เจลแอลกอฮอล์กับสเปรย์แอลกอฮอล์แตกต่างกันหรือไม่?
ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2019 ถึงต้นปี ค.ศ. 2020 ทุกท่านคงทราบดีแล้วว่า ทั่วโลกเผชิญกับภาวะวิกฤติใด? ใช่แล้ว พวกเราทุกคนกำลังเผชิญกับวิกฤติ COVID-19 หรือการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนานั่นเอง มีรายงานวิจัยพบว่าเชื้อไวรัสชนิดนี้จะถูกยับยั้งการทำงานและถูกฆ่าได้ด้วยสารละลายที่มีความเข้มข้นระดับหนึ่ง ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือแอลกอฮอล์นั่นเอง จากงานวิจัยหลาย ๆ แหล่งพบว่า แอลกอฮอล์ความเข้มข้นไม่ต่ำกว่า 70% สามารถฆ่าเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ ซึ่งทำให้ขณะนั้นตามท้องตลาดมีการจำหน่ายแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งรวมถึงเมทิลแอลกอฮอล์และเอทิลแอลกอฮอล์ เมื่อมีผู้บริโภคไปซื้อแอลกอฮอล์เช็ดแผลจากร้านขายยา ผู้ขายมักจะหยิบแอลกอฮอล์มาให้เลือกทั้ง 2 ชนิด ราคาเอทิลแอลกอฮอล์จะสูงกว่าเมทิลแอลกอฮอล์เล็กน้อย เพราะฉะนั้นผู้บริโภคส่วนใหญ่และโดยเฉพาะผู้ที่ไม่รู้คุณสมบัติที่แท้จริงของแอลกอฮอล์ทั้ง 2 ชนิด มักจะเลือกชนิดที่ราคาถูกกว่า เพราะประหยัดเงิน และเข้าใจว่ามีคุณสมบัติเหมือนกัน แต่อันที่จริงแล้วคุณสมบัติของเอทิลแอลกอฮอล์ต่างกันมาก แต่ท่านทราบหรือไม่ว่าแอลกอฮอล์แต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน อย่างไรนั้น ตามไปดูกันเลย
ภาพที่ 1 เจลและสเปรย์แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อ
ในทางเคมี แอลกอฮอล์ (Alcohol) คือสารประกอบอินทรีย์ ที่มีหมู่ไฮดรอกซิล (-OH) ต่อกับอะตอมคาร์บอนของหมู่แอลคิลหรือหมู่ที่แทนแอลคิล สูตรทั่วไปของแอลกอฮอล์แบบอะลิฟาติกไฮโดรคาร์บอน (สารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่เป็นสายตรง) คือ CnH2n+1OH
เมทานอล (Methanol) หรือ เมทิลแอลกอฮอล์ (Methyl alcohol) มีสูตรโครงสร้างแบบย่อ CH3OH เป็นของเหลวใส ระเหยง่าย เป็นพิษ นิยมใช้เป็นตัวทำละลาย และใช้เป็นเชื้อเพลิง ในธรรมชาติ เมทานอลเป็นผลิตภัณฑ์จากการสลายสารอาหารแบบไม่ใช้ออกซิเจนของแบคทีเรียหลายชนิด ซึ่งเมทานอลจะระเหยออกสู่อากาศภายนอก แล้วสลายตัวได้คาร์บอนไดออกไซด์และน้ำ
ภาพที่ 2 โครงสร้างทางเคมีของเมทานอลหรือเมทิลแอลกอฮอล์
ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/เมทานอล
โดยทั่วไปนั้นเมทิลแอลกอฮอล์เป็นแอลกอฮอล์ชนิดมีพิษ ใช้สำหรับอุตสาหกรรมต่าง ๆ เช่น ใช้เป็นเชื้อเพลิงจุดให้แสงสว่าง หรือปนกับทินเนอร์สำหรับผสมแลคเกอร์แต่ห้ามใช้กับร่างกาย จากคุณสมบัติของเมทิลแอลกอฮอล์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าผู้ผลิตหรือผู้ขายไม่ควรนำเอาแอลกอฮอล์ทั้ง 2 ชนิดมาใช้แทนกันเพราะจะทำให้ผู้บริโภคได้รับอันตรายได้ เนื่องจากเมทิลแอลกอฮอล์หากนำมาใช้ล้างแผล แอลกอฮอล์จะซึมเข้าไปมากๆ อาจทำให้ผู้ดื่มตาบอดหรือถึงตายได้
เอทานอล (Ethanol) หรือ เอทิลแอลกอฮอล์ (Ethyl alcohol) (สูตรเคมี C2H5OH) เป็นแอลกอฮอล์ชนิดหนึ่งซึ่งเกิดจากการนำเอาพืชมาหมักเพื่อเปลี่ยนแป้งเป็นน้ำตาล จากนั้นจึงเปลี่ยนจากน้ำตาลเป็นแอลกอฮอล์ โดยใช้เอนไซม์หรือกรดบางชนิดช่วยย่อย เมื่อทำให้เป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 95% โดยการกลั่น ส่วนใหญ่ผลิตจากพืช สองประเภทคือ พืชประเภทน้ำตาล เช่นอ้อย บีทรูท และพืชจำพวกแป้งเช่น มันสำปะหลัง ข้าว ข้าวโพด เป็นต้น
ภาพที่ 3 โครงสร้างทางเคมีของเอทานอลหรือเอทิลแอลกอฮอล์
ที่มา https://th.wikipedia.org/wiki/เอทานอล
โดยทั่วไปหากพูดถึงแอลกอฮอล์มักจะอ้างถึงเอทิลแอลกอฮอล์เกือบจะเพียงอย่างเดียว หรือเรียกอีกอย่างว่า grain alcohol ซึ่งเป็นของเหลวที่ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น และสามารถระเหยได้ ซึ่งเกิดจากการหมักน้ำตาล นอกจากนี้ยังสามารถใช้อ้างถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นที่มาของคำว่าโรคพิษสุรา (Alcoholism)
เอทิลแอลกอฮอล์เป็นยาเสพติดที่มีฤทธิ์กดประสาท ที่ลดการตอบสนองของระบบประสาทส่วนกลาง แอลกอฮอล์ชนิดอื่น ๆ ซึ่งจะมีสารที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเอทิลแอลกอฮอล์แต่มีจำนวนคาร์บอนอะตอมและสูตรโครงสร้างที่แตกต่างกันอีกชนิดหนึ่งที่พอทดแทนกันได้นั่นก็คือ ไอโซโพรพิล แอลกอฮอล์ (Isopropyl Alcohol) หรือไอโซโพรพานอล (Isopropanol) แอลกอฮอล์ทั้งสองชนิดนี้เป็นแอลกอฮอล์ที่ใช้กับร่างกายมนุษย์ได้ แต่ที่นิยมใช้และปลอดภัยมากที่สุดก็คือเอทิลแอลกอฮอล์ เช่น ผสมในยารับประทาน ผสมในสุราหรือเครื่องดื่มประเภทของมึนเมาหรือใช้ทาภายนอกร่างกาย เช่น ล้างแผล ผ้าเย็น กระดาษเช็ดหน้า สเปรย์ เป็นต้น
ภาพที่ 4 สเปรย์แอลกอฮอล์
ที่มา https://pixabay.com/ ; mohamed_hassan
หันกลับมาดูเอทิลแอลกอฮอล์ที่ใช้ในการฆ่าเชื้อไวรัสกันอีกครั้งค่ะ ซึ่งตามที่เราได้ทราบกันดีว่ามีทั้งชนิดที่เป็นสเปรย์และเจลล้างมือโดยที่ไม่ต้องใช้น้ำล้างออกนั้น ทั้งสองชนิดนี้แตกต่างกันอย่างไรนั้น ซึ่งหากเราพูดกันถึงความเข้มข้นในการฆ่าเชื้อไวรัสโคโรนาแล้วนั้นองค์การอนามัยโลกกำหนดไว้ว่าควรจะใช้แอลกอฮอล์ที่เมื่อเจือจางแล้วเข้มข้นไม่ต่ำกว่า 70% นั่นก็หมายถึงว่าแอลกอฮอล์สเปรย์หรือเจลแอลกอฮอล์ที่นำมาใช้นั้น ถ้าสารตั้งต้นคือเอทิลแอลกอฮอล์เข้มข้น 95% และเมื่อนำมาเจือจางในสัดส่วนปริมาณเอทิลแอลกอฮอล์ 75 ส่วนโดยปริมาตร ต่อน้ำบริสุทธิ์หรือสารอื่นๆอีกไม่เกิน 25 ส่วนโดยปริมาตร จะทำให้ได้ความเข้มข้นเอทิลแอลกอฮอล์เมื่อเจือจางแล้วอยู่ที่ 71.25% นั่นเอง ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งชนิดเสปรย์และเจลนั้นหากควบคุมความเข้มข้นตามกำหนดแล้ว ทั้งสองชนิดนี้สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้เช่นเดียวกัน
ภาพที่ 5 เจลแอลกอฮอล์
ที่มา https://pixabay.com/ ; Gadini
หากจะพูดถึงความแตกต่างของหลักการทำงานหรือการคงอยู่ในสภาวะทั่วไปแล้วนั้น โดยทั่วไปสารที่มีสถานะเป็นของเหลวเช่นแอลกอฮอล์สเปรย์นั้นเมื่อเราฉีดลงบนฝ่ามือแล้วและทิ้งไว้เพียงไม่กี่วินาทีสารจะเกิดการระเหยไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งชนิดสเปรย์นี้จึงเหมาะที่จะใช้ฆ่าเชื้อไวรัสตามพื้นผิววัตถุสิ่งของที่เราจะใช้มือหยิบจับ โดยเราอาจจะฉีดพ่นลงบนผิวของสิ่งนั้น เพียงไม่กี่วินาทีสารก็จะระเหย เราจึงค่อยใช้มือในการหยิบจับได้อย่างปลอดภัย หรือค่อยเช็ดถูได้ก่อนทำการหยิบจับ ในขณะที่แอลกอฮอล์ชนิดเจลมีสถานะเป็นของเหลวหนืดซึ่งการคงอยู่ในสภาวะทั่วไปจะอยู่ได้นานกว่าชนิดสเปรย์ อีกนัยหนึ่งหมายถึงความสะดวกสบายในการใช้ทำความสะอาดมือโดยไม่ต้องใช้น้ำล้างออก และสภาพความคงอยู่ในอากาศนานกว่าชนิดสเปรย์ซึ่งเราจะสังเกตได้จากเมื่อบีบแอลกอฮอล์เจลลงบนฝ่ามือแล้วถูให้ทั่วทั้งมือ ปล่อยทิ้งไว้สัก 2-3 นาที เจลนี้จึงจะแห้ง นั่นแสดงให้เห็นว่าแอลกอฮอล์เจลกว่าที่จะระเหยใช้เวลานานกว่าชนิดสเปรย์ รู้แบบนี้แล้วท่านผู้อ่านจะเลือกใช้แอลกอฮอล์ชนิดใดนั้นย่อมขึ้นอยู่กับคุณสมบัติและความประสงค์ของตัวท่านเองว่านิยมหรือต้องการใช้ชนิดใดนั่นเองค่ะ แต่ประสิทธิภาพการฆ่าเชื้อนั้นไม่แตกต่างกันเลยค่ะ ขอเพียงแค่ความเข้มข้นแอลกอฮอล์อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดนั่นเอง
แหล่งที่มา
สมบูรณ์ เจตลีลา และวารี ลิมป์วิกรานต์. (2537). ผลิตภัณฑ์สมุนไพรตอนที่ 3 ; สนุกกับการผลิตเจลสมุนไพร. ภาควิชาเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. สืบค้นเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2563. จาก https://www.pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/195
Pounikar Y, Jain P, Khurana N, Omray LK, Patil S. Formulation and characterization of aloe vera cosmetic herbal hydrogel. International Journal of Pharmacy and Pharmaceutical Sciences 2012; 4, Suppl 4: 85-86.
Feuch CL, Patel DR. Analgesics and anti-inflamatory medications in sports: use and abuse. Pediatric Clinics of North America 2010; 57(3): 751-774.
Home care for patients with suspected novel coronavirus (COVID-19) infection presenting with mild symptoms, and management of their contacts. World Health Organization. Retrieved April 1, 2020.From https://www.cdc.gov/infectioncontrol/guidelines/disinfection/disinfection-methods/chemical.html
-
11471 เจลแอลกอฮอล์กับสเปรย์แอลกอฮอล์แตกต่างกันหรือไม่? /article-chemistry/item/11471-2020-04-21-07-13-10เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง