แว่นวีอาร์ สื่อเรียนรู้เสมือนจริงแห่งอนาคต (VR: Virtual Reality)
เมื่อหลายวันก่อนผมมีโอกาสได้ลองใช้แว่นชนิดหนึ่งที่ร้านค้านำมาสาธิตเผยแพร่ในงานแสดงสินค้าความน่าสนใจอยู่ที่ตัวแว่นทำมาจากกระดาษและมีราคาไม่แพง เมื่อทดลองสวมแว่น ผมรู้สึกตื่นเต้นกับภาพที่ได้เห็นเป็นอย่างมาก ภาพช่างดูสมจริงราวกับว่าผมกำลังอยู่ในเหตุการณ์นั้น จึงทำให้เริ่มรู้สึกสนใจและได้ศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมจนทราบว่าในปี ค.ศ. 2014 กูเกิลได้พัฒนาตันแบบกล้องที่ทำจากกระดาษแข็งซึ่งมีลักษณะคล้ายกล้องสองตาและเรียกว่า Google Cardboard เมื่อนำโทรศัพท์มาติดตั้งที่ด้านหน้าของกล้องแล้วมองผ่านช่องมองภาพ จะเห็นภาพในสามมิติเสมือนจริงหลังจากนั้นก็มีบริษัทต่าง ๆ ได้พัฒนาตามมาอีกหลายรุ่นและหลายแบบในลักษณะของแว่นสวมใส่โดยใช้ชื่อว่าแว่นวีอาร์ (VR Glasses: Virtual Reality Glasses)
รูปที่ 1 กล้องสองตา
รูปที่ 2 Google Cardboard
หลักการทำงานของแว่นวีอาร์นี้คล้ายกับเครื่องมองภาพสามมิติ (stereoscope) ซึ่งมีใช้เป็นอุปกรณ์ทางภูมิศาสตร์ในการดูภาพภูมิประเทศสามมิติ
รูปที่ 3 เครื่องมองภาพสามมิติ (stereoscope)
เมื่อนำหลักการทำงานของกล้องสามมิติรวมเข้ากับความสามารถในการแสดงผลที่มีความละเอียดสูงและมีประสิทธิภาพ จะได้อุปกรณ์แสดงผลแบบสามมิติที่สมจริง ซึ่งมีหลักการทำงานดังนี้
เริ่มจากการสร้างภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวในสองมิติแบบคู่ โดยวิธีที่ง่ายที่สุดคือ การสร้างภาพให้เกิดการรับรู้ทางสึกในสมอง โดยให้ตาของผู้สวมแว่นเห็นภาพต่างกัน ณ ที่มิติเดียวกัน แล้วสร้างความเหลื่อมเพียงเล็กน้อยระหว่างภาพที่เห็นด้วยตาซ้ายกับตาขวาผ่านเลนส์ที่ช่วยขยายภาพให้ใหญ่ แล้วปรับภาพให้ชัดเจนยิ่งขึ้นกล่าวคือ การที่เห็นภาพสองภาพต่างกัน แต่เห็นเป็นภาพเดียวกันด้วยการมองแบบธรรมชาติ ต้องมีการตั้งระยะการมองให้ห่างกันอย่างเหมาะสม ไม่ให้เห็นเป็นภาพเลือนลางเพื่อป้องกันการเมื่อยล้าของสายตา
รูปที่ 4 หลักการมองภาพของแว่น VR
ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การสร้างภาพสามมิติจึงไม่ใช่เรื่องยุ่งยากอีกต่อไป ในสมาร์ตโฟนรุ่นใหม่ ๆ มีผู้พัฒนาแอปพลิเคชันมาช่วยในการถ่ายภาพแบบสามมิติเป็นจำนวนมากให้เลือกใช้งาน นอกจากนี้ก็ยังมีแอปพลิเคชันที่แสดงภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวแบบสามมิติ เช่น Cardboard Camera ของ google ใช้สาธิตภาพสามมิติ หรือ VR Cinema ของ Mobius Networks ที่สามารถแสดงภาพสามมิติได้ในทันทีทันใด เพื่อการเห็นที่เสมือนจริงมากขึ้น
รูปที่ 5 แว่น VR
นอกจากนี้ก็ยังมีการผสมผสานเพิ่มเติมให้กับระบบประสาทสัมผัสอื่น ๆ ด้วย เช่น ให้เสียงประกอบการมองที่สมจริงผ่านลำโพงหรือหูฟัง ทำให้ผู้สวมใส่แว่นวีอาร์รู้สึกเหมือนอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริง ๆ เพื่อประโยชน์ในการนำไปใช้งานที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การทหาร การแพทย์เกมเสมือนจริง รวมไปถึงการให้แนวคิดใหม่ ๆ ในการนำไปใช้งานในอนาคต
รูปที่ 6 ภาพที่แสดงในแว่น VR
ปัจจุบัน กูเกิลได้เปิดตัวโครงการ Expeditions ซึ่งเป็นโครงการวีอาร์เพื่อการศึกษา จุดประสงค์เพื่อให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสได้ท่องโลกกว้างผ่าน Google Cardboard ที่สามารถใช้ได้กับแว่นวีอาร์ค่ายอื่น ๆ ด้วยโดยเริ่มการทดสอบในเดือนกันยายน ค.ศ. 2015 ที่ผ่านมาในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา เดนมาร์ก และสิงคโปร์ มีการใช้ Google Cardboard ร่วมกับสมาร์ตโฟน เพื่อทดลองสื่อที่ใช้สนับสนุนการเรียนการสอนในอนาคต ผู้สนใจสามารถข้าไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Google for Education ในชื่อโครงการ Expeditions หรือลงทะเบียนได้ที่ https://www.google.com/edu/expeditions/
สำหรับการศึกษาในประเทศไทยเรายังมีความรู้อีกหลายเรื่องที่เราไม่สามารถพาผู้เรียนไปศึกษาเรียนรู้ในสถานที่หรือเหตุการณ์จริงได้ ซึ่งอาจเป็นสถานที่อันตรายตั้งอยู่ห่างไกล หรือไม่มีในปัจจุบัน เช่น แหล่งที่อยู่ของไดโนเสาร์ ดวงดาวในเอกภพการระเบิดของภูเขาไฟ ฯลฯ แว่นวีอาร์จะเป็นสื่อเรียนรู้แบบใหม่ที่จะพาผู้เรียนเข้าไปสัมผัสกับเหตุการณ์เหล่านั้นได้เหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้และเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งมากกว่าการเปิดดูภาพในตำราหรือดูภาพสองมิติเพียงอย่างเดียว
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิตยสาร สสวท. ผู้อ่านสามารถติดตามบทความที่น่าสนใจเพิ่มเติมได้ที่ https://magazine.ipst.ac.th/
บรรณานุกรม
Google Cardboard. สืบคั้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2559. จา https://www.google.com/get/cardboard.
Google Expeditions. สืบคั้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2559, จา https:/www.google.com/edu/expeditions.
Stereoscope. สืบต้นเมื่อ 26 ตุลาคม 2559. จาN https://en.wikipedia.org/wiki/Stereoscope.
-
12468 แว่นวีอาร์ สื่อเรียนรู้เสมือนจริงแห่งอนาคต (VR: Virtual Reality) /article-technology/item/12468-vr-virtual-realityเพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง