ตัวเราเปลี่ยนเพื่อโลกที่ดีขึ้นกับ Recycling และ Upcycling
เชื่อหรือไม่ว่าการจัดการขยะในรูปแบบของ Recycling และ Upcycling ช่วยโลกได้นะ แต่ต้องเริ่มจากตัวคุณเองก่อน สถานการณ์ในปัจจุบันที่โลกของเรากำลังได้รับผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดอยู่แล้วตามธรรมชาติ แต่อีกส่วนหนึ่งมนุษย์เป็นผู้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศให้เกิดเร็วขึ้น โดยเกิดจากพฤติกรรมการบริโภคของเราในปัจจุบัน เช่น การใช้ไฟฟ้า การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล การทำการเกษตรและปศุสัตว์การตัดไม้ทำลายป่า ทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบนิเวศ ความมั่นคงทางอาหาร สุขอนามัยเศรษฐกิจและสังคม การเตรียมการลดผลกระทบและการปรับตัว เพื่อเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น จึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนจำเป็นต้องเตรียมการและเฝ้าระวัง
โลกของเรากำลังเปลี่ยนแปลง
โลกของเรากำลังเปลี่ยนแปลง วลีนี้คงไม่ใช่เรื่องที่ไกลตัวอีกต่อไป National Oceanic and Atmospheric Administration หรือ NOAA หน่วยงานด้านการพยากรณ์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ มหาสมุทร และชายฝั่งทะเล ได้มีการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่องและเผยแพร่ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีผลกระทบต่อโลกของเรา อ้างอิงจากเว็บไซต์ https://www.noaa.gov/education/resource-collections/climate/climate-change-impacts พบว่าจากปี ค.ศ.1901 - 2020 อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นประมาณ 1oC (ภาพ 1) ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบความแตกต่างของอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของโลกตั้งแต่ปี ค.ศ. 1880 - 2020 กราฟแท่งสีฟ้าแสดงอุณหภูมิที่เย็นกว่าค่าเฉลี่ย ส่วนสีแดงแสดงอุณหภูมิที่ร้อนกว่าค่าเฉลี่ย จะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของโลก มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นส่วนหนึ่งที่เร่งให้ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศสูงขึ้น ซึ่งมีผลต่อการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจกตามธรรมชาติ ทำให้เกิดการสะสมความร้อนในชั้นบรรยากาศของโลก ส่งผลให้โลกของเราร้อนขึ้น จากข้อมูลที่มีการรวบรวมปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศมีปริมาณเพิ่มขึ้น 25% ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1958 และเพิ่มขึ้นประมาณ 40% นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม (ภาพ 2)
ภาพ 1 อุณหภูมิพื้นผิวเฉลี่ยของโลก
ที่มา NOAA (https://www.climate.gov/news-features/understanding-climate/cli-mate-change-global-temperature)
ภาพ 2 ปริมาณแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1960 - 2021
ที่มา NOAA https://www.climate.gov/news-features/understanding-climate/cli-mate-change-atmospheric-carbon-dioxide
ผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนี้ ส่งผลต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลก รวมทั้งสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และอื่น ๆ หนึ่งในนั้นคือ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล จากข้อมูลพบว่า ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วนับจากปี ค.ศ. 1993 โดยเพิ่มจากเดิม 1.7 มิลลิเมตร/ปี เป็น 3.2 มิลลิเมตร/ปี และพบว่า จากปี ค.ศ. 1980 ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 21 - 24 เซนติเมตร (ภาพ 3) นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเล เช่น การเกิดปะการังฟอกขาวซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของสัตว์น้ำ ที่อาศัยปะการังเป็นแหล่งอาศัยของตัวอ่อนและเป็นแหล่งอาหาร
ภาพ 3 ระดับน้ำทะเลของโลก
ที่มา NOAA (htps://www.climate.gov/news-features/understanding-cli-mate/climate-change-global-sea-level)
ภาพ 4 การเกิดปะการังฟอกขาว
ที่มา Great Barrier Reef Foundation (https://www.barrierreef.org/news/news/climate-change-cri-sis-the-ipcc-findings-and-our-ambitious-plan-to-save-the-great-barrier-reef)
การจัดการขยะที่ดีช่วยโลกได้นะ คุณเชื่อหรือไม่
การปรับตัวและร่วมกันลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก เป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้เราลดผลกระทบหรือเตรียมรับมือผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นได้ การบริโภคอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงเป็นสิ่งที่เราทุกคนควรร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นการลดการใช้พลังงานไฟฟ้า หรือเชื้อเพลิง เพื่อลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก การลดหรือเลิกใช้ผลิตภัณฑ์บางอย่าง เช่น กล่องโฟมบรรจุ อาหาร พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-Use Plastic: SUP) การจัดการขยะเป็นแนวทางหนึ่ง ที่ช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ เนื่องจากเป็นการช่วยลดกระบวนการหรือขั้นตอนในการกำจัดขยะ เช่น การฝังกลบ และการเผาขยะ ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ เป็นแหล่งในการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกด้วยส่วนหนึ่ง ขยะพลาสติกเป็นวัสดุที่ใช้เวลาในการย่อยสลายยาวนาน และหากมีการจัดการกำจัดที่ไม่ถูกต้อง พลาสติกจะย่อยสลายกลายเป็นไมโครพลาสติก และหากปนเปื้อนในแหล่งน้ำจะเกิดอันตรายกับสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศนั้นได้ เช่น ข่าวการตายของปลาวาฬ หรือปลาโลมาที่กินพลาสติกเข้าไป และหากมีการปนเปื้อนในสัตว์น้ำ และมนุษย์จับสัตว์น้ำเหล่านั้นมาบริโภค ก็จะมีการสะสมไมโครพลาสติกในร่างกาย ซึ่งจะส่งผลต่อสุขภาพในอนาคตได้ ดังนั้น ขยะพลาสติกจึงเป็นหนึ่งปัญหาที่สำคัญที่ทุกคนต้องร่วมกันแก้ไข การจัดการขยะพลาสติกตั้งแต่ผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งที่ควรดำเนินการอย่างเร่งด่วน สำหรับประเทศไทยมี Road Map ในการจัดการขยะพลาสติก ปี พ.ศ.2561 - 2573 (ภาพ 6) โดยยกเลิกพลาสติกบางชนิด และเปลี่ยนมาใช้วัสดุทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะสำเร็จได้ต้องได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน เช่น ปี พ.ศ. 2562 มีการยกเลิกใช้พลาสติกหุ้มฝาขวดน้ำดื่ม (Cap Seal) และห้ามนำเข้า ผลิต หรือขายเครื่องสำอางที่มีพลาสติกไมโครบีดส์แบบใช้แล้วล้างออก เช่น โฟมล้างหน้าผสมเม็ดบีดส์ ในปี พ.ศ.2563 มีการงดแจกถุงหิ้วแบบบางในห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ และในปีนี้ พ.ศ. 2565 คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการจัดการขยะพลาสติก โดยมีเป้าหมายสำคัญ 2 ข้อ คือ
1. การลดและยกเลิกการใช้พลาสติก 4 ประเภท ได้แก่ ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบบางที่มีความหนาน้อยกว่า 36 ไมครอน กล่องโฟมบรรจุอาหาร หลอดพลาสติก และแก้วพลาสติกแบบบางที่มีความหนาน้อยกว่า 100 ไมครอน
2. การนำขยะพลาสติก 7 ชนิด กลับมาใช้ใหม่ ร้อยละ 50 โดยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เช่น ถุงพลาสติกหูหิ้วแบบหนา บรรจุภัณฑ์ฟิล์มพลาสติกชั้นเดียว ขวดพลาสติกทุกชนิด ฝาขวดแก้วพลาสติกแบบหนา ถาดและกล่องอาหาร และช้อน-ส้อม-มีดพลาสติก ซึ่งมาตรการนี้เป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนประเทศโดยใช้ BCG Modelในการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมของรัฐบาล
ภาพ 5 แผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก
ภาพ 6 Road Map การจัดการขยะพลาสติก พ.ศ. 2561 - 2573
ที่มา กรมควบคุมมลพิษ htps://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2021/11/pcdnew-2021-1 1-25_07-19-53 _916455.pdf
Recycling and Upcycling คืออะไร แตกต่างกันอย่างไร
เราคุ้นเคยกับแนวคิดในการลดและคัดแยกขยะ ก่อนนำมาเข้าสู่กระบวนการกำจัดในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดการแบบ 3Rs (Reduce Reuse และ Recycle) หรือจะเป็นแนวทาง 5Rs (Reduce Reuse Repair Recycle และ Reject) แต่อาจจะไม่คุ้นเคยกับคำว่า Upcycling เท่าใดนัก
Recycling หรือ Recycle คือ การนำกลับมาใช้ใหม่ โดยการนำสิ่งของหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว หรือขยะที่ได้มีการคัดแยกหมุนเวียน กลับเข้าสู่กระบวนการผลิตในแต่ละประเภท เช่น กระดาษ แก้ว พลาสติก โลหะหรืออโลหะ ถูกนำเข้าสู่กระบวนการผลิตและออกเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
Upcycling หรือ Upcycle คือ กระบวนการที่มีการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ โดยไม่มีการนำวัสดุเหล่านี้เข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่อีกครั้ง แต่ใช้กระบวนการออกแบบ เพิ่มแนวคิดสร้างสรรค์ลงไปในผลิตภัณฑ์ โดยผลิตออกมาให้มีมูลค่าหรือคุณภาพที่สูงขึ้น เช่น การนำป้ายไวนิล หรือป้ายพลาสติกที่ไม่ใช้แล้ว นำมาออกแบบเป็นกระเป๋าสะพาย การนำขวดน้ำที่ทิ้งแล้วมาทอเป็นเส้นใยสำหรับผลิตเสื้อผ้าหรือกระเป๋าสาน การนำกระดาษที่ไม่ใช้แล้วมาออกแบบเป็นเครื่องประดับ การนำยางรถยนต์เก่ามาออกแบบเป็นโต๊ะและเก้าอี้ ทั้งนี้ ขึ้นกับแนวคิด ความคิดสร้างสรรค์ที่ใช้ในการออกแบบ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้านั้นๆ ดังนั้น จะเห็นว่าแนวทางหรือกระบวนการ Upcycling เป็นสิ่งที่เราคุ้นเคยมานานแล้ว และเราสามารถส่งเสริมให้ทุกคนทำได้
ภาพ 7 การนำขวดน้ำพลาสติกมารีไซเคิลและออกแบบเป็นกระถางต้นไม้ที่รดน้ำเอง
ที่มา LIVINGASEAN http//livingasean.com/arts-design/upcycling-ideas-turning-trash-products-recycled-plastic-bottle-whale/
ภาพ 8 การนำกระดาษที่เหลือทิ้งจากโรงพิมพ์มาออกแบบเพิ่มมูลค่าเป็นเครื่องประดับ
ที่มา https://www.facebook.com/basicteeory
Recycling and Upcycling สู่การเรียนรู้ของนักเรียน
ㆍเรียนรู้วิทยาศาสตร์จากการจัดการขยะในชีวิตประจำวัน เช่น จำแนกวัสดุจากการแยกขยะออกเป็นพลาสติก กระดาษ แก้ว โลหะ เพื่อเรียนรู้ตั้งแต่กระบวนการผลิตจนถึงกระบวนการกำจัดหรือย่อยสลาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Life Cycle Assessment :LCA) เพื่อให้ทราบผลกระทบสิ่งแวดล้อมของผลิตภัณฑ์ตลอดจนกระบวนการผลิต
ㆍเรียนรู้วิธีการเตรียมการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ การร่วมกันลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่เราควรจะรับรู้และเกิดความตระหนักในการร่วมมือกัน
ㆍเรียนรู้คณิตศาสตร์จากการเก็บข้อมูลการจัดการขยะในบ้าน หรือในโรงเรียน เช่น การทำธนาคารขยะที่มีการแยกขยะ และการนำขยะที่สามารถรีไซเคิลได้ไปขายให้กับผู้รับซื้อของเก่า เราจะได้ชั่งน้ำหนัก บันทึกข้อมูล คำนวณเงินที่ขายขยะรีไซเคิลได้ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่ต้องใช้คณิตศาสตร์มาช่วยในการคำนวณทั้งสิ้น
ㆍเรียนรู้เทคโนโลยีจากการสืบค้นข้อมูลขยะในชีวิตประจำวัน และการออกแบบผลิตภัณฑ์จากขยะเพื่อการจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์
นอกจากที่เราจะได้ช่วยโลก ในการคัดแยกขยะเพื่อลดปริมาณขยะซึ่งต้องใช้ทรัพยากรในการกำจัด และช่วยลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจกออกมาสู่บรรยากาศ การจัดการขยะโดยผู้บริโภคจึงมีส่วนช่วยโลกเราเป็นอย่างมาก หากสามารถดำเนินการตามแผนการจัดการขยะที่วางแผนไว้ คาดว่าจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกได้ 780,000 ล้านตัน/ปี และลดงบประมาณการกำจัดขยะมูลฝอย 3,900 ล้านบาท/ปี รวมถึงประหยัดพื้นที่ฝังกลบ และกำจัดขยะมูลฝอยพลาสติก 2,500 ไร่ และลดปริมาณปล่อยแก๊สเรือนกระจก เทียบเท่าคาร์บอนไดออกไซด์ 1.2 ล้านตัน เรามาร่วมด้วยช่วยโลกกับการจัดการขยะแบบยั่งยืน เริ่มง่าย ๆ จากตัวเรา
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ปีที่ 50 ฉบับที่ 235 มีนาคม - เมษายน 2565
ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://emagazine.ipst.ac.th/235/20/
บรรณานุกรม
Made from 28 recycled PET bottles. Retrieved March 7, 2022, from https://livingasean.com/arts-design/upcycling-ideas-turning-trash-products-recycled-plastic-botle-whale/
Matmatch. Recycling vs Upcycling: Processes and Materials. Retrieved March 7, 2022, from https://matmatch.com/learn/process/recycling-vs-upcycling-processes-and-materials.
National Oceanic and Atmospheric Administration. (August 13, 2021). Climate Change Impact. Retrieved March 7, 2022, fromhttps://www.noaa.gov/education/resource-collections/climate/climate-change-impacts.
กรมควบคุมมลพิษ: มาตรการลดและคัดแยกขยะมูลฝอยในหน่วยงานภาครัฐและการขับเคลื่อนการดำเนินงานลดและคัดแยกขยะมูลฝอย ในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม.สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2565, จาก https://www.pcd.go.th/wp-content/uploads/2021/11/pcdnew-2021-11-25_07-19-53_916455.pdf.
กรุงเทพธุรกิจ. (19 กุมภาพันธ์ 2564). ลด ละ เลิกใช้พลาสติกสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน. สืบค้นเมื่อ 16 มีนาคม 2565.จาก https://www.bangkokbiznews.com/social/923383.
กรุงเทพธุรกิจ. (18 มิถุนายน 2564). ส่องสถานการณ์ "ขยะพลาสติก" ช่วงโควิด-19 กับความท้าทาย "โรดแมพ" ปี 65. สืบค้นเมื่อ 25 มีนาคม 2565. จาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/944120.
สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน). (17 สิงหาคม 2564). Upcycle Trend ใหม่ของคนสายกรีน. สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2565.จาก https://www.okmd.or.th/okmd-kratooktomkit/4396/.
สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. แผนปฏิบัติการลด และคัดแยกขยะมูลฝอย. สืบค้นเมื่อ 7 มีนาคม 2565.จาก http://www.soc.go.th/wp-content/uploads/2021/02/garbage2564.pdf.
-
13043 ตัวเราเปลี่ยนเพื่อโลกที่ดีขึ้นกับ Recycling และ Upcycling /article-science/item/13043-2023-06-13-06-14-22-4เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง