การเปลี่ยนแปลงลมฟ้าอากาศและภูมิอากาศโลก
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก
จงบอก 1 คำที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก หรือ climate change !
หลายคนอาจบอกคำที่ตรงกัน เช่น “ภาวะโลกร้อน ( Global warming )” “แก๊สเรือนกระจก ( Greenhouse gases )” หรือ “แผ่นน้ำแข็งที่ขั้วโลกลดลง” ในบทเรียนนี้เราจะได้เรียนรู้คำเหล่านี้ รวมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความเข้าใจสถานการณ์ภูมิอากาศของโลก รวมถึงตระหนักถึงความสัมพันธ์ระหว่างกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์กับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกว่ามีผลกระทบหรือสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างไร
ภาพที่ 1 มวลน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกลดลงอย่างรวดเร็วเป็นปรากฏการณ์หนึ่งที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก
ที่มา : https://pixabay.com, SarahNic
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก ( Climate Change ) คืออะไร
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลกโดยเฉลี่ยในช่วงเวลาที่ยาวนาน ซึ่งอาจนับช่วงเวลาเป็นระยะสิบปี ร้อยปี หรือพันปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยหรือสาเหตุที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ เช่น อุกกาบาตชนโลก อาจส่งผลให้ภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงได้ในช่วงหลายสิบปี ขณะที่มลภาวะทางอากาศ อาจทำให้ภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงได้ในช่วงร้อยปี เป็นต้น
สาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก
เราสามารถแบ่งสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก เป็น 2 ปัจจัยหลัก ๆ นั่นคือ ปัจจัยทางธรรมชาติ และปัจจัยที่เกิดจากมนุษย์ โดยปัจจัยทางธรรมชาติที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงวงโคจรของโลกที่หมุนรอบดวงอาทิตย์ อุกกาบาตชนโลก เป็นต้น ส่วนปัจจัยที่เกิดจากมนุษย์นั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และส่งผลให้ภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกอันเนื่องมาจากมนุษย์เป็นหลัก
แก๊สเรือนกระจก ( Greenhouse gases )
บรรยากาศของโลกประกอบด้วยไนโตรเจน ออกซิเจน และอาร์กอน เป็นองค์ประกอบหลักของบรรยากาศ แต่ยังมีแก๊สโมเลกุลใหญ่ เช่น ไอน้ำ คาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน ไนตรัสออกไซด์ ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ และสารกลุ่มคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ซึ่งเป็นแก๊สที่มีความสามารถในการดูดกลืนรังสีอินฟราเรด ทำให้เกิดการกักเก็บความร้อนในชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้อุณหภูมิพื้นผิวโลกอบอุ่นขึ้น เราเรียกแก๊สเหล่านี้ว่า “แก๊สเรือนกระจก” ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ มีการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกสู่บรรยากาศจำนวนมาก แก๊สเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยมากที่สุด ได้แก่ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งหมุนเวียนอยู่ในวัฏจักรคาร์บอน ดังภาพที่ 2
ภาพที่ 2 วัฏจักรคาร์บอน
ที่มา : ดัดแปลงจาก https://commons.wikimedia.org/wiki/File:Carbon-cycle-full.jpg
จากภาพที่ 2 แสดงวัฏจักรคาร์บอน ซึ่งหมายถึงการหมุนเวียนของธาตุคาร์บอนในสิ่งมีชีวิต พื้นดิน น้ำ และบรรยากาศของโลก โดยเริ่มพิจารณาคาร์บอนในรูปของแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีอยู่ในบรรยากาศถูกใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสงของพืช และกลับสู่บรรยากาศได้จากกระบวนการหายใจของพืชและสัตว์ ขณะเดียวกันแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศอาจถูกสะสมในน้ำจากการถูกชะล้างด้วยฝน กลายเป็นกรดคาร์บอนิกแล้วทำปฏิกิริยากับแร่หินปูนหรือแคลเซียมคาร์บอเนต เกิดเป็นไบคาร์บอเนตหรือคาร์บอเนต ถ่ายทอดสู่แพลงก์ตอนพืชในมหาสมุทร สุดท้ายกลายเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในน้ำหรือกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศได้ด้วยกระบวนการหายใจของพืชและสัตว์ในทะเลและเป็นตะกอนทับถมเป็นซากฟอสซิลในก้นทะเลลึก คาร์บอนส่วนหนึ่งมีการถ่ายทอดไปตามห่วงโซ่อาหารจากพืชสู่สัตว์ในรูปของสารอินทรีย์ เช่น คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน เมื่อสิ่งมีชีวิตตายและถูกย่อยสลาย สารอินทรีย์ที่ในซากพืชซากสัตว์ที่ถูกทับถมเป็นเวลานาน ในบางสภาวะนั้นสามารถกลายเป็นคาร์บอนในรูปของถ่านหินหรือปิโตรเลียม แล้วถูกนำมาใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ เช่น การคมนาคมขนส่งหรือการทำงานของเครื่องจักรในภาคอุตสาหกรรมหรือในครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ทำให้คาร์บอนเปลี่ยนเป็นแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศได้อย่างรวดเร็ว และเมื่อมีปริมาณมากขึ้นจึงส่งผลให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นในระยะยาว
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก
การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกอันเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์นั้น ทำให้เกิดปรากฏการณ์ต่าง ๆ ทั่วโลกที่เป็นตัวบ่งชี้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก เช่น ภาวะโลกร้อน ( Global warming ) การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การหดตัวของธารน้ำแข็ง การหลอมเหลวของน้ำแข็งบริเวณขั้วโลก การเปลี่ยนแปลงวัฏจักรน้ำ การเปลี่ยนแปลงช่วงเวลาผลิบานของดอกไม้หรือพืช การเกิดโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ เป็นต้น โดยปรากฏการณ์ต่าง ๆ นั้นล้วนส่งผลเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน
ภาวะโลกร้อน ( Global warming ) คือ ปรากฏการณ์ที่อุณหภูมิโลกโดยเฉลี่ยสูงขึ้นในระยะยาว โดยนักวิทยาศาสตร์ ( NASA's Scientific Visualization Studio, 2020 ) พบว่าอุณหภูมิของพื้นผิวโลกเฉลี่ยในช่วงปี ค.ศ. 1980 - 2019 สูงขึ้นประมาณ 0.98 องศาเซลเซียส ( สูงกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงปี ค.ศ. 1951 – 1980 ) ซึ่งถือว่าเป็นค่าที่สูงที่สุดในรอบ 140 ปี และมีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นเรื่อย ๆ ในระยะยาว ทั้งนี้มีหลักฐานพบว่าภาวะโลกร้อนในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นเร็วกว่าอัตราเฉลี่ยของภาวะโลกร้อนในยุคน้ำแข็งประมาณ 10 เท่า จากการเก็บข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์ ทำให้พบว่าการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิโลกนี้สัมพันธ์กับปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศและสอดคล้องกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นด้วย ผลดังกล่าวสอดคล้องกับปรากฏการณ์ที่มวลน้ำแข็งบริเวณขั้วโลกลดลงอย่างรวดเร็ว จากหลักฐานการสำรวจแผ่นน้ำแข็งบริเวณเกาะกรีนแลนด์และทวีปแอนตาร์กติก พบว่าที่เกาะกรีนแลนด์ มีมวลน้ำแข็งลดลงโดยเฉลี่ย 286 พันล้านตันต่อปี (ระหว่างปี ค.ศ. 1993 – 2016) ขณะที่บริเวณทวีปแอนตาร์กติก มีมวลน้ำแข็งลดลง ประมาณ 127 พันล้านตันต่อปีในช่วงเวลาเดียวกัน เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราการสูญเสียมวลน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกนั้นเพิ่มขึ้นเป็นสามเท่าในทศวรรษที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังมีหลักฐานอื่น ๆ ที่แสดงว่าภูมิอากาศโลกกำลังเปลี่ยนแปลง เช่น ภัยธรรมชาติที่มีแนวโน้มว่าจะเกิดบ่อยครั้งและรุนแรงมากยิ่งขึ้น เช่น ภัยแล้ง ไฟป่า พายุไต้ฝุ่นโซนร้อน น้ำท่วม และการพังทลายของชั้นดิน เป็นต้น ปรากฏการณ์ที่ปะการังฟอกสีหรือการเปลี่ยนสีของปะการังอันเนื่องมาจาก อุณหภูมิของน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น จากข้อมูลดังกล่าวจึงอาจเชื่อมโยงได้ว่า เมื่อประชากรโลกเพิ่มมากขึ้น กิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ทำให้เกิดแก๊สเรือนกระจก ทำให้มีการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกสู่บรรยากาศ ( โดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ ) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนและปรากฏการณ์อื่น ๆ ตามมา จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกในที่สุด ดังภาพที่ 3
ภาพที่ 3 ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกอันเนื่องมาจากกิจกรรมของมนุษย์
ที่มา : ดัดแปลงจาก https://unsplash.com/photos/T-eDxGcn-Ok, https://unsplash.com/photos/I53vswmQqC0 และ https://unsplash.com/photos/i9w4Uy1pU-s
เราจะช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกได้อย่างไร
เป็นที่ทราบกันดีว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกในปัจจุบันคือผลที่เกิดจากปัจจัยทางธรรมชาติร่วมกับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ในอดีตที่ผ่านมาเป็นระยะเวลานาน การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของมนุษย์ในปัจจุบันจึงไม่สามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลงได้ในระยะเวลาอันสั้น อย่างไรก็ตามการลดกิจกรรมต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุของการสะสมแก๊สเรือนกระจกในบรรยากาศ ก็นับได้ว่าเป็นการช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกในระยะยาวได้ เช่น ลดกิจกรรมที่มีการใช้เชื้อเพลิงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ใช้จักรยานแทนจักรยานยนต์เมื่อเดินทางในระยะใกล้ การรับลมเย็นจากธรรมชาติทดแทนการใช้เครื่องปรับอากาศ ลดการใช้ถุงพลาสติก เป็นต้น หากจำเป็นต้องใช้พลังงานที่มีการใช้เชื้อเพลิงควรใช้อย่างประหยัดและคุ้มค่า เช่น ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ใช้งาน ใช้รถประจำทางแทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว ใช้กระดาษแต่ละแผ่นให้คุ้มค่า เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป ภูมิอากาศโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องโดยปัจจัยทางธรรมชาติ แต่ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ในการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกสู่บรรยากาศ แก๊สเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยมากที่สุด ได้แก่ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งหมุนเวียนอยู่ในวัฏจักรคาร์บอน การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อม เช่น การหลอมเหลวของน้ำแข็งขั้วโลก การเพิ่มขึ้นของระดับทะเล การเปลี่ยนแปลงวัฏจักรน้ำ การเกิดโรคอุบัติใหม่และอุบัติซ้ำ และการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นมนุษย์จึงควรเรียนรู้แนวทางการปฏิบัติตนภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว ทั้งแนวทางการปฏิบัติตนให้เหมาะสมและแนวทางการลดกิจกรรมที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลก
แหล่งที่มา
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LISA). ภาวะโลกร้อน. สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2563, จาก http://www.lesa.biz/earth/global-change/global-warming
ทรูปลูกปัญญา. บทเรียนออนไลน์ วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง ภาวะโลกร้อน (Global Warming). สืบค้นเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2563, จาก http://www.trueplookpanya.com/learning/detail/16208
NASA's Scientific Visualization Studio. Global Temperature Anomalies from 1880 to 2019. Retrieved February 20, 2020, from https://svs.gsfc.nasa.gov/4787
NASA’s Global Climate Change: Vital Signs of the Planet. Climate Change: How do we know? Retrieved February 20, 2020, from https://climate.nasa.gov/evidence/
กลับไปที่เนื้อหา
กระบวนการเกิดฝน หิมะ และลูกเห็บ
ในการที่สิ่งมีชีวิตจะดำรงชีวิตอยู่บนโลกได้นั้น อากาศเป็นปัจจัยที่สำคัญปัจจัยหนึ่ง โดยสิ่งมีชีวิตบนโลกจะต้องใช้อากาศในการหายใจ พืชต้องการแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ในการสร้างอาหาร เรื่องราวเกี่ยวกับลมฟ้าอากาศนั้นเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวเรามาก และโดยทั่วไปสภาพอากาศบนโลกของเราจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้นมนุษย์จึงต้องสนใจศึกษาการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศ เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ทั้งในการประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม
ในบทเรียนนี้ผู้เขียนขอนำเสนอความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศ ใน 3 รูปแบบ ได้แก่กระบวนการเกิดฝน หิมะ และลูกเห็บ หรือเรียกรวมกันว่า หยาดน้ำฟ้า ในแง่เปรียบเทียบว่าทั้งสามอย่างนั้นมีกระบวนการเกิดที่เหมือนหรือต่างกันอย่างไร ไปเรียนรู้กันเลยค่ะ
กระบวนการเกิดฝน
ถ้าจะอธิบายถึงกระบวนการเกิดฝน คงจะอธิบายให้ครบถ้วนกระบวนความไม่ได้ถ้าหากไม่ได้อ้างอิงถึง วัฏจักรของน้ำ เพราะฝนก็คืออีกรูปหนึ่งของน้ำ ที่เกิดและหมุนเวียนอยู่ในโลกนี้เอง
วัฏจักรของน้ำ เป็นการเปลี่ยนแปลงสถานะของน้ำระหว่าง ของแข็ง ของเหลว และแก๊ส จากสถานะหนึ่งไปสถานะหนึ่งอย่างต่อเนื่อง ไม่มีสิ้นสุดภายในอุกทกภาค ( Hydrosphere ) เริ่มต้นจากน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ของโลก ได้แก่ มหาสมุทร ห้วย หนอง คลอง บึง ทะเลสาบ ฯลฯ ได้รับความร้อนจากดวงอาทิตย์ก็จะระเหยกลายเป็นไอ ลอยตัวสูงขึ้นสู่บรรยากาศ นอกจากนี้ยังมีน้ำที่เกิดจากการคายน้ำของพืช การหายใจของสิ่งมีชีวิตอีกด้วย และเมื่อไอน้ำกระทบกับความเย็นของอากาศที่อยู่เบื้องบนก็จะควบแน่นกลายเป็นละอองน้ำเล็ก ๆ รวมตัวกันอยู่เป็นกลุ่มบนท้องฟ้า เรียกว่า เมฆ นั่นเอง เราเรียกอุณหภูมิ ณ จุดที่ไอน้ำในอากาศเกิดการควบแน่นกลายเป็นละอองน้ำ ว่า จุดน้ำค้าง ( Dew Point )
เมื่อเมฆมารวมตัวกันมาก ๆ ละอองน้ำที่รวมตัวกันเป็นก้อนเมฆเกิดการควบแน่นจนกลายเป็นหยดน้ำ และเมื่อหยดน้ำนี้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนไม่สามารถลอยอยู่บนก้อนเมฆได้อีกต่อไป ก็จะตกลงสู่พื้นดิน กลายเป็นฝน
กระบวนการเกิดลูกเห็บ
ลูกเห็บคือ ก้อนน้ำแข็งที่ตกลงมาจากฟ้าขณะเกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ส่วนมากจะเกิดขึ้นในพายุฤดูร้อน โดยเม็ดฝนที่เย็นจัดจนเป็นน้ำแข็งถูกพัดวนอยู่ในเมฆคิวมูโลนิมบัส ซึ่งภายในก้อนเมฆจะมีกระแสอากาศที่หมุนวนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทั้งกระแสลมที่ไหลขึ้น และกระแสลมที่ไหลลง เม็ดฝนหรือละอองน้ำจะถูกพัดขึ้นไป ซึ่งบริเวณที่สูงขึ้นไปเหนือระดับการแข็งตัว ( Freezing Level ) อุณหภูมิจะต่ำมากทำให้เม็ดฝนแข็งตัว และจะพบกับหยดน้ำเย็นยิ่งยวด ( Supercooled Droplet ) ซึ่งจะเกาะผิวของก้อนน้ำแข็งและแข็งตัวเคลือบก้อนน้ำแข็ง ครั้นพอเม็ดน้ำแข็งตกลงมาส่วนล่างของกลุ่มเมฆซึ่งเย็นน้อยกว่าด้านบน ความชื้นก็จะเข้าไปห่อหุ้มเม็ดน้ำแข็งอีกชั้นหนึ่ง แล้วกระแสลมก็พัดเอาเม็ดน้ำแข็งกลับขึ้นไปด้านบนของกลุ่มเมฆอีก วนซ้ำไปมาหลายครั้งในกลุ่มเมฆ ด้วยกระบวนการเช่นนี้ ทำให้เม็ดน้ำแข็งก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งอากาศด้านล่างไม่สามารถรับน้ำหนักได้ ก็จะตกลงมาสู่พื้นดิน และถ้าเราทุบก้อนลูกเห็บให้แตกออก เราจะเห็นภายในลักษณะเป็นวงของชั้นน้ำแข็ง คล้ายหัวหอม ซึ่งแสดงถึงกระบวนการเกิดของลูกเห็บที่มีการพอกตัวของไอน้ำเป็นชั้น ๆ นั่นเอง
ภาพกระบวนการเกิดลูกเห็บ
กระบวนการเกิดหิมะ
หิมะ เป็นหยาดน้ำฟ้ารูปแบบหนึ่ง อยู่ในรูปของผลึกน้ำแข็ง มีโครงสร้างที่กลวงทำให้มีความนุ่ม เมื่อสัมผัส เกิดจากไอน้ำที่เป็นหยดน้ำเย็นยิ่งยวด ( Supercooled Droplet ) เกิดการระเหิดกลับเปลี่ยนสถานะเป็นของแข็ง โดยอาศัยแกนซึ่งเรียกว่า “แกนน้ำแข็ง” ( Ice nuclei ) เพื่อให้ไอน้ำจับตัวเป็นผลึกน้ำแข็ง น้ำเย็นยิ่งยวดจะเกิดการระเหิดกลับเช่นนี้ได้ ในก้อนเมฆมีน้ำครบทั้งสามสถานะ คือ น้ำแข็ง หยดน้ำ และไอน้ำ และมีแรงดันไอน้ำที่แตกต่างกัน ผลึกน้ำแข็งจะมีขนาดใหญ่ขึ้นเมื่อปะทะกับหยดน้ำเย็นยิ่งยวดซึ่งจะทำให้เกิดการเยือกแข็งและรวมตัวให้ผลึกมีขนาดใหญ่ยิ่งขึ้นไปอีก นอกจากนั้นผลึกน้ำแข็งอาจจะปะทะกันเอง จนทำให้เกิดผลึกขนาดใหญ่ที่เรียกว่า “เกล็ดหิมะ” ( Snow flake )
หิมะจะเกิดในบริเวณเขตหนาวที่มีอุณหภูมิของอากาศใต้ฐานเมฆไปจนถึงพื้นดินลดต่ำกว่า 0 องศาเซลเซียส จึงจะสามารถตกลงสู่พื้นโลกในขณะที่เป็นผลึกน้ำแข็งอยู่ หิมะที่ตกลงมานั้นจะไม่มีรูปร่างเป็นก้อนกลม ๆ เหมือนลูกเห็บ หิมะจะมีลักษณะเป็นผลึกบาง ๆ รูปร่างของผลึกก็จะแตกต่างกันไปแต่โดยส่วนมากจะเป็นสมมาตรแบบหกด้านเสมอ เนื่องมาจากเกล็ดน้ำแข็งปกตินั้นมีโครงสร้างผลึกหกเหลี่ยม
ในการเกิดปรากฏการณ์หยาดน้ำฟ้าทั้งสามชนิด เป็นการเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล ซึ่งเป็นเรื่องปกติในการเปลี่ยนแปลงของลม ฟ้า อากาศบนโลก และเป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลก แต่บางครั้งหากเกิดในสภาวะที่รุนแรงเกินไปก็อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตได้ เช่น พายุฝนที่รุนแรง อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน ลูกเห็บมีความแข็งเป็นก้อนน้ำแข็งสามารถสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน พายุหิมะ ก่อให้เกิดการบดบังทัศนวิสัยทำให้นักบินไม่สามารถนำเครื่องบินขึ้นหรือลงได้ เป็นต้น
แหล่งที่มา
บทเรียนออนไลน์ กระทรวงศึกษาธิการ. การเกิดหมอก เมฆ และฝน. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2563, จาก https://www.youtube.com/watch?v=g5Et-Ec-BSE
ศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ ( LESA ). หยาดน้ำฟ้า. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2563, จาก http://www.lesa.biz/earth/atmosphere/precipitation
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ( สวทช. ). ลูกเห็บคืออะไร?. สืบค้นเมื่อ 13 เมษายน 2563, จาก https://www.nstda.or.th/th/vdo-nstda/science-day-techno/4090-hail
Thai PBS. ลูกเห็บเกิดขึ้นได้อย่างไร? (How does hail form?). สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2563, จาก https://www.youtube.com/watch?v=ySix4t56Rd8
กลับไปที่เนื้อหา
ปรากฏการณ์เรือนกระจก
ดวงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญที่สุดต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตบนโลก พลังงานความร้อนที่กระจายจากดวงอาทิตย์มายังโลก เรียกว่า รังสีดวงอาทิตย์ หรือพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งแผ่พลังงานมายังโลกในลักษณะคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เมื่อรังสีคลื่นสั้นจากดวงอาทิตย์ส่องมายังพื้นผิวโลก ชั้นบรรยากาศของโลกจะสะท้อนรังสีส่วนหนึ่งกลับออกไปสู่อวกาศ รังสีดวงอาทิตย์ที่มาถึงพื้นผิวโลกจะมีความยาวคลื่นตั้งแต่ช่วงยูวี ( Ultra Violet ) แสงสว่าง ( Visible ) ไปจนถึงอินฟราเรด ( Infrared ) มีความยาวคลื่นอยู่ระหว่าง 300 – 3000 นาโนเมตร โดยรังสีจากดวงอาทิตย์ที่มาถึงผิวโลกส่วนมากจะเป็นรังสีในช่วงแสงสว่าง ( Visible ) มีความยาวคลื่นในช่วง 400 - 700 นาโนเมตร
ภาพที่ 1 แผนผังสรุปการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก
ที่มา : https:// commons.wikimedia.org/, US EPA
เมื่อโลกได้รับรังสีจากดวงอาทิตย์พื้นน้ำ พื้นดิน และสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ จะดูดกลืนพลังงานไว้ และหลังจากนั้นก็จะคายพลังงานออกมาในรูปของรังสีอินฟราเรด แผ่กระจายขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ และแผ่กระจายออกนอกชั้นบรรยากาศไปส่วนหนึ่ง กลุ่มแก๊สเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศจะทำหน้าที่ดูดกลืนไว้ และคายพลังงานความร้อนออกมา ทำให้อากาศใกล้ผิวโลกอุ่นขึ้น และทำให้โลกสามารถรักษาสภาพสมดุลทางอุณหภูมิไว้ได้ ปรากฏการณ์ดังกล่าว เรียกว่า ปรากฏการณ์เรือนกระจก
ปรากฏการณ์เรือนกระจก ชื่อมีที่มาจากเรือนกระจก ( Greenhouse ) ที่ประเทศในเขตหนาวนิยมใช้ในการเพาะปลูกต้นไม้ กลไกที่เกิดในเรือนกระจกคือ พลังงานแสงอาทิตย์สามารถผ่านเข้าไปภายในได้แต่ความร้อนที่อยู่ภายในจะถูกกักเก็บโดยกระจกไม่ให้สะท้อนหรือแผ่ออกสู่ภายนอกได้ทำให้อุณหภูมิของอากาศภายในอบอุ่น และเหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของพืชแตกต่างจากภายนอกที่ยังหนาวเย็น แต่อันที่จริงแล้วปรากฏการณ์เรือนกระจกที่เกิดบนโลกมีกลไกในการเกิดแตกต่างปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเรือนกระจก กล่าวคือ ความร้อนที่โลกคายออกมาในรูปของรังสีอินฟราเรด ไม่ได้ถูกกักเก็บไว้ในโลกทั้งหมด มีบางส่วนสามารถแผ่กระจายออกไปนอกบรรยากาศได้
แก๊สเรือนกระจก ( Greenhouse Gases )
แก๊สเรือนกระจก คือแก๊สที่เป็นองค์ประกอบของบรรยากาศโลกซึ่งห่อหุ้มโลกไว้ เสมือนเรือนกระจก ในโรงเรือนอนุบาลพืช มีคุณสมบัติในการดูดซับคลื่นรังสีความร้อน หรือรังสีอินฟราเรดได้ดี แก๊สนี้ มีความสำคัญในการรักษาระดับอุณหภูมิของโลกให้คงที่ ถ้าหากไม่มีแก๊สเรือนกระจกแล้ว กลางคืนโลกจะเย็นมากอุณหภูมิเฉลี่ยที่พื้นผิวโลกจะประมาณ -18 °C และในกลางวันโลกของเราก็จะร้อนมากเช่นกัน แก๊สเรือนกระจกมีมาจากสองแหล่งคือเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเกิดจากการกระทำของมนุษย์ ได้แก่ ไอน้ำ ( H2O ) แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ( CO2 ) แก๊สมีเทน ( CH4 ) แก๊สไนตรัสออกไซด์ ( NO2 ) ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ ( SF6 ) ไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน ( HFCs ) เปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ( PFCs ) ไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ ( NF3 ) และสารกลุ่มคลอโรฟลูออโรคาร์บอน ( Chlorofluorocarbon หรือ CFC )
แก๊สเรือนกระจกที่ถูกควบคุมโดยพิธีสารเกียวโต มีเพียง 7 ชนิด โดยจะต้องเป็นก๊าซที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ ( Anthropogenic greenhouse gas emission ) เท่านั้น ได้แก่ แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ แก๊สมีเทน แก๊สไนตรัสออกไซด์ แก๊สไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน แก๊สเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน ซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ ทั้งนี้ ยังมีแก๊สเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์ที่สำคัญอีกนิดหนึ่ง คือ คลอโรฟลูออโรคาร์บอน ซึ่งใช้เป็นสารทำความเย็นและใช้ในการผลิตโฟม แต่ไม่ถูกกำหนดในพิธีสารเกียวโต เนื่องจากเป็นสารที่ถูกจำกัดการใช้ในพิธีสารมอนทรีออลว่าด้วยสารทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนแล้ว
ภาพที่ 2 แผนผังแสดงแก๊สเรือนกระจกชนิดต่าง ๆ
ผลกระทบของปรากฏการณ์เรือนกระจก
ปรากฏการณ์เรือนกระจกเป็นปรากฏการณ์ที่มีความสำคัญต่อโลกของเรา ช่วยทำให้โลกสามารถรักษาสภาพสมดุลทางอุณหภูมิไว้ได้ ทำให้เกิดวัฏจักรน้ำ อากาศ และฤดูกาลต่าง ๆ ที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ บนโลก
แต่ในปัจจุบันชั้นบรรยากาศของโลกมีปริมาณแก๊สเรือนกระจกมากเกินสมดุลของธรรมชาติ อันเป็นผลมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่มีการปล่อยมลพิษ รวมถึงแก๊สเรือนกระจกเข้าสู่บรรยากาศในปริมาณมาก เช่นการเผาไหม้เชื้อเพลิงต่าง ๆ การปล่อยของเสียจากอุตสาหกรรมของผลิตภัณฑ์ตู้เย็น สเปรย์ และพลาสติก ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อการเพิ่มอุณหภูมิของพื้นผิวโลก นอกจากนี้ สารประกอบจำพวกคลอโรฟลูออโรคาร์บอน สามารถรวมตัวกับโอโซน ทำให้โอโซนในชั้นบรรยากาศลดน้อยลง ส่งผลให้รังสีคลื่นสั้นที่ส่องผ่านชั้นโอโซนลงมายังพื้นผิวโลกได้มากขึ้น รวมทั้งปล่อยให้รังสีที่ทำอันตรายต่อมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตส่องผ่านลงมาทำอันตรายกับสิ่งมีชีวิตบนโลกได้ด้วย
ประเทศต่าง ๆ ในโลกต่างหันมาร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาภาวะโลกร้อน โดยการสร้างมาตรการทางกฎหมายในพิธีสารเกียวโต ( Kyoto Protocol ) ซึ่งมีการเจรจาตกลงกันเมื่อ 11 ธันวาคม 2540 และมีผลบังคับใช้เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2548 มีประเทศที่เข้าร่วมให้สัตยาบัน 187 ประเทศ โดยประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกเมื่อเดือนสิงหาคม 2545 ซึ่งประเทศสมาชิกแต่ละประเทศต้องหามาตรการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกออกสู่บรรยากาศโดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2555 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดการใช้พิธีสารโตเกียวต้องลดปริมาณแก๊สเรือนกระจกลงให้ได้ 5.2 % เมื่อเทียบกับปี 2533 ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะสิ้นสุดพิธีสารเกียวโต แต่ทั่วโลกยังคงดำเนินการลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกอย่างต่อเนื่อง ภายใต้อนุสัญญาที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ( United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC )
สำหรับประเทศไทยได้จัดตั้งองค์การบริหารการจัดการแก๊สเรือนกระจก ( องค์กรมหาชน ) ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อปฏิบัติงานด้านบริหารเกี่ยวกับพัฒนาโครงการที่จะนำไปสู่การลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกภายใต้กลไกการพัฒนาที่สะอาด โดยได้มีการดำเนินกิจกรรมการต่าง ๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ในการลดแก๊สเรือนกระจกของประเทศไทย ภายในปี 2563 และ 2573 เช่น โครงการลดก๊าซเรือนกระจก โครงการภาคีสนับสนุนป่าชุมชนลดโลกร้อน โครงการพัฒนาอุตสาหกรรมคาร์บอนต่ำ เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ฉลากคาร์บอน ตลาดคาร์บอน เป็นต้น
แหล่งที่มา
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.). หนังสือเรียน รายวิชาเพิ่มเติม โลก ดาราศาสตร์ และอวกาศ เล่ม 2 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6. กรุงเทพ. องค์การค้าของ สกสค.
องค์การบริหารการจัดการแก๊สเรือนกระจก (องค์กรมหาชน). โครงการลดแก๊สเรือนกระจก. สืบค้นเมื่อ 10 เมษายน 2563, จาก http://www.tgo.or.th/2015/thai/content.php?s1=1
It’s AumSum Time ; Learning Science & Math. Greenhouse Effect. สืบค้นเมื่อ 20 เมษายน 2563, จาก https://youtu.be/x_sJzVe9P_8
กลับไปที่เนื้อหา
-
11528 การเปลี่ยนแปลงลมฟ้าอากาศและภูมิอากาศโลก /lesson-earthscience/item/11528-2020-05-01-02-59-23เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง