สอนคณิตศาสตร์อย่างไรให้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
หากท่านผู้อ่านเป็นครูผู้สอนวิชาคณิตศาสตร์ วันนี้ผู้เขียนมีสาระความรู้เกี่ยวกับแนวทางการสอนคณิตศาสตร์ในรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจที่เข้ากับสถานการณ์ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ประเทศของเรากำลังประสบปัญหาอยู่ นั่นก็คือ แนวทางการสอดแทรกความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์นั่นเอง ติดตามอ่านกันได้เลย
จากสถานการณ์และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นในแต่ละปี การศึกษาซึ่งเป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีประสิทธิภาพที่อาจส่งผลทำให้เกิดการสร้างสรรค์ความรู้ ความเข้าใจและความสำนึกที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม ให้แก่นักเรียนของเราทุกคน เชื่อว่าหลายท่านอาจคิดว่าการสอดแทรกการจัดการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมอาจเป็นแนวทางที่สามารถทำได้แต่ในเฉพาะสาขาวิชาด้านวิทยาศาสตร์ใช่หรือไม่ ขอตอบเลยว่าไม่ใช่ เพราะในสาขาวิชาคณิตศาสาสตร์ก็สามารถสอดแทรกความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปด้วยเช่นเดียวกัน
ถ้าพูดถึงวิชาคณิตศาสตร์ก็ต้องนึกถึงตัวเลขอย่างแน่นอน แล้วในทางสิ่งแวดล้อมจะสอดคล้องอะไรกับตัวเลข มีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนง่าย ๆ เกี่ยวกับข้อมูลทางด้านสิ่งแวดล้อม ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ตัวอย่างที่ 1 ข้อมูลพื้นที่ป่าชายเลนทั่วโลก(Mangrove of the World)
ภาพที่ 1 กราฟแสดงพื้นที่รวมของป่าชายเลนทั่วโลก
ที่มา https://www.dmcr.go.th/miniprojects/118/27128
จากพื้นที่รวมของป่าชายเลนทั่วโลกดังกล่าว ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีพื้นที่ป่าชายเลนมากที่สุดในโลกเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดยมีพื้นที่ประมาณ 45,400 ตร.กม. คิดเป็น 30.27 % ของพื้นที่ป่าชายเลนทั่วโลก (150,000 ตร.กม.) ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าชายเลนประมาณ 2,600 ตร.กม. หรือประมาณ 1.7 % ของพื้นที่ป่าชายเลนทั่วโลก
ตัวอย่างที่ 2
ข้อมูลตัวชี้วัด “พื้นที่ป่าชายเลน” ในประเทศไทย
พื้นที่ป่าชายเลนตามมติคณะรัฐมนตรี และป่าชายเลนตามสภาพ ของประเทศไทย ใน พ.ศ. 2557 มีเนื้อที่ประมาณ 2,869,484 ไร่ ซึ่งในจำนวนนี้แยกเป็น พื้นที่คงสภาพป่าชายเลน เนื้อที่ประมาณ 1,534,584 ไร่ และพื้นที่เปลี่ยนแปลงสภาพ เนื้อที่ประมาณ 1,334,913 ไร่ (เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 439,234 ไร่ เกษตรกรรม 340,525 ไร่ นาเกลือ 155,772 ไร่ และอื่นๆ 399,382.85 ไร่) โดยพบทั่วไปตามชายฝั่งบริเวณภาคกลาง ภาคตะวันออก ตลอดจนถึงภาคใต้ทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย ครอบคลุม 24 จังหวัดชายฝั่ง เมื่อพิจารณาในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2543-2557) พบว่า พื้นที่ป่าชายเลนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือกันของภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนท้องถิ่นในการดูแลและฟื้นฟูป่าชายเลนอย่างต่อเนื่อง
ภาพที่ 2 กราแสดงพื้นที่ป่าชายเลน พ.ศ. 2543 2547 2552 และ 2557
ที่มา http://www.onep.go.th/env_data/2016/01_32/ , กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (2560)
จะเห็นได้ว่า จากทั้งสองตัวอย่าง เราสามารถสอดแทรกความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไปในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ได้หลายเรื่องเช่น เศษส่วนและทศนิยม สมการ อัตราส่วนและร้อยละ กราฟและความสัมพันธ์ พื้นที่ ปริมาตรและพื้นที่ผิว ทฤษฎีบทพิทาโกรัส ความน่าจะเป็น สถติ และการแปรผัน เป็นต้น
นอกจากนี้วิชาคณิตศาสตร์เป็นศาสตร์ที่ตั้งอยู่บนหลักการของเหตุและผล เช่นเดียวกันกับความสำคัญของสิ่งแวดล้อมในเชิงที่เป็นทั้งเหตุและผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ คณิตศาสตร์สามารถเชื่อมโยงในเรื่องระบบความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบต่าง ๆ ของสิ่งแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมกับมนุษย์ได้อย่างลงตัว เช่น ป่าไม้กับน้ำท่วม และความแห้งแล้ง ปริมาณคาร์บอนไดออกไซค์กับอุณหภูมิของโลกที่สูงขึ้น
จะเห็นได้ว่า ถึงแม้ว่าคณิตศาสตร์จะเป็นนามธรรมที่เข้าใจยาก แต่ถ้าสอดแทรกกับตัวอย่างที่เห็นภาพและเป็นจริงก็สามารถทำให้เป็นเรื่องที่ง่ายและน่าสนใจได้ จากตัวอย่างของการสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่กล่าวไปนั่นเอง
แหล่งที่มา
กัลยา วรรณโอภา. การนำเสนอรูปแบบการสอดแทรกความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563. จาก http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/38700
อติชาติ เกตะพันธุ์.การใช้คณิตศาสตร์ในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม.สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563. จาก http://math.science.cmu.ac.th/kettapun/Articles/Pangfan12.pdf
ป่าชายเลนทั่วโลก (Mangrove of the World). สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563. จาก https://www.dmcr.go.th/miniprojects/118/27128
ข้อมูลตัวชี้วัด “พื้นที่ป่าชายเลน”. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2563. จาก http://www.onep.go.th/env_data/2016/01_32/
-
11356 สอนคณิตศาสตร์อย่างไรให้สัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม /article-mathematics/item/11356-2020-03-12-02-23-06เพิ่มในรายการโปรด