เห็ดหลินจือ สมุนไพรยอดแห่งการปรับสมดุลร่างกาย
ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 12 เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสฉลองพระชนมายุ 5 รอบ วันที่ 2 เมษายน 2558 ประจำปี พ.ศ.2558 ระหว่างวันที่ 2 – 6 กันยายน พ.ศ. 2558 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพค เมืองทอง ธานี การประชุมครั้งนี้มีการประชุมวิชาการ เกี่ยวกับ แพทย์แผนไทย แพทย์พื้นบ้าน และแพทย์ทางเลือก เป็นเวทีในการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์ ระดับพื้นที่และระดับชาติ เป็นเวทีแห่งการพัฒนาความรู้ ทั้งในด้านเชิงวิชาการ ขับเคลื่อนภูมิปัญญาไทย สุขภาพวิถีไทย สู่ความยั่งยืน จากโรงพยาบาลการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ผสมผสาน กรมพัฒนาการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข
ในงานนี้มี ผัก พืช สมุนไพรแสดงในงานมากมายนับร้อยชนิด ที่มีสรรพคุณต่าง ๆ ของสมุนไพร เช่น สมุนไพรต้านมะเร็ง สมุนไพรดูแลกระดูกและข้อ สมุนไพรบำรุงสมอง สมุนไพรป้องกันอัลไซเมอร์ สมุนไพรปรับสมดุลร่างกาย ฯลฯ ซึ่งสมุนไพรปรับสมดุลร่างกายมีหลายชนิด เช่น ผักแปม เห็ดหลินจือ โสมเกาหลี โสมอเมริกัน โสมไซบีเรีย ผลมะขามป้อม ต้นเบ็ญจขันธ์ รากชะเอม เห็ดเก๋ากี้ ถั่งเช่า ซึ่งหลายคนคงจะเคยได้ยินชื่อกันมาบ้างแล้ว สมุนไพรที่สำคัญมากอีกชนิดหนึ่ง คือ เห็ดหลินจือ นอกจากเป็นยอดแห่งการปรับสมดุลร่างกายแล้ว เห็ดหลินจือยังมีคุณค่าทางด้านเภสัชหรือทางยาอีกมากมาย
เห็ดหลินจือ
มีต้นกำเนิดจากเทือกเขา ฉางไป๋ซาน ในประเทศจีน จัดเป็นยาจีน (Chinese traditional medicine) ซึ่งชาวจีนค้นพบและใช้เป็นยามานานกว่า 4,000 ปี เห็ดหลินจือเป็นของหายากมีคุณค่าสูงในทางสมุนไพรจีน ได้มีการบันทึกไว้ในคัมภีร์โบราณ ชื่อ เสินหนงเปินเฉ่า ซึงเป็นตำราที่เก่าแก่ที่สุดของจีนและมีคนนับถือมากที่สุด ได้กล่าวไว้ว่าเห็ดหลินจือเป็น เทพเจ้าแห่งชีวิต มีพลังมหัศจรรย์ บำรุงร่างกาย เป็นยาอายุวัฒนะ ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง รักษาโรคต่าง ๆ ได้อย่างกว้างขวาง เห็ดหลินจือถูกจัดให้เป็นสมุนไพรอันดับต้น ๆ ที่ได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์หลายประเทศ ได้ทำการวิจัยตรวจสอบองค์ประกอบ พบว่าเห็ดหลินจือให้คุณค่าทางโภชนาการที่สูงและมีสารออกฤทธิ์ มีสรรพคุณทางยามากกว่า 150 ชนิด เป็นสารที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างกว้างขวางมาก
เห็ดหลินจือ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า กาโนเดอมา ลูซิดัม (Ganoderma lucidum (Fr.) Kart. และจัดอยู่ในวงศ์ กาโนเดอมาทาซีอี (Ganodermataceae)
ชื่อสามัญ ปัจจุบันในประเทศไทยพบเห็ดหลินจือได้เกือบทุกภาคของประเทศ มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามท้องถิ่น เช่น เห็ดหลินจือ เห็ดหมื่นปี เห็ดขอนไม้ เห็ดอมตะ เห็ดจวักงู เห็ดกระด้าง เห็ดไม้ ชื่อภาษาอังกฤษเรียกว่า Holy mushroom แปลว่าเห็ดศักดิ์สิทธิ์ หรือบางครั้งเรียกว่า Lacquerd mushroom เพราะมีลักษณะเป็นมันคล้ายแลคเกอร์ ในประเทศจีนเรียกว่า Ling zhi ในประเทศญี่ปุ่นเรียกว่า Mannantake หรือ Reishi
ภาพ สุนทร ตรีนันทวัน
ผลิตภัณฑ์ เครื่องดื่มจากเห็ดหลินจือ
ชนิดกระป๋อง น้ำเห็ดหลินจือผสมน้ำผึ้งธรรมชาติ จากโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา
ชนิดกล่อง น้ำเห็ดหลินจือผสมน้ำผึ้งธรรมชาติ ตราดอยคำ ผลิตภัณฑ์โครงการหลวง
ลักษณะสำคัญของดอกเห็ดหลินจือ
เห็ดหลินจือมีลักษณะที่สำคัญคือ ดอกเห็ดมีรูปร่างคล้ายไต ใต้หมวกของดอกเห็ดไม่มีครีบซึ่งต่างกับเห็ดทั่ว ๆ ไปที่ใต้หมวกเห็ดมีครีบ แต่จะมีรูเล็ก ๆ จำนวนมาก ภายในรูเป็นที่เกิดของ สปอร์ (Spores) ด้านบนของหมวกเห็ดหลินจือ มีสีน้ำตาลแดงไปจนถึงสีน้ำตาลม่วงและสีดำ ผิวของหมวกเห็ดหลินจือเป็นเงาเหมือนเคลือบแลคเกอร์ ดอกเห็ดหลินจือมีลักษณะแข็ง จากสรรพคุณอันน่าอัศจรรย์ของเห็ดหลินจือ ทำให้แพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากประเทศต่าง ๆ เช่น จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาถึงสารออกฤทธิ์และสรรพคุณทางยาของเห็ดหลืนจือ โดยมีการตรวจสอบโครงสร้างทางเคมี การทดลองในห้องปฏิบัติการด้วยกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่ ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีสารที่มีสรรพคุณทางยามากกว่า 150 ชนิด
รองศาสตร์จารย์ ดร. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์ จากภาควิชาเภสัชวินิฉัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวในบทความเรื่อง เห็ดหลินจือ จากผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ซึ่งเป็นผลงานวิจัยเพื่อสังคม ว่าเป็นราชาแห่งสมุนไพรจีน ที่มีการใช้มานานกว่า 4,000 ปี เป็นยาอายุวัฒนะและเป็นยารักษาโรคต่าง ๆ ในเภสัชตำรับของสาธารณประชาชนจีน ระบุสรรพคุณเป็นยาบำรุงร่างกาย บรรเทาอาการอ่อนเพลีย แก้หลอดลมอักเสบเรื้อรัง รักษาโรคหัวใจและช่วยให้นอนหลับ และมีรายงานการศึกษาทางคลินิกพบว่า เห็ดหลินจือมีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ในผู้ป่วยมะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ และผู้ป่วยมะเร็งขั้นลุกลาม
นอกจากนี้จากผลงานวิจัยยังพบว่าเห็ดหลินจือมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยามากมาย เช่น มีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ฤทธิ์ต้านเนื้องอกและมะเร็ง ฤทธิ์ป้องกันเส้นประสาทเสื่อม ฤทธิ์ลดน้ำตาลในเลือด ฤทธิ์ลดไขมันในเลือด ฤทธิ์ต้านออกซิเดชัน ฤทธิ์ต้านการอักเสบ เป็นต้น ซึ่งสารออกฤทธิ์ดังกล่าวนี้ทางเภสัชวิทยาหรือทางยา ได้แก่
สารโพลีแซคคาไรด์ (Polysaccharide) สารในกลุ่มนี้มีหลายชนิดที่มีสรรพคุณทางยา สารที่โดดเด่นในกลุ่มนี้ คือ เบต้า-ดี-กลูแคน (Beta-D-Glucan) เป็นสารที่ช่วยฟื้นฟูประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันให้แข็งแกร่ง เป็นสารตัวแรกในเห็ดลินจือที่ค้นพบว่ามี ฤทธิ์ต้านมะเร็งหรือลดอาการเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอก ลดระดับน้ำตาลในเลือด บำรุงหัวใจ เพิ่มประสิทธิภาพของเม็ดเลือดขาว ฯลฯ
สารไตรเทอร์พีนอยด์ (Triterpenoid) สารในกลุ่มนี้เป็นสารที่มีรสขมในเห็ดหลินจือ เป็นสารที่ช่วยลดไขมันในตับ ลดความดันโลหิต ลดเบาหวาน ช่วยชะลอความเสื่อมของเซลล์ ควบคุมการก่อตัวของเกล็ดเลือด ช่วยละลายลิ่มเลือด ลดไขมันในการอุดตันของเส้นเลือด ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และยังมีคุณสมบัติช่วย ยับยั้งการหลั่งของสาร ฮิสตามีน (Antihistamine) หรือแก้แพ้นั่นเอง และยังช่วยให้ระบบเผาผลาญในร่างกายดีขึ้น
สารสตีรอยด์ (Steroid) สารในกลุ่มนี้ในเห็ดหลินจือ เช่น กาโนสเตอโรน (Ganosterone) มีประโยชน์ต่อร่างกาย คือ มีฤทธิ์ในการลดพิษต่อตับ ในประเทศเกาหลีจึงใช้เป็นสารบำรุงตับ
สารเยอร์มาเนียม (Germanium, Ge content) สารในกลุ่มนี้พบใน โสมทั่ว ๆ ไป กระเทียม แต่มีมากในเห็ดหลินจือ เป็นสารที่ช่วยเพิ่มความจำ ขจัดสารพิษในร่างกาย ช่วยในการนอนหลับได้ดีขึ้น ช่วยให้ระบบประสาทส่วนกลางทำงานได้ดี ช่วยกำจัดสารพิษและสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ เป็นสารที่ส่งเสริมกระบวนการทำงานของร่างกาย ช่วยปรับสมดุลของร่างกายได้ดีขึ้น
สารสำคัญดังกล่าวนี้จะพบได้ในส่วนสปอร์มากกว่าส่วนที่เป็นดอกเห็ด และสปอร์ที่กะเทาะผนังหุ้มมีฤทธิ์กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและต้านมะเร็งได้ดีกว่าสปอร์ที่ไม่กะเทาะผนังและส่วนดอกเห็ด และมีการศึกษาทางพิษวิทยาของเห็ดหลินจือทั้งแบบพิษเฉียบพลันและพิษเรื้อรัง พบว่ามีความเป็นพิษต่ำมากและมีความปลอดภัยสำหรับการใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน
ประเทศไทยมีการปลูกเห็ดหลินจือในเชิงพาณิชย์มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี และมีการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์เห็ดหลินจือในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ดอกเห็ดหั่นเป็นแผ่นบาง ๆ น้ำเครื่องดื่มเห็ดหลินจือ เครื่องดื่มชาเห็ดหลินจือ กาแฟเห็ดหลินจือ เป็นต้น
..................................
สุนทร ตรีนันทวัน
ฝ่ายนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการเรียนรู้
สำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ สสวท.
ข้อมูลอ้างอิง
- สุขภาพกับเห็ดหลินจือ (Online) เข้าถึงได้จาก http://www.fs-ntw888.com/knowledge/25-2015-04-04-16-30-26.html สืบค้น 16/11/2558
- เห็ดหลินจือ (Online) เข้าถึงได้จาก http://allknowledge.tripod.com/linchue.html#resultสืบค้น 16/11/2558
- Ganoderma Farm Chieng Mai (เห็ดหลินจือ – Ling Zhi) (Online) เข้าถึงได้จาก http://th-th-facebook.com/ganochiengmai/Post/225442190929294 สืบค้น 16/11/2558
- เห็ดหลินจือ (Online) เข้าถึงได้จาก http://www.neolifeinter.com/th_sara/2011_06_sara/2011_linjur.html สืบค้น 16/11/2558
- เห็ดหลินจือสวนจิตรลดา (Online) เข้าถึงได้จาก http://เห็ดหลินจือสรรพคุณ.blogspot.com/2014/03/xn-82ca8acevb6fmgr9aib7a7frah.5ckrf.html สืบค้น 16/11/2558
- เขาใหญ่พาโนราม่าฟาร์ม ลุยขยายเพาะเห็ดหลินจือ (Online) เข้าถึงได้จาก http://www.nstda.or.th/news/17716_research.development-nstda-lingahi สืบค้น 16/11/2558
-
4797 เห็ดหลินจือ สมุนไพรยอดแห่งการปรับสมดุลร่างกาย /index.php/article-biology/item/4797-2016-04-04-04-15-28เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง