ประโยชน์ของคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 4 การคำนวณภาษี
กลับมาพบกันอีกครั้งกับบทความเรื่องประโยชน์ของคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน สำหรับบทความนี้นำเสนอเรื่อง การคำนวณภาษี ซึ่งเป็นเรื่องใกล้ตัวทางคณิตศาสตร์ในใกล้ตัวและน่าสนใจมาก ๆ ส่วนจะนำเสนอเกี่ยวกับการคำนวณภาษีแบบใด ตามมาดูกันเลย
ภาษีเป็นภาระที่ประชาชนมีหน้าที่ต้องนำส่งให้ภาครัฐตามที่กฎหมายกำหนดเพื่อสนับสนุนรัฐและกิจการของรัฐ เพราะรัฐที่มีหน้าที่ดูแลประชาชนซึ่งต้องนำเงินภาษีดังกล่าวไปใช้ในการบริหารจัดการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐานของประชาชนในประเทศ เช่น การบริการด้านสาธารณสุข ไฟฟ้า ประปา การเดินทาง เป็นต้น ซึ่งก็ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินงาน ดังนั้นรัฐจำเป็นต้องมีรายได้ รายได้นี้เองเราเรียกว่า ภาษี โดยอาจจะอยู่ในรูปของเงินหรือไม่ก็ได้ ทั้งนี้ ภาษีเป็นสิ่งที่รัฐเรียกเก็บจากประชาชนโดยใช้อำนาจทางกฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีรายได้ซึ่งได้มาจากการประกอบอาชีพ ทั่ว ๆ ไปคือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมและภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาพใบเสร็จรับเงิน
ที่มา https://pxhere.com/th/photo/1410366
แต่สำหรับบทความนี้เราก็คงกล่าวถึงกันในเฉพาะภาษีที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดีในชีวิตประจำวันก็คือ ภาษีมูลค่าเพิ่ม
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax หรือ VAT) เป็นภาษีทางอ้อม ที่จัดเก็บจากฐานผู้บริโภคจากการขายสินค้าหรือบริการ และการนำเข้าสินค้า โดยมีกรมสรรพากรเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดเก็บภาษีประเภทนี้
อัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ภาษีมูลค่าเพิ่มจะคํานวณจากยอดมูลค่าของสินค้าหรือบริการ ตามอัตราภาษีที่กำหนด ปัจจุบัน (พ.ศ.2563) เราคนไทยต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% (อัตราร้อยละ 7 ของมูลค่าสินค้าหรือบริการ) ซึ่งเป็นอัตราคงที่ โดยคำนวณมาจาก ภาษีมูลค่าเพิ่ม 6.3% + ภาษีท้องถิ่น 0.7% = 7%
ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการที่เราเรียกว่าเป็นผู้ประกอบการ ถือเป็นบุคคลที่มีรายได้ที่จะต้องภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่สามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนี้จากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการต่อได้
ตัวอย่างเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่มที่พบได้ในชีวิตประจำวัน
ในชีวิตประจำวันเราซื้อสินค้าหรือบริการจากร้านค้าต่าง ๆ จะต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยราคาที่เราเห็นในป้ายราคาของสินค้าหรือฉลากสินค้าส่วนใหญ่จะเป็นราคาที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไปกับสินค้าแล้ว แต่ในบางกรณีก็อาจจะยังไม่รวมก็ได้
ตัวอย่างที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ผลิตภัณฑ์ชนิดหนึ่งราคา 500 บาท ผู้ซื้อต้องจ่ายภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 7% จงหาว่า ผู้ซื้อจะต้องจ่ายเงินซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จำนวนเท่าไหร่
วิธีคิด ผลิตภัณฑ์ราคา 100 บาท ผู้ซื้อต้องจ่ายเงิน 100+7 = 107 บาท
ดังนั้น ผลิตภัณฑ์ราคา 500 บาท ผู้ซื้อต้องจ่ายเงิน (107/100) X 500 = 535 บาท
ตัวอย่างที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น ร้านขายรองเท้าแห่งหนึ่งลดราคาให้ 10% ของราคาป้าย ถ้าซื้อรองเท้า 1 คู่ ราคาคู่ละ 2,000 บาท (ไม่รวม VAT) จงหาว่า เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) หลังจากลดราคาแล้ว รองเท้าคู่นี้ราคากี่บาท
วิธีคิด ราคารองเท้า (ไม่รวม VAT) 2,000 บาท
ส่วนลด 10% ของราคาป้าย เท่ากับ (10/100) X 2,000 = 200 บาท
ราคารองเท้า หลังหักส่วนลด 10% เท่ากับ 2,000 – 200 = 1,800 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 7% ของราคารองเท้าหลังหักส่วนลด 20% เท่ากับ 1,800 X (7/100) = 126 บาท
ราคารองเท้าคู่นี้ = ราคารองเท้าหลังหักส่วนลด 10% + VAT 7%
ดังนั้น ราคารองเท้าคู่นี้ = 1,800 + 126 = 1,926 บาท
ภาษีมูลค่าเพิ่มค่าเพิ่มเป็นคณิตศาสตร์ที่ควรศึกษาและควรทำความเข้าใจ เพราะเป็นเรื่องใกล้ตัวและเป็นเรื่องที่ควรพึงกระทำในทางกฎหมายอีกด้วย หากท่านผู้อ่านท่านไหนเป็นผู้ประกอบการก็อย่าลืมทำการจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อจะได้นำเงินที่ได้จากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไปใช้ในการพัฒนาประเทศต่อไป และอย่าลืมติดตามบทความเรื่อง ประโยชน์ของคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ในตอนต่อไป
แหล่งที่มา
คณิตศาสตร์ในชีวิตประจําวัน Mathematics for Daily Life . สืบค้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563. จาก https://reg2.crru.ac.th/reg/files/20150929020102_3aa31caba936b876645ada5b607be6ff.pdf
คณิตศาสตร์กับการแก้ปัญหาและตัดสินใจในชีวิตประจำวัน : ภาษีมูลค่าเพิ่ม. สืบค้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563. จาก https://gened.siam.edu/wp-content/uploads/2010/06/math-ppt12.pdf
ศาสตราจารย์ ดร.กฤษณะ เนียมมณี. คณิตศาสตร์กับการเงินในชีวิตประจำวัน:ภาษีและเครดิต . สืบค้นเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563. จาก http://1.179.148.84/obec-media/2555/manual/%a4%d9%e8%c1%d7%cd%a4%b3%d4%b5%c8%d2%ca%b5%c3%ec/%b5%cd%b9%b7%d5%e8%2040%20%a4%b3%d4%b5%c8%d2%ca%b5%c3%ec%a1%d1%ba%a1%d2%c3%e0%a7%d4%b9%e3%b9%aa%d5%c7%d4%b5%bb%c3%d0%a8%d3%c7%d1%b9%20%b5%cd%b9%b7%d5%e8%201.pdf
-
11477 ประโยชน์ของคณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน ตอนที่ 4 การคำนวณภาษี /article-mathematics/item/11477-4เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง