ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ (Bangkok Planetarium)
ท้องฟ้าจําลองกรุงเทพ (Bangkok Planetarium)
เชื่อว่า หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินคำพูดติดปากว่า ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ แต่หลาย ๆ คนก็ยังไม่รู้ว่าที่นั่นเป็นอย่างไร และอยู่ที่ไหน วันนี้จะแนะนำให้รู้จัก เผื่อจะได้หาเวลาไปเยี่ยมชมท้องฟ้าจำลองกรุงเทพกัน
ภาพที่ 1 ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ (Bangkok Planetarium) ในปัจจุบัน
ที่มา เพจท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ - Bangkok Planetarium https://www.facebook.com/bkkplanetarium/
ภาพที่ 2 ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ (Bangkok Planetarium) ในอดีต
ที่มา เพจท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ - Bangkok Planetarium https://www.facebook.com/bkkplanetarium/
ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ (Bangkok Planetarium) ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ส่วนหนึ่งของศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (Science Center for Education) จัดสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2505 เสร็จสิ้นและเปิดใช้งานปี พ.ศ. 2507 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้จากการจำลองเหมือนของจริงทางด้านดาราศาสตร์ เช่น การดูดาว ตำแหน่งของดวงดาว กลุ่มดาว ดาวฤกษ์ ดาวเคราะห์ต่าง ๆ และที่น่าสนใจคือ เราสามารถชมดวงดาวตามตำแหน่งดาวในท้องฟ้าในวันนั้น ๆ ที่เข้าชมได้จากที่นี่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ
ห้องฉายดาวและภาพยนตร์เต็มโดม (Star and Full Dome Show)
ห้องฉายดาว เป็นหนึ่งห้องสำคัญของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ห้องมีเป็นรูปทรงวงกลมขนาดใหญ่ หลังคาเป็นรูปโดมสูง สำหรับฉายภาพดวงดาวให้คล้ายกับดวงดาวในท้องฟ้าจริง จากเครื่องฉายดาวที่มีระบบการทำงานซับซ้อน ซึ่งล่าสุดนั้นเป็นระบบฉายดาวดิจิทัล แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้คือ
- การฉายภาพ เครื่องฉายดาวระบบดิจิทัลที่มีชื่อว่า "คริสตี้" ถือเป็นหนึ่งในพระเอกของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เป็นเครื่องฉายความละเอียดสูงสุด 4K หรือ Ultra High Definition ความสว่างต่อเครื่องสูงถึง 30,000 Lumens โดยฉายภาพจากเครื่องฉายภาพจำนวน 2 ตัวซึ่งภายในบรรจุคอมพิวเตอร์อีก 4 ตัวฉายภาพในมุมที่ต่างกัน และด้วยเลนส์ Fish eye ที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เพื่อให้ฉายภาพได้กว้างกว่าเครื่องฉายภาพทั่วไป และติดตั้งเครื่องฉายภาพ โดยไม่ให้เลนส์โดนส่วนบนของเครื่องฉายดาวระบบกลไกมอเตอร์และเลนส์ ทำให้ลำแสงของเครื่องฉายดาวที่ฉายขึ้นไปบนจอโดมเลยจุดกึ่งกลางของจอโดมและส่วนล่างลำแสงที่ฉายออกไปจะไปสิ้นสุดที่ขอบโดมฉายดาว ซึ่งทำให้เครื่องฉายทั้ง 2 ตัวนั้นมีพื้นที่ซ้อนทับกันด้านบนกลางจอโดม (Blending Region) ทำให้ภาพที่ได้มีความละเอียด คมชัดจากการซ้อนทับที่ซับซ้อน จนทำให้สามารถฉายดาวทั้งในอดีตและปัจจุบันได้นับแสนดวง และสามารถเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบคลาวด์โดยสามารถดึงข้อมูลจากท้องฟ้าจำลองทั่วโลกที่ใช้ระบบฉายเดียวแบบเดียวกันมาฉายได้
ภาพที่ 3 เครื่องฉายดาวระบบดิจิทัลที่มีชื่อว่า "คริสตี้" ภายในอาคารโดมของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ (Bangkok Planetarium)
ที่มา https://sciplanet.org/
- การควบคุม "ดิจิสตาร์ไฟว์" (Digistar 5) โปรแกรมควบคุมการทำงานการฉายภาพบนจอโดมในท้องฟ้าจำลองกรุงเทพทั้งหมด โดยใช้เทคโนโลยีของ Digistar5 มีระบบ Auto Blending และ Auto Alignment ที่ทำให้เครื่องฉายภาพ ฉายภาพเป็นภาพเดียวกันได้เสมือนการฉายด้วย เครื่องฉายภาพเครื่องเดียว
ภาพที่ 4 ภาพจากการฉายภาพของเครื่องฉายดาวระบบดิจิทัล ภายในอาคารโดมของท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ (Bangkok Planetarium)
ที่มา เพจท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ - Bangkok Planetarium https://www.facebook.com/bkkplanetarium/
ภาพยนต์ระบบเต็มโดม
ภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ สาระจากพื้นฐานความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในท้องฟ้า และจักรวาล ฉายภาพบนโดมครึ่งวงกลมแบบสมจริงเสมือนการชมภาพยนตร์ 3 มิติ ซึ่ง ณ ตอนนี้ (กันยายน 2560) ภาพยนตร์เต็มโดมฉายทุกรอบหลังการสอนดูดาวคือเรื่อง "มหัศจรรย์แสงออโรร่า" (Experience of Aurora) ภาพยนต์ที่จะทำให้เราได้ไปสัมผัสกับแสงออโรรา แสงสวยงามบนท้องฟ้าเกิดจากสิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ แต่แท้ที่จริงแล้วแสงหลากสีนี้ เกิดขึ้นเพราะสนามแม่เหล็กโลกกำลังปกป้องทุกชีวิตบนโลกให้ปลอดภัยจากจากลมสุริยะ เสมือนว่าเราอยู่ที่ขั้วโลกจริง ๆ ทั้งนี้ ก็มีอีกหลาย ๆ เรื่อง หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันไป เช่น “Violent Universe Catastrophes of the Cosmos : จักรวาลอันเกรี้ยวกราด วิบัติการแห่งห้วงอวกาศ“ , “Flight Adventures : กว่าจะบินได้“,“New Horizons : ของฟ้าแห่งใหม่“ ทั้งหมดนี้สามารถรับชมได้เลยที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ
ภาพที่ 5 ภาพโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ภาพยนตร์เรื่อง "มหัศจรรย์แสงออโรร่า" (Experience of Aurora)
สำหรับใครที่สนใจไปเที่ยวชม สามารถเข้าไปดูข้อมูลหรือรายละเอียดเบื้องต้นได้ที่เว็บไซต์ www.sciplanet.org ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ เปิดบริการให้เข้าชม วันอังคาร - วันอาทิตย์ เวลา 09.00 - 16.00 น. ปิดบริการวันจันทร์และวันหยุดนักขัตฤกษ์
รอบการแสดง วันอังคาร - วันศุกร์ : 10:00 น.,11:00 น.,13:00 น.,14:00 น.,15:00 น.
รอบการแสดง วันอังคาร - วันศุกร์ : 10:00 น.,11:00 น.,13:00 น.,14:00 น.,15:00 น.,16:00 น.
* รอบบรรยายภาษาไทย อัตราค่าเข้าชม เด็กคนะละ 20 บาท / ผู้ใหญ่คนละ 30 บาท
* รอบบรรยายภาษาอังกฤษ อัตราค่าเข้าชม เด็กคนละ 30 บาท / ผู้ใหญ่คนละ 50 บาท
* รอบ 10.00 น. ของทุกวันอังคารเป็นรอบบรรยายภาษาอังกฤษและเป็นรอบจองสถาบันการศึกษา
* รอบ 10.00 น. และ 13.00 น. เป็นรอบจองของสถาบันการศึกษา
แหล่งที่มา
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา. สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2560, จาก https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A8%E0%B8%B9%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A8%E0%B8%B6%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2
MGR Online. (2559,7 มกราคม). สุดอลัง! "ห้องฉายดาวโฉมใหม่" ของขวัญคนไทยจากท้องฟ้าจำลอง. สืบค้นเมื่อ สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2560, จาก https://mgronline.com/
ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา. (2559,15 ธันวาคม). เครื่องฉายดาวระบบดิจิตอล. สืบค้นเมื่อ สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2560, จาก https://sciplanet.org/content/403
ตารางรอบการแสดงท้องฟ้าจำลอง. สืบค้นเมื่อ สืบค้นเมื่อ 18 กันยายน 2560, จาก http://www.sciplanet.org
-
7427 ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ (Bangkok Planetarium) /other-article/item/7427-2017-08-08-08-14-37เพิ่มในรายการโปรด