จาก STEM สู่ STEAM
ก่อนหน้านี้เรารู้จักและค่อนข้างเริ่มคุ้นหูคุ้นเคยดีกับคำว่า STEM แต่ไม่ทันไร เราก็ได้ยินคำที่คล้าย ๆ กันเพิ่มขึ้นมาคือ STEAM ตัว A ที่เข้ามา คืออะไร?
ภาพ STEAM
ที่มา https://www.oceanviewsd.org/Page/4584
ตัว A ที่เราจะแนะนำให้รู้จักก็คือ ART อีกหนึ่งสาขาวิชาที่ถูกนำมาเป็นทักษะเพิ่มเข้าไปใน STEM แน่นอนว่าเราคงได้ครบองค์ความรู้กันแน่ ๆ ทั้งศาสตร์และศิลป
ด้วยความก้าวหน้าสู่สังคมในศตวรรษที่ 21 ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราหวังพึ่งเยาวชนในวันนี้ให้เป็นกำลังสำคัญของประเทศ แน่นอนกระบวนการเรียนรู้และการบูรณาการทางการศึกษาต่าง ๆ เกิดขึ้นมาเพื่อให้เป็นเครื่องมือสร้างสรรค์และฝึกฝนทักษะต่าง ๆ ให้เยาวชนเหล่านี้ให้เป็นผู้ที่มีความเก่ง ฉลาด ทั้งทางด้านศาสตร์และศิลปอย่างเต็มรูปแบบ STEM/STEAM EDUCATION คือเครื่องมือสำคัญที่เรานำมาใช้กับเยาวชนในยุคนี้
ถ้าว่าไปแล้ว STEAM Education ก็เป็นแนวคิดการศึกษาที่ต่อยอดไปจากการศึกษาแบบ STEM นั้นเอง ซึ่งในการบูรณาการกิจกรรมหรือการศึกษาต่าง ๆ จะมีลักษณะที่เชื่อมโยงกัน การบูรณาการด้านความรู้ทางวิทย์ คณิต เทคโนโลยี และวิศวกรรม มีความสำคัญ หากแต่จะดียิ่งขึ้นถ้ามีศิลปะช่วยเสริมเรื่องความคิดสร้างสรรค์ สร้างแรงบันดาลใจ ความสุขในการเรียนรู้ สู่การเติบโตอย่างสมดุล การแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ด้วยความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) อาจนำไปสู่วินัยในการเป็นนักวิทยาศาสตร์ และเพิ่มพูนทักษะในการแก้ปัญหา หายเรามองย้อนกลับไปกระบวนการทาง STEM ในหลาย ๆ กิจกรรม จะมีกระบวนการที่ต้องใช้ทักษะความคิดและการออกแบบ อาทิเช่น การทำบัวลอยก็จะมีการให้ปั้นลูกบัวลอยตามรูปร่างที่อาจจะจินตนาการเป็นรูปทรงต่าง ๆ การทำว่าวก็มีการให้ออกแบบโครงหรือตัวว่าวเป็นตัวต่าง ๆ เป็นต้น
มีข้อมูลกล่าวถึงว่า คนเราแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ พวกใช้สมองข้างซ้าย (left-brained) ซึ่งมีความถนัดทางด้านการคิดการคำนวณ หรือกล่าวคือพวกถนัดทักษะทางด้าน STEM ส่วนใหญ่มีอาชีพเป็นหมอ วิศวะ นักวิทยาศาสตร์ กับ พวกใช้สมองข้างขวา (right-brained) ซึ่งจะถนัดอะไรที่ต้องใช้จินตนาการกับความคิดสร้างสรรค์ เหมาะที่จะเป็นศิลปิน นักการศึกษาที่เชี่ยวชาญด้านนี้มองว่า นักประดิษฐ์ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงหลายคนจากทั่วทุกมุมโลก ไม่ใช่เพียงมีแค่นักวิทยาศาสตร์ แต่ยังมีนักศิลปะด้วย การบูรณาการทั้ง 4 (ทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์) + 1(ทักษะทางศิลปะ) จะทำให้เกิดความคิดแบบองค์รวม (Holistic Way)
ถ้าจะให้สรุปกันแบบเข้าใจง่าย ๆ เลยก็คือ การฝึกให้ผู้เรียนมีทักษะการคิดอย่างสร้างสรรค์โดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือในการบูณาการ พร้อม ๆ ไปกับการบูรณาการความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีควบคู่กันไป ซึ่งทบทวนดูดี ๆ มันคือสิ่งที่เราใช้มาตั้งแต่เด็ก เพราะถ้ามองย้อนกลับไปชั้นอนุบาลต่อจากนับนิ้วนับเลขเราก็วาดรูปกับวิชาคณิตศาสตร์และภาษาไทยกันอย่างสนุกสนานเลย จริงไหม?
แหล่งที่มา
สติยา ลังการ์พินธุ์. เติม STEM ให้เต็ม STEAM. สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2561, จาก
http://slideplayer.in.th/slide/2764416/
Bundit Boonyarit. ^(2559, 10 มิถุนายน) . ดีไซน์ สไตล์วิทย์ จาก STEM สู่ STEAM . สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2561, จาก
https://www.slideshare.net/ManBaritoneBoonyarit/stem-steam
เดลินิวส์. ^(2560, 2 มกราคม) . STEM กับ STEAM . สืบค้นเมื่อ 2 มกราคม 2561, จาก
https://www.dailynews.co.th/article/546471
-
7812 จาก STEM สู่ STEAM /article-stem/item/7812-stem-steamเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง