอาฆ้อง โหม่ง เกราะออกมาเคาะ ตีกันให้เสียงดังระงมไปหมด บ้างก็เอาปืนผา หน้าไม้ออกมายิง หาข้าวของออกขว้างปา ส่งเสียงตะโกนไล่พระราหูกัน เพราะต้องการให้พระราหูตกใจและคายดวงจันทร์ออกมา เมื่อผู้คนทำเช่นนั้นได้ครู่หนึ่ง พระจันทร์ก็กลับมาสว่างเหมือนเดิม กลายเป็นความเชื่อของคนโบราณเช่นนั้นสืบต่อมา จนกระทั่งถึงยุคที่วิทยาศาสตร์สามารถอธิบายได้ และการศึกษาวิทยาศาสตร์เข้าถึงผู้คนมากยิ่งขึ้น จึงมีความเข้าใจว่าปรากฏการณ์จันทรุปราคาไม่ใช่เหตุการณ์ราหูอมจันทร์อย่างที่ทุกคนเคยเชื่อ จึงยกเลิกการตีเคาะฆ้องโหม่งกันตั้งแต่นั้นมา
ภาพที่ 1 ปรากฏการณ์จันทรุปราคา
ที่มา: https://www.pexels.com/th-th/photo/2673802/, Sylvia Nenntwich
ภาพที่ 2 ปฏิสัมพันธ์ของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา
ที่มา: www.suparco.gov.pk, courtsy of hermit.org
บริเวณของเงา
เงาที่เกิดจากโลกเคลื่อนที่เข้ามาบดบังทางเดินของแสงจากดวงอาทิตย์ มี 2 ส่วนด้วยกันได้แก่
- เงามืด ( Umbra Shadow )
แสงจากดวงอาทิตย์ที่ถูกโลกบังไว้ทั้งหมด เราจึงเห็นมองเห็นดวงจันทร์มืดสนิท หากอยู่ในบริเวณที่ถูกบดบังในบริเวณเงามืดนี้ เราอาจจะมองเห็นแสงสีแดงเรือง ๆ โดยรอบดวงจันทร์ อันเกิดจากการกระเจิงของแสงที่ชั้นบรรยากาศของโลก
- เงามัว ( Penumbra Shadow )
แสงจากดวงอาทิตย์ถูกโลกบังไว้บางส่วน แต่ไม่ทั้งหมด เมื่อดวงจันทร์ผ่านเข้ามาในบริเวณเงามัวเราจะเห็นว่าดวงจันทร์มืดลง เนื่องจากปริมาณแสงสะท้อนที่ตกกระทบพื้นผิวดวงจันทร์ลดลง จนบางครั้งทำให้เรามองเห็นดวงจันทร์ด้วยตาเปล่าได้ยาก
เราสามารถมองเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาจากโลกได้หลากหลายรูปแบบ โดยอาจจะเห็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาในเงามืดและเงามัว ซึ่งปรากฏการณ์จันทรุปราคาจะเกิดขึ้นในรูปแบบที่แตกต่างกันนั้น ขึ้นอยู่กับระยะห่างของดวงจันทร์และจุดศูนย์กลางของเงา ดังแสดงให้เห็นในภาพด้านล่างนี้ แสดงให้เห็นโอกาสในการเกิดจันทรุปราคาแบบเต็มดวง ( Total Eclipse ) จันทรุปราคาบางส่วน ( Partial Eclipse ) และจันทรุปราคาแบบเงามัว ( Penumbra Eclipse )
ภาพที่ 3 ปฏิสัมพันธ์ของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคา
ที่มา: www.suparco.gov.pk, courtsy of hermit.org
ดังนั้น เราสามารถแบ่งลักษณะของการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาได้ 3 ลักษณะ ดังนี้
- ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ( Total Eclipse )
- ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน ( Partial Eclipse )
- ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว ( Penumbra Eclipse )
- ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ( Total Eclipse ) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ถูกเงาของโลกบดบังทั้งหมด เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งเงามืดของโลก และไม่มีแสงจากดวงอาทิตย์ส่องตรงมายังดวงจันทร์ ทำให้ดวงจันทร์มืดสนิท แต่ถึงอย่างไรก็ตามการหักเห หรือการเลี้ยวเบนของแสงที่เกิดขึ้นขณะที่มีปรากฏการณ์จันทรุปราคา ทำให้มองเห็นดวงจันทร์มืดที่มีสีแดง ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับเงื่อนไขอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นสีของดวงจันทร์อีก เช่น เมฆที่ปกคลุม ฝุ่นที่เกิดจากการระเบิดของภูเขาไฟ และยังขึ้นอยู่กับสีของดวงจันทร์ที่จะทำให้สีที่มองเห็น ใกล้เคียงสีดำ ไปจนถึงสีสนิม สีแดงอิฐ สีทองแดงสว่าง หรือสีส้ม
ภาพที่ 4 การเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเต็มดวง
ที่มา: www.suparco.gov.pk, courtsy of hermit.org
- ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน ( Partial Eclipse ) ส่วนหนึ่งของดวงจันทร์อยู่ในบริเวณที่เป็นเงามืดของโลก หากสังเกตจากโลก เราจะเห็นดวงจันทร์มีเงาบางส่วน ทำให้เราเห็นดวงจันทร์เกือบจะไม่เต็มดวง
ภาพที่ 5 ปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบบางส่วน
ที่มา: https://pxhere.com/th/photo/1199243
- ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัว ( Penumbra Eclipse ) เกิดจากดวงจันทร์เต็มดวงเข้าสู่พื้นที่เงามัวของโลก แสงจากโลกถูกบดบังบางส่วน และทำให้ดวงจันทร์มืดลง ซึ่งอาจจะเกิดจันทรุปราคาแบบเงามัวบางส่วน และเงามัวเต็มดวง ถึงอย่างไรก็ตามเราพบว่า ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเงามัวส่วนใหญ่เป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเงามัวบางส่วน
ภาพที่ 6 การเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาแบบเงามัว
ที่มา: www.suparco.gov.pk, courtsy of hermit.org
แหล่งที่มา
Pakistan Space & Upper Atmosphere Research Commission. Lunar Eclipse. Retrieved October 15, 2019, from http://www.suparco.gov.pk/downloadables/Lunar%20
Eclipse.pdf
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โลก และดาราศาสตร์. จันทรุปราคา. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 จาก http://www.lesa.biz/astronomy/astro-events/lunar-eclipse
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน). ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 จาก http://www.narit.or.th/index.php/nso/1713-total-lunar-eclipse-2557
กลับไปที่เนื้อหา
ปรากฏการณ์สุริยุปราคา
ปรากฏการณ์สุริยุปราคา เรียกอีกอย่างว่า สุริยคราส เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากปฏิสัมพันธ์ของดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โดยที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเข้ามาอยู่บนเส้นแนวระหว่างดวงอาทิตย์และโลก ทำให้เงาของดวงจันทร์ที่ขวางทางเดินแสงจากดวงอาทิตย์ที่ส่งมายังโลกตกกระทบไปยังพื้นผิวบางส่วนของโลก และยังทำให้ผู้สังเกตบนโลกมองเห็นดวงอาทิตย์ถูกดวงจันทร์บดบังอีกด้วย
ซึ่งหากเราสังเกตปรากฏการณ์บนท้องฟ้า เราจะพบว่าในทุก ๆ เดือน จะมีช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก อยู่บนแนวระนาบเดียวกัน แต่ไม่ได้เกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาทุก ๆ เดือน นั่นเป็นเพราะว่าดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นมุมประมาณ 5 องศา ซึ่งสัมพันธ์กับระนาบของดวงอาทิตย์และโลก ดวงจันทร์เคลื่อนที่ข้ามระนาบวงโคจรของโลกเพียงปีละ 2 ครั้งเท่านั้น เราเรียกเวลานั้นว่า ฤดูอุปราคา เพราะเป็นช่วงเวลานี้เท่านั้นที่สามารถเกิดอุปราคาได้ในแต่ละปี โดยที่ดวงจันทร์จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องเหมาะสมในช่วงฤดูอุปราคาด้วย จึงจะเกิดอุปราคาได้ สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาจะเกิดขึ้นในช่วงที่พระจันทร์เต็มดวงเท่านั้น ซึ่งเงื่อนไขดังกล่าวนี้ ทำให้ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเกิดขึ้นได้ยากกว่าปรากฏการณ์จันทรุปราคา
ปรากกฏการณ์สุริยุปราคาเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ แต่เมื่อครั้งโบราณกาล มนุษย์มีความเชื่อในปรากฏสุริยุปราคาว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เหนือธรรมชาติ ต่างมองว่าเป็นสิ่งที่แปลกประหลาดและเป็นลางร้าย โดยเฉพาะปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวงยิ่งทำให้คนที่ไม่รู้เรื่องราวดาราศาสตร์เกิดความหวาดกลัวได้ เพราะในช่วงปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์จะมืดหายไปในช่วงกลางวัน ทำให้ท้องฟ้าพลางมืดดำไปด้วยชั่วขณะ
ปรากฏการณ์สุริยุปราคาเกิดขึ้นเฉพาะในวันแรม 15 ค่ำ แต่ไม่ได้เกิดในทุกเดือน จะเกิดเมื่อดวงจันทร์เคลื่อนที่อยู่ระหว่างโลกและดวงอาทิตย์ ทำให้ขวางทางเดินแสงจากดวงอาทิตย์ที่จะส่องมายังโลก ทำให้เงาของดวงจันทร์ตกทอดไปยังโลก และการมองเห็นของผู้สังเกตการณ์ที่อยู่บนโลก เงาของดวงจันทร์ที่ตกทอดไปยังผิวโลกส่วนที่มืดที่สุด เรียกว่า เงามืด ( Umbra ) เป็นเงาที่เกิดจากการกีดขวางทางเดินของแสงดวงอาทิตย์โดยตรง ผู้คนที่อาศัยอยู่ภายใต้บริเวณที่เงามืดตกทอดลงมา จะมองเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบเต็มดวง ส่วนบริเวณอื่น ๆ เป็นเงาที่มีความเข็มน้อยกว่าบริเวณเงามืด มีขนาดของเงาใหญ่กว่าเงามืด เรียกเงานี้ว่า เงามัว ( Penumbra ) ผู้คนที่อาศัยอยู่ภายใต้เงามัวนี้จะมองเห็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบบางส่วน เพราะสามารถมองเห็นดวงจันทร์ได้บางส่วน
เราสามารถจำแนกลักษณะของการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาได้ 4 ลักษณะ ได้แก่
- สุริยุปราคาแบบเต็มดวง ( Total Solar Eclipse ) เกิดขึ้นเมื่อเงามืดของดวงจันทร์บดบังแสงสว่างของดวงอาทิตย์ที่กำลังส่งมายังโลกอย่างสมบูรณ์ กล่าวคือดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์ได้ทั้งดวง ในขณะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบเต็มดวงนี้ ผู้คนที่อยู่บนโลกสามารถสังเกตเห็นโคโรนาของดวงอาทิตย์ได้ชัดเจนมากขึ้น ซึ่งหากเป็นช่วงปกติที่ไม่เกิดปรากฏการณ์นี้เราจะมองเห็นดวงอาทิตย์สว่างจ้าไปทั้งหมดจนไม่สามารถแยกส่วนที่เป็นโคโรนาของดวงอาทิตย์ได้ด้วยตาเปล่า
ภาพที่ 1 ภาพสุริยุปราคาแบบเต็มดวง
ที่มา: www.publicdomainpictures.net/, Piotr Siedlecki
- สุริยุปราคาแบบวงแหวน (Annular Solar Eclipse ) เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์และดวงจันทร์อยู่บนระนาบเส้นตรงเดียวกันอย่างแท้จริง แต่ขนาดปรากฏของดวงจันทร์เล็กกว่าดวงอาทิตย์ ทำให้ไม่สามารถบังแสงของดวงอาทิตย์ได้สนิท ทำให้ผู้คนสามารถมองเห็นแสงของดวงอาทิตย์สว่างจ้าเป็นเส้นโดยรอบดวงจันทร์ซึ่งเรามองเห็นเป็นแผ่นกลม มองเห็นคล้ายวงแหวน จึงเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า สุริยุปราคาแบบวงแหวน
ภาพที่ 2 ภาพสุริยุปราคาแบบวงแหวน
ที่มา: www.flickr.com/, Takeshi Kuboki
- สุริยุปราคาแบบบางส่วน ( Partial Solar Eclipse ) เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ไม่ได้อยู่บนระนาบเดียวกันทีเดียว ทำให้บางส่วนของดวงจันทร์เท่านั้นที่บดบังทางเดินแสงของดวงอาทิตย์ ทำให้เรามองเห็นแผ่นกลมดวงจันทร์บังแสงบางส่วน
ภาพที่ 3 ภาพสุริยุปราคาแบบบางส่วน
ที่มา: www. pixabay.com, skeeze
- สุริยุปราคาแบบผสม ( Hybrid Solar Eclipse ) เป็นปรากฏการณ์ที่มีความก้ำกึ่งอยู่ระหว่างสุริยุปราคาแบบเต็มดวง และแบบวงแหวน เราสามารถสังเกตเห็นสุริยุปราคา ณ ตำแหน่งหนึ่งเป็นแบบเต็มดวง ในขณะเดียวกัน ณ ตำแหน่งอื่น ๆ เราจะมองเห็นสุริยุปราคาแบบวงแหวน ซึ่งปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบผสมเป็นลักษณะของสุริยุปราคาที่สังเกตเปรียบเทียบกันยากมาก
ข้อควรระมัดระวังขณะดูปรากฏการณ์สุริยุปราคา
ข้อควรระมัดระวังสำคัญคือห้ามมองสุริยุปราคาด้วยตาเปล่า หรือห้ามมองโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นปรากฏการณ์สุริยุปราคาลักษณะใดก็ตาม ต้องมีอุปกรณ์ช่วยมอง เพราะแสงจ้าของดวงอาทิตย์สามารถทำลายสายตาของเรา รุนแรงที่สุดถึงขั้นตาบอดได้ ควรสวมใส่แว่นป้องกันตาพิเศษ
ภาพที่ 4 แว่นป้องกันตา สำหรับมองปรากฏการณ์สุริยุปราคา
ที่มา: www. pixabay.com, Dave Davidson
ประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตร์โลกที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์สุริยุปราคา
เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2411 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 4 ทรงพระปรีชาสามารถทางดาราศาสตร์ คณิตศาสตร์ ทรงคำนวณวัน เวลา การเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาแบบเต็มดวงได้อย่างแม่นยำล่วงหน้าถึง 2 ปี ทรงเชิญนานาประเทศมาชมปรากฏการณ์นี้พร้อมกัน อีกทั้งยังทรงระบุบริเวณที่สามารถมองเห็นปรากฏการณ์ดังกล่าวได้อย่างชัดเจน ณ ตำบลหว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พระองค์ทรงแสดงพระปรีชาสามารถให้นานาประเทศเห็นเป็นที่ประจักษ์เป็นที่ยอมรับ ทรงได้รับการยกย่องเป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ของไทย และวันที่ 18 สิงหาคม ของทุก ๆ ปี ถูกกำหนดให้เป็นวันวิทยาศาสตร์ของประเทศไทย และยังได้รับการถวายพระราชสมัญญานามตามที่ได้บันทึกในพระสุพรรณบัฏว่า พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10
แหล่งที่มา
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (2562, 18 ตุลาคม). ในหลวง ถวายพระราชสมัญญา ร.4 “พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช”. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2562 จาก https://www.prachachat.net/royal-house/news-382298
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์ โลก และดาราศาสตร์. สุริยุปราคา. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 จาก http://www.lesa.biz/astronomy/astro-events/solar-eclipse
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน). เบื้องหลังของสุริยุปราคา. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2562 จาก http://www.narit.or.th/index.php/astronomy-article/619-solar-eclipse
กลับไปที่เนื้อหา
-
11001 ปฏิสัมพันธ์ในระบบสุริยะ /lesson-earthscience/item/11001-2019-10-28-07-12-15เพิ่มในรายการโปรด