กิ้งกือ (Millipede)
กิ้งกือ (Millipede)
กิ้งกือ (Millipede) เป็นชื่อสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังมีเปลือกตัวแข็งลำตัวยาวแบ่งเป็นปล้องไม่แบ่งอกหรือท้องให้เห็น ปล้องตามลำตัวจับกันเป็นคู่ตามยาวยืดหดเข้าหากันได้ ทำให้กิ้งกือสามารถขดตัวเป็นวงกลมได้เมื่อถูกรบกวน ปล้องแต่ละคู่จะมีขาสองคู่ยกเว้นปล้องแรกไม่มีขา ปล้องที่สองถึงสี่มีขาเพียงคู่เดียว จำนวนขาอาจมีได้ถึงสองร้อยสี่สิบคู่ โดยรูปร่างของกิ้งกือส่วนหัวมีตาอยู่ด้านข้าง (ยกเว้นกิ้งกือถ้ำจะไม่มีตา) และลำตัวลักษณะขาข้อ (arthropods) หนวดสั้น ปาก 2 ส่วนบนล่างเพื่อใช้เคี้ยวและกด ลำตัวยาวมีขาสองคู่ต่อหนึ่งวงปล้อง ผิวมันแข็งทำหน้าที่เสมือนเกราะป้องกัน เมื่อกิ้งกือโตเต็มที่นับปล้องได้ ประมาณ 100-200 ปล้อง ขนาดลำตัวยาว 2 มิลลิเมตร ถึง 30 เซนติเมตร เริ่มผสมพันธุ์เมื่ออายุ 1 ปี ซึ่งกิ้งกือตัวผู้กับกิ้งกือตัวเมียจะม้วนเกี่ยวรัดเป็นเกลียว จากนั้น 1 สัปดาห์ เพศเมียจะหาที่ ฝังไข่ซึ่งเป็นตามมูลซอกดิน ครั้งหนึ่งออกประมาณ 100-200 ฟอง ใช้เวลา 10 วัน ลูกกิ้งกือวัยอ่อนจะเหมือนแมลง มี 6 ขา จะเริ่มทยอยขึ้นสู่หน้าดินเพื่อหากินซากใบไม้ป่นเป็นอาหาร ในช่วงยามกลางคืนพอมันโตจึงเริ่มหันมากินไม้ผุ ขอนไม้ ใบไม้เน่า ซึ่งมีเชื้อรา แบคทีเรีย พร้อมกับถ่ายมูลเป็นก้อนคล้ายยาลูกกลอนเต็มไปด้วย จุลินทรีย์ สารอินทรีย์ ที่เป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มธาตุอาหารในดิน และการช่วยย่อยสลายซากในระดับต้นๆ ดังนั้นมันจึงเป็นเสมือน "โรงงานธรรมชาติเคลื่อนที่" หากมีภัยหรือที่หลาย ๆ คนชอบเอาไม้ไปเขี่ย กิ้งกือจะม้วนตัวขดเป็นวงกลม ขณะเดียวกันก็ปล่อยสารเคมีกลุ่ม "ไซยาไนต์" หรือสารที่เรียกว่า "เบนโซควิโนน" ลักษณะสีเหลือง เมื่อถูกอากาศจะเปลี่ยนเป็นสีแดงและเข้มในที่สุด มีกลิ่นเหม็นคล้ายน้ำยาทำความสะอาดห้องน้ำตามโรงพยาบาล
ภาพที่ 1 กิ้งกือ ณ อำเภอเต่างอย จังหวัดสกลนคร
ที่มา วรางรัตน์ เสนาสิงห์
นอกจากกิ้งกือเป็นสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่หลายคนอาจขยะแขยงรูปร่างที่น่าเกลียดของมัน แต่ในความเป็นจริงแล้ว กิ้งกือยังมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศช่วยพรวนหน้าดินเป็นผู้ย่อยสลายขยะให้เป็นดินชั้นเลิศ มันจะกัดกินเศษซากพืชที่ร่วงหล่นพื้นและย่อยสลายออกมาเป็นมูลก้อนกลม ซึ่งอุดมไปด้วยแร่ธาตุเช่นเดียวกับปุ๋ย ซึ่งได้ผ่านการวิเคราะห์เบื้องต้นแล้วว่า มูลกิ้งกือมีธาตุอาหารครบทั้ง NPK ได้แก่ ได้แก่ N (ไนโตรเจน) P (ฟอสฟอรัส) และ K (โพแทสเซียม) และมีการดำรงชีวิตที่เอื้อประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืช จึงเปรียบเทียบได้ว่ากิ้งกือว่าเป็นขุมทรัพย์ชีวภาพในดินที่หลายคนมองข้ามไป เป็นปุ๋ยธรรมชาติให้แก่ต้นไม้ใบหญ้า ทั้งเขตป่าและเขตบ้านเปรียบเสมือนโรงงานผลิตปุ๋ยธรรมชาติที่เคลื่อนที่ได้ ช่วยพรวนดิน ย่อยสลายซากพืชซากสัตว์ โดยทำงานร่วมกับจุลินทรีย์ภายในตัวกิ้งกือ เปลี่ยนให้เป็นปุ๋ยธรรมชาติที่สร้างความอุดมสมบูรณ์ แก่พื้นดิน
ภาพที่ 2 ลักษณะการม้วนตัวของกิ้งกือ
ที่มา https://pixabay.com/users/josch13-48777/
แหล่งที่มา
วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. กิ้งกือ. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2561, จาก
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B7%E0%B8%AD
เพ็ญพิชญา เตียว. 'กิ้งกือ' นักอนุรักษ์ธรรมชาติ เพราะมันคือโรงงาน ปุ๋ย...เคลื่อนที่. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2561, จาก http://www1a.biotec.or.th/BRT/index.php/2009-06-23-04-00-07/88-millipedfair
งานศึกษาและวิจัยจากทั่วโลกที่น่าสนใจตอนที่ 116 : จับกิ้งกือเป็นแรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์. สืบค้นเมื่อ 22 สิงหาคม 2561,จาก https://my.dek-d.com/0012/story/viewlongc.php?id=404229&chapter=116
อุราณี ทับทอง. เทคโนฯสัตว์เลี้ยง มุมชีวิต ?กิ้งกือ? ขุมทรัพย์ชีวภาพหลากสายพันธุ์. สืบค้นเมื่อ 8 กันยายน 2561, จาก http://info.matichon.co.th/techno/techno.php?srctag=05084010752&srcday=&search=no
-
8670 กิ้งกือ (Millipede) /article-science/item/8670-2018-09-11-08-07-29เพิ่มในรายการโปรด