ชีววิทยาของเซลล์ (Cell Biology)
โดย :
อติโรจน์ ปพัฒน์เปรมสิริ
เมื่อ :
วันศุกร์, 11 สิงหาคม 2560
Hits
475273
เซลล์และองค์ประกอบของเซลล์
(Cell and cell components)
เซลล์เป็นหน่วยพื้นฐานของสิ่งมีชีวิตที่สามารถแสดงคุณสมบัติและความเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างสมบูรณ์
การค้นพบและทฤษฎีของเซลล์
- ปี ค.ศ.1655 ได้มีการประดิษฐ์กล้องจุลทรรศน์ชนิดเลนส์ขึ้นมา
- เมื่อมีการส่องดูชิ้นไม้คอร์คที่ฝานบาง
- พบโครงสร้างที่มีรูปร่างเป็นช่องเหลี่ยมเล็ก ๆ จึงเรียกว่า เซลล์ (Cell) หมายถึง ห้องเล็ก ๆ
- ซึ่งโครงสร้างที่พบนี้เป็นเพียงผนังเซลล์ของพืชที่ยังคงเหลืออยู่หลังจากที่เซลล์ตายแล้ว
ทฤษฎีเซลล์ (Cell Theory)
Schleiden และ Schwan ได้ร่วมกันตั้งทฤษฎีเซลล์ (Cell Theory) มีสาระสำคัญ คือ “สิ่งมีชีวิตทั้งหลาย ประกอบด้วย เซลล์ และผลิตภัณฑ์ของเซลล์” (All animal and plant are composed of cell and products) Rudolf Virchow ได้ศึกษาการเจริญเติบโตของเซลล์และการเพิ่มจำนวนเซลล์จากเซลล์ที่เจริญเติบโต จึงเพิ่มเติมทฤษฎีเซลล์ว่า “เซลล์ทุกชนิดย่อมมีกำเนิดมาจากเซลล์ที่มีอยู่ก่อน”
ประเภทของเซลล์แบ่งได้เป็น 2 ชนิด
ลักษณะ Prokaryote |
ลักษณะ Eukaryote |
1.ไม่มีออร์แกเนลล์ชนิดที่มีเยื่อหุ้ม,ไม่มี Centrioles และ Microtubules2. ไรโบโซมขนาดเล็ก (70 S)*3. ผนังเซลล์ (Cell Wall) ประกอบด้วยสารเคมีเรียก Peptidoglycan, ไม่มี Cellylose4. แฟลเจลลาประกอบด้วยโปรตีน Flagellin5. การแบ่งเซลล์เป็นแบบโดยตรง, ไม่มี Spindle6.การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศเกิดน้อยมากและไม่มีการแบ่ง Meiosis7.ส่วนใหญ่หายใจแบบไม่ใช้ O2 |
1. มีออร์แกเนลล์ชนิดที่มีเยื่อหุ้มและมี Centrioles,Microtubules2. ไรโบโซมขนาดใหญ่ (80 S)*3. ไม่มีผนังเซลล์ยกเว้นในเซลล์พืชและเห็ด รา โดยผนังเซลล์ประกอบด้วยสาร Cellulose4. แฟลเจลลาและซีเลีย มีโปรตีน Tubulin เป็นองค์ประกอบ (9+2)5. มีการแบ่งเซลล์แบบ Mitosis และมี Spindle6.การสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ อาศัยการแบ่ง Meiosis และมีการปฏิสนธิ7. ส่วนใหญ่หายใจแบบใช้ O2 |
โครงสร้างของเซลล์ (Structure of Cell)
เยื่อหุ้มเซลล์ (Cell Membrane)
-
เป็นส่วนที่ห่อหุ้มส่วนต่าง ๆ ของเซลล์ไว้ทั้งหมด
-
มีความหนาประมาณ 75-100 อังสตรอม
-
ประกอบด้วย ไขมัน กลุ่มฟอสโฟลิปิด กับ โปรตีน
แสดงโครงสร้างฟอสโฟลิปิด (Phospholipid) ของเยื่อหุ้มเซลล์
http://bio1151.nicerweb.com/Locked/media/ch05/phospholipid.html
โครงสร้างของเยื้อหุ้มเซลล์
-
The Davson-Daniell Model
-
Fluid mosaic model (ยอมรับในปัจจุบัน)
โครงสร้างเยื้อหุ้มเซลล์แบบ Fluid Mosaic Model
-
Singer และ Nicolson ได้เสนอ Fluid Mosaic Model
-
มีการจัดเรียงตัวของไขมัน 2 ชั้น (Lipid Bilayer) โดยโมเลกุลของไขมันหันเอาด้านห่าง
-
กรดไขมันชนิดไม่มีประจุ (Non-Polar) ไม่ชอบนํ้า (Hydrophobic) จะหันเข้าหากัน
-
หัวเป็นกลีเซอรอล มีประจุ (Polar) ชอบนํ้า (Hydrophilic) จะหันเข้าสู่ด้านนอกและในเซลล์
แสดงโครงสร้างของเยื่อหุ้มเซลล์ซึ่งประกอบด้วยฟอสโฟลิปิดและโปรตีน
*ไกลโคลิปิด (Glycolipid) หรือ ไกลโคโปรตีน (Glycoprotein) ซึ่งทำหน้าที่เป็นหน่วยความจำให้กับเซลล์ โดยเป็นตัวรับที่มีความจำเพาะต่อสารเคมีบางชนิด
* เยื่อหุ้มเซลล์มีรูขนาดเล็กที่อนุภาคขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 8 อังสตรอม แพร่ผ่านได้ เยื่อเซลล์จึงมีคุณสมบัติเป็นเยื่อเลือกผ่าน (Semipermeable Membrane) ทำให้สาร บางชนิดผ่านเข้าออกได้ เกิดการแลกเปลี่ยนสารระหว่างเซลล์กับสิ่งแวดล้อมและการกระจายของประจุไฟฟ้าระหว่างภายในกับภายนอกเซลล์
โปรตีนบริเวณเยื่อหุ้มเซลล์
-
โปรตีนภายใน (Integral Protein)
-
เป็นโปรตีนที่โมเลกุลแทรกอยู่ในชั้นของไขมัน
-
ส่วนที่ไม่มีประจุ (Non Polar) อยู่ด้านใน ส่วนที่มีประจุ (Polar) ทะลุออกมาด้านนอก
-
เป็นโปรตีนตัวพา (Carier Protein) ทำให้ นํ้า ไอออน (Ions) หรือสารที่มีอนุภาคขนาดใหญ่เข้าสู่เซลล์ได้
-
-
โปรตีนภายนอก (Peripheral Protein)
-
เป็นโปรตีนที่วางตัวอยู่นอกชั้นไขมัน ส่วนใหญ่อยู่ด้านไซโตพลาสซึม
-
ทำหน้าที่แตกต่างกัน ได้แก่ ลำเลียงสาร (Transport Protein) เอนไซม์ (Enzyme) โปรตีนตัวรับ (Receptor Protein) เชื่อมต่อระหว่างเซลล์ (Intercellular Junctions) การจำกันได้ของเซลล์ (Cell-Cell recognition) ยึดโครงสร้างของเซลล์และของเหลวภายในเซลล์ (Attachment to the cytoskeleton and extracellular matrix (ECM))
-
สารเคลือบเซลล์ (Cell Coat)
-
เซลล์สัตว์พบไกลโคโปรตีน ถ้าถูกทำลายจะทำให้เซลล์จำกันไม่ได้มีแต่การเจริญ (Growth) แต่ไม่เปลี่ยนแปลงไปทำหน้าที่เฉพาะ (Differentiation) เช่น เซลล์มะเร็ง
-
เซลล์พืชอาศัยผนังเซลล์ (Cell Wall) โดยมี cellulose เป็นแกนกลางและมี Lignin Cutin Pectin และ Suberin อยู่ด้านนอก มีช่องติดต่อระหว่างเซลล์ คือ พลาสโมเดสมาตา (Plasmodesmata)
-
ผนังเซลล์ของสาหร่าย ประกอบด้วย Pectin เป็นส่วนใหญ่ กับ Cellulose
-
ผนังเซลล์ของฟังไจ เป็น Chitin
-
ผนังเซลล์ของแบคทีเรียคือ Peptidoglycan ทำให้แบคทีเรียสามารถทนต่อสภาวะแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดี
หน้าที่ของเยื่อเซลล์ (Function of Cell Membrane)
-
เยื่อเซลล์ทำหน้าที่เป็นเสมือนรั้วบ้าน กั้นเซลล์ออกจากกัน และสิ่งแวดล้อม
-
ควบคุมการเคลื่อนย้ายสารผ่านเข้าออกเซลล์
-
รักษาสมดุลของสภาพแวดล้อมภายในเซลล์
-
มีโปรตีนตัวรับ (Receptor Protein) เป็นตัวรับสาร ทำให้มีปฏิกิริยาตอบสนองต่อภูมิคุ้มกัน
ไซโตพลาสซึม (Cytoplasm)
-
ประกอบด้วย ไซโตซอล (Cytosal หรือ Cytoplasmic Matrix) เป็นของเหลวที่ประกอบด้วย สารอินทรีย์ และ สารอนินทรีย์ รวมถึงสารแขวนลอยต่าง ๆ มีลักษณะคล้ายวุ้น
-
เป็นแหล่งของปฏิกิริยาเคมี
-
มีออร์แกเนลล์ (Organelles) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่ทำหน้าที่เป็นอวัยวะของเซลล์
-
นอกจากนี้ยังมีสิ่งไร้ชีวิต (Inclusion Body) ซึ่งเป็นสารที่เซลล์สร้างและสะสมไว้ในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งจะพบได้เฉพาะเซลล์บางชนิด และบางเวลาเท่านั้น เช่น สารที่มีโครงสร้างเป็นเม็ดหรือแกรนูลเพื่อการส่งออกไปนอกเซลล์ เช่น สารคัดหลั่ง สารสื่อประสาทพวกฮอร์โมน หยดไขมัน (Lipid Droplet) ไกลโคเจน (Glycogen) และสารสีพวกเมลานิน (Melanin) ซึ่งทำให้เกิดสีผิวเข้ม เป็นต้น
กลับไปที่เนื้อหา
ออร์แกเนลล์ (Organelles) มีโครงสร้าง (Structure) และหน้าที่ (Function) ที่แน่นอน อยู่ในไซโตซอล
แสดงรูปร่างของออร์แกเนลล์ต่างๆที่สามารถพบได้ภายในเซลล์ยูคาริโอต
http://namrataheda.blogspot.com/2013/01/cell-organelles-dicoverers.html
-
ร่างแหเอนโดพลาสซึม (Endoplasmic Reticulum, ER)
มีลักษณะเป็นท่อกลวงทรงกระบอก หรือ แบน เรียงตัวเป็นร่างแห เป็นเยื่อชั้นเดียว มีองค์ประกอบเช่นเดียวกับเยื่อหุ้มเซลล์ มี 2 ชนิด คือ ชนิดหยาบและชนิดเรียบ
1.1 ร่างแหเอนโดพลาสซึมชนิดหยาบ (Rough Endoplasmic Reticulum, RER)
- เป็นท่อแบนเรียงทับซ้อนกันเป็นชั้น
- มีไรโบโซม (Ribosome) เกาะที่ผิวด้านนอกทำให้มีผิวขรุขระ
- ทำหน้าที่ลำเลียงโปรตีนที่สร้างจากไรโบโซม เพื่อส่งออกไปใช้นอกเซลล์ เช่น อิมมูโนโกลบุลิน (Immunoglobulin) เอนไซม์ (Enzyme) และฮอร์โมน (Hormone)
- ทำงานร่วมกับกอลจิ คอมเพล็กซ์ (Golgi Complex) ทำหน้าที่สะสมให้มีความเข้มข้นก่อนส่งออก
1.2 ร่างแหเอนโดพลาสซึมชนิดเรียบ (Smooth Endoplasmic Reticulum, SER)
- มีผิวเรียบเป็นท่อทรงกระบอกโค้งงอ
- ทำหน้าที่สังเคราะห์และหลั่งสาร สเตอรอยด์ฮอร์โมน จึงพบมากในเซลล์ต่อมหมวกไต เซลล์เลย์ดิกในอัณฑะ และเซลล์ในรังไข่
- สังเคราะห์โปรตีน กำจัดสารพิษที่เซลล์ตับ
- เผาผลาญโคเลสเตอรอล และไกลโคเจน
- ในเซลล์กล้ามเนื้อ (Sarcoplasmic Reticulum) ทำหน้าที่ส่งถ่ายแคลเซียม ซึ่งควบคุมการทำงานของเซลล์กล้ามเนื้อ
-
ถุงกอลจิ คอมเพล็กซ์ (Golgi complex)
- เป็นออร์แกเนลล์ที่ติดต่อกับ ER มีลักษณะเป็นถุงแบนที่มีเยื่อ 2 ชั้น เรียกว่า Cisterna
- บรรจุโปรตีนที่รับมาจาก RER เพื่อสังเคราะห์เป็นสารหลายชนิดที่พร้อมจะใช้งานได้ใน Vacuole Sac
- หน้าที่สร้าง ไลโซโซม อะโครโซม (Acrosome) สร้างเมือกในเซลล์พืชและเซลล์สัตว์ สร้างแผ่นเซลล์ (Cell Plate) ในการแบ่งเซลล์ของพืช
-
ไรโบโซม (Ribosome)
- พบในไซโตพลาสซึมของเซลล์ทุกชนิด และยังพบในไมโตคอนเดรีย และคลอโรพลาสต์
- เป็นออร์แกเนลล์ที่มีขนาดเล็กที่สุด คือ 0.015-0.025 ไมครอน
- ประกอบด้วย โปรตีน และ rRNA
- ไม่มีเยื่อหุ้ม มี 2 หน่วยย่อย (2 Sub Unit)
- ไรโบโซม เกาะติดกับสาร mRNA (Free Poly Ribosome) ทำหน้าที่สร้างโปรตีนเพื่อใช้เป็นเอนไซม์ในเซลล์
- ไรโบโซม (Poly Ribosome) เกาะติดกับผนังด้านนอกของ RER ทำหน้าที่สังเคราะห์โปรตีนเพื่อส่งออกนอกเซลล์
-
ไมโตคอนเดรีย (Mitochondria)
- พบในเซลล์ยูคาริโอตทุกชนิด
- มีรูปร่างเป็นแท่งยาว กลมหรือรี ยาวประมาณ 2-6 ไมโครเมตร
- มีเยื่อ 2 ชั้น ชั้นนอกเรียบ ชั้นในพับทบเป็นท่อเรียกว่า คริสตี้ (Cristae) ด้านในเป็นของเหลวเรียก Matrix
- เยื่อชั้นนอกทำหน้าที่เกี่ยวกับการสร้างฟอสโฟลิปิด เยื่อชั้นในเป็นที่เกาะของเอนไซม์ที่
- ทำหน้าที่ผลิตสารพันธะพลังงานสูง คือ ATP (Adenosine Triphosphate)
- สามารถแบ่งตัวได้เนื่องจากมี DNA และ ไรโบโซม และมีวงจรชีวิตอยู่ได้ 10-12 วัน
-
พลาสติด (Plastid)
- พบเฉพาะในเซลล์พืชและสาหร่าย มีรูปร่างเป็นแท่งกลมรี มีเยื่อ 2 ชั้น มี DNA จึงแบ่งตัวได้
- แบ่งออกเป็น 3 ชนิด
คลอโรพลาสต์ (Chloroplast) โครโมพลาสต์ (Chromoplast) และลิวโคพลาสต์ (Leucoplast)
-
คลอโรพลาสต์ (Chloroplast)
-
มีเยื่อ 2 ชั้น
-
ทำหน้าที่จับพลังงานแสง เพื่อใช้ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสงในปฏิกิริยาการใช้แสง (Light Reaction)
-
คลอโมพลาสต์ (Chromoplast)
-
เป็นพลาสติดที่ไม่มีคลอโรฟิล แต่มีสารชนิดอื่น เช่น คาโรตีนอยด์ (Carotenoid) ทำให้เกิดสีส้ม ไฟโคบิลิน (Phycobilin)
-
จับพลังงานแสงได้ ในช่วงคลื่นแสงต่าง ๆ ที่คลอโรฟิลไม่สามารถจับได้ คลอโมพลาสต์จึงช่วยคลอโรพลาสต์ในกระบวนการสังเคราะห์ด้วยแสง
-
ลิวโคพลาสต์ (Leucoplast)
-
ทำหน้าที่เก็บสะสมอาหารพวกคาร์โบไฮเดรต พบมากในส่วนที่สะสมอาหาร
-
ไลโซโซม (Lysosome)
- มีเยื่อชั้นเดียว
- ภายในจะบรรจุเอนไซม์ซึ่งย่อยสลายด้วยนํ้า (Hydrolytic Enzyme) ชนิดต่าง ๆ มากกว่า 40 ชนิด
- สร้างมาจากกอลจิ คอมเพล็กซ์ แบ่งเป็น 4 ชนิด คือ
1) Primary (Vergin) Lysosome เป็นไลโซโซมแรกสร้าง มีหน้าที่เกี่ยวกับการย่อยอาหารภายในเซลล์
2) Secondary Lysosome หรือ Phagosome เป็นไลโซโซมที่ทำลายสิ่งแปลกปลอมจากภายนอกที่เข้าสู่เซลล์
3) Residual Body เป็นไลโซโซมที่บรรจุกากที่เหลือจากการย่อย และดูดซึมกลับของเซลล์ ซึ่งรอการกำจัดออกทางเยื่อเซลล์โดยกระบวนการ Exocytosis
4) Autophagic Vacuole หรือ Auto phagosome เป็นไลโซโซมที่ทำลายองค์ประกอบหรือออร์แกเนลล์ของเซลล์ที่หมดอายุ
หรือมีพยาธิสภาพเป็นการย่อยส่วนต่าง ๆ ของเซลล์ตัวเอง เรียกว่า Autolysis
-
เพอร์รอกซิโซม หรือไมโครบอดี (Peroxisome or Micro Body)
- มีเยื่อหุ้มชั้นเดียว
- เก็บเอนไซม์พวก Catalase Dehydrogenase พบในเซลล์สัตว์เช่น เซลล์ตับ เซลล์ท่อไต และเซลล์พืช
- หน้าที่ทำลายสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และ ออกซิเจนที่มากเกินพอในเซลล์
-
เซนตริโอล (Centriole)
- เป็นออร์แกเนลล์ที่พบในเซลล์สัตว์ แต่ไม่พบในเซลล์พืช
- มีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอกไม่มีเยื่อหุ้ม 2 อัน วางตัวในแนวตั้งฉากซึ่งกันและกัน
- ทำหน้าที่สร้างเส้นใยสปินเดิล (Spindle Fiber) เพื่อยึดติดกับโครโมโซม เพื่อดึงโครโมโซมไปอยู่คนละขั้วของเซลล์
- เซลล์พืชไม่มีเซนตริโอล จะมีโพลาร์ แคพ (Polar Cap) เพื่อทำหน้าที่สร้างเส้นใยสปินเดิลในเซลล์
-
แวคิวโอล (Vacuole)
1) Sap Vacuole เป็นแวคิวโอลในเซลล์พืช สะสมสารต่าง ๆ ที่พืชสร้างขึ้นในเซลล์ที่เกิดใหม่ ๆ
2) Contractile Vacuole พบในพวกโปรโตซัวนํ้าจืด เช่น อะมีบา พารามีเซียม ทำหน้าที่เก็บและขับถ่ายของเหลวส่วนเกินออกจากเซลล์
3) Food Vacuole พบในโปรโตซัวบางชนิดและเซลล์สัตว์ชั้นสูง ที่กินสิ่งแปลกปลอม
กลับไปที่เนื้อหา
โครงสร้างหลักของเซลล์ (Cell Cytoskeleton)
-
ไมโครทูบูล (Microtubule)
- ทำหน้าที่รักษารูปทรงของเซลล์ ช่วยในการขนส่งภายในเซลล์ โดยการยืดหยุ่นของโปรตีน
- ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของไซโตพลาสซึม (Cytoplasmic Streaming หรือ Cyclosis)
- ช่วยในการเคลื่อนไหวของออร์แกเนลล์
- เป็นส่วนประกอบของเซนตริโอล ซีเลีย
-
ไมโครฟิลาเมนต์ (Microfilament)
- ประกอบด้วยโปรตีน แอคติน (Actin) ทำงานร่วมกับโปรตีนมัยโอซิน (Myosin Filament)
- ช่วยในการเคลื่อนย้ายออร์แกเนลล์ การหดตัวและการแบ่งเซลล์
-
อินเตอร์มีเดียทฟิลาเมนต์ (Intermediate Filament)
-โครงสร้างเสริมเซลล์ มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามชนิดของเซลล์
นิวเคลียส (Nucleus)
- นิวเคลียสเป็นออร์แกเนลล์ขนาดใหญ่ รูปร่างกลมรี เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 5-10 ไมโครเมตร
ประกอบด้วย
-
เยื่อหุ้มนิวเคลียส (Nuclear Membrane) เป็น Unit Membrane 2 ชั้น
-
นิวคลีโอพลาสซึม (Nucleoplasm)
-
นิวคลีโอลัส (Nucleolus) เป็นโมเลกุลของ DNA ที่ขดตัวเป็นก้อน ฝังตัวอยู่ในนิวคลีโอพลาสซึม สามารถเคลื่อนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ภายในนิวเคลียส สามารถรวมตัวและแบ่งตัวได้ ทำหน้าที่สังเคราะห์ RNA
การลำเลียงสารเข้าและออกจากเซลล์
เซลล์ที่มีชีวิตจะลำเลียงสารเข้าออกเซลล์ตลอดเวลา โดยการลำเลียงสารเกิดได้ 2 แบบ คือ
-
ลำเลียงโดยไม่ใช้พลังงาน (Passive Transportation)
-
การลำเลียงโดยใช้พลังงาน (Active Transportation)
(การนำสารเข้าออกเซลล์อาจทำโดยทะลุผ่านเยื่อเซลล์ หรือใช้วิธีการสร้างถุงหุ้มสาร (Vesicle))
แสดงรูปแบบการลำเลียงสารแบบ Passive transport และ Active transport
http://www.chegg.com/homework-help/questions-and-answers/reviewing-passive-active-transport-passive-active-transport-used-move-molecules-cells-show-q12399141
การลำเลียงโดยไม่ใช้พลังงาน (Passive Transportation)
การแพร่ (Diffusion)
เคลื่อนที่ของอนุภาคของสารจากบริเวณที่มีความเข้มข้นสูงไปยังบริเวณที่มีความเข้มข้นตํ่า เพื่อการกระจายอนุภาคของสารอย่างสมํ่าเสมอ การแพร่จะหยุดและที่สภาวะสมดุลการแพร่อนุภาคของสารยังคงเคลื่อนที่ด้วยความเข้มข้นที่เฉลี่ยเท่ากันทุกบริเวณ
การแพร่มีหลายวิธี ได้แก่
-
การแพร่ธรรมดา (Simple Diffusion)
-
เป็นการแพร่ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์โดยละลายตัวในเยื่อหุ้มเซลล์ และผ่านทางรูหรือช่องของเยื่อหุ้มเซลล์
-
สารชนิดที่ละลายในไขมัน เช่น อัลกอฮอล์ ฮอร์โมนสเตอรอยด์ จะแพร่ผ่านเยื่อเซลล์ได้ดี
-
รูหรือช่องว่างของเซลล์เกิดจากโมเลกุลของโปรตีนที่มีประจุที่แทรกอยู่ในชั้นของไขมัน เป็นช่องให้โมเลกุลของนํ้าและสารโมเลกุลขนาดเล็กผ่านเข้าออกได้ สารที่แพร่ผ่านทางช่องนี้ส่วนใหญ่เป็นพวกไม่ละลายในไขมัน
-
สารที่มีประจุลบจะแพร่ผ่านได้ดีเพราะโปรตีนมีประจุบวก
-
สารที่ไม่มีประจุ แต่มีขนาดเล็ก ก็จะแพร่ผ่านทางรูหรือช่องเยื่อเซลล์ได้ดี
-
การแพร่โดยอาศัยตัวพา (Facilitated Diffusion)
-
สารขนาดใหญ่บางชนิดไม่สามารถผ่านช่องของเยื่อหุ้มเซลล์ เช่น กรดอะมิโน นํ้าตาล กลีเซอรอล
-
จะแพร่ผ่านเข้าสู่เซลล์โดยอาศัยโปรตีนตัวพา (Carier Protein) ในชั้นไขมัน
-
การแพร่แบบอาศัยตัวพาจะมีอัตราการแพร่เร็วกว่าการแพร่ธรรมดาหลายเท่าตัว
ออสโมซิส (Osmosis)
-
การแพร่ของนํ้าผ่านเยื่อกั้น (Membrane) โดยมีทิศทางการแพร่จากสารละลายที่มีความเข้มข้นน้อยไปยังด้านที่มีความเข้มข้นมาก
-
นํ้าแพร่ผ่านถุงจะทำให้เกิดแรงดันรอบ ๆ ถุง ทำให้ถุงเต่ง (Turgid) เรียกแรงดันเต่ง (Turgor Pressure)
สารละลายกับการออสโมซิส
แสดงผลของสารละลายกับการออสโมซิส โดยสารละลายไฮเพอร์โทนิคมีผลให้เซลล์เหี่ยว
สารละลายไอโซนิคทำให้เซลล์มีสภาพปกติ สารละลายไฮโพโทนิคทำให้เซลล์เต่งจนแตก
https://en.wikipedia.org/wiki/Osmosis
-
Hypotonic Solution ภายนอกเซลล์มีความเข้มข้นต่ำกว่าภายในเซลล์
-
นํ้าจากสารละลายจะแพร่เข้าสู่เซลล์ทำให้เซลล์เต่ง
-
เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า พลาสมอพไทซิส (Plasmoptysis)
-
ถ้าเป็นเซลล์พืช เซลล์จะไม่แตก แต่ในเซลล์สัตว์จะทำให้บวมและแตกได้
-
Hypertonic Solution สารละลายภายนอกมีความเข้มข้นสูงกว่าภายในเซลล์
-
นํ้าจะแพร่ออกจากเซลล์ทำให้เซลล์เหี่ยว เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า พลาสโมลิซิส (Plasmolysis)
-
เห็นได้ชัดเจนในเซลล์สัตว์
-
Isotonic Solution สารละลายมีความเข้มข้นเท่ากับภายในเซลล์
Dialysis เป็นเทคนิคที่ใช้ในการแยกอนุภาคขนาดเล็กซึ่งมีขนาดแตกต่างกันออกจากกัน โดยการแพร่ (diffusion) ผ่านเยื่อ (permeable membrane) ตัวอย่างเช่น ในสารละลายที่มีทั้งโปรตีนและเกลือ จะสามารถแยกเกลือออกจากโปรตีนได้โดยให้สารละลายแพร่ผ่านเยื่อที่ยอมให้อนุภาคของเกลือผ่านได้เท่านั้น กระบวนการดังกล่าวเป็นลักษณธที่คล้ายกับการแพร่และการออสโมซิส
การลำเลียงโดยใช้พลังงาน (Active Transportation)
-
สารจากบริเวณที่มีความเข้มข้นของสารตํ่าเคลื่อนที่ไปสู่บริเวณที่มีความเข้มข้นของสารสูงโดยใช้พลังงาน ATP
-
เช่น การลำเลียงสาร Na+ และ K+ ในการเกิดกระแสประสาท
การลำเลียงสารโดยการสร้างถุง (Vesicular or Bulk Transportation)
แสดงกระบวนการลำเลียงสารออกนอกเซลล์ (Exocytosis) และ การลำเลียงสารเข้าสู่เซลล์ (Endocytosis)
http://lifeofplant.blogspot.com/2011/04/endocytosis-and-exocytosis.html
-
Exocytosis เป็นการลำเลียงสารโมเลกุลใหญ่ออกนอก เช่น เซลล์เยื่อบุผนังกระเพาะอาหารจะมีการคัดหลั่ง (Secretion) ของสารพวกเอนไซม์
-
Endocytosis เป็นการลำเลียงสารโมเลกุลใหญ่เข้าสู่เซลล์ โดยใช้ส่วนของเยื่อเซลล์โอบล้อมสารที่จะนำเข้าสู่เซลล์ให้เป็นถุงแล้วกลืนเข้าไปในไซโตพลาสซึม
1) Phagocytosis เป็นการกลืนสารที่เป็นของแข็งขนาดใหญ่ โดยการไหลของไซโตพลาสซึม ทำให้เยื่อเซลล์ยื่นออกไปเป็นขาเทียม (Pseudopodium) หุ้มล้อมสาร
2) Pinocytosis เป็นการกลืนสารขนาดใหญ่ที่อยู่ในรูปของสารละลาย โดยสร้างหลุมหรือถํ้าที่เยื่อเซลล์ โดยเยื่อเซลล์เว้าเข้าไปในไซโตพลาสซึม เมื่อสารตกลงไปแล้วเชื่อมปากหลุมให้ปิด เกิดเป็น Vesicle อยู่ในไซโตพลาสซึม
3) Receptor-Mediated Endocytosis เป็นการนำสารเข้าสู่เซลล์ โดยอาศัยโปรตีนตัวรับ (Receptor Protein) บนเยื่อเซลล์ทำหน้าที่จับกับสารก่อนที่เยื่อเซลล์จะเว้าเข้าไปในไซโตพลาสซึม แล้วสร้างเป็น Vesicle
แหล่งที่มา
จิรัสย์ เจนพาณิชย์. (2552). BIOLOGY for high school students (พิมพ์ครั้งที่ 19). กรุงเทพฯ:
บูมคัลเลอร์ไลน์.
สมาน แก้วไวยุทธ. (2551). 100 จุดเน้นชีววิทยา ม.4-5-6 (พิมพ์ครั้งที่ 1). กรุงเทพฯ:
ไฮเอ็ดพับลิชชิ่ง.
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี. (2558). หนังสือเรียนรายวิชาเพิ่มเติมวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา เล่ม 1 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 – 6 (พิมพ์ครั้งที่ 7). กรุงเทพฯ:
องค์การค้าของ สกสค.ลาดพร้าว.
Reece, J. B and Campbell, N. A. (2011). Campbell biology (10th). Boston, Benjamin Cummings: Pearson.
กลับไปที่เนื้อหา
คำสำคัญ
ชีววิทยา,เซลล์,Cell,Biology,การแบ่งเซลล์,โพรโทพลาซึม,นิวเคลียส,Nucleus,โครงสร้างของสิ่งมีชีวิต
ประเภท
Text
ลิขสิทธิ์
สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.)
ผู้แต่ง หรือ เจ้าของผลงาน
อติโรจน์ ปพัฒน์เปรมสิริ
วิชา
ชีววิทยา
ระดับชั้น
ม.4, ม.5, ม.6
กลุ่มเป้าหมาย
ครู, นักเรียน
-
7450 ชีววิทยาของเซลล์ (Cell Biology) /lesson-biology/item/7450-2017-08-11-07-37-33เพิ่มในรายการโปรด
คุณอาจจะสนใจ
Hits (335863)
ให้คะแนน
อาณาจักรฟังไจ (Kingdom Fungi) สิ่งมีชีวิตในอาณาจักรฟังใจเป็นเซลล์ยูคาริโอต สร้างอาหารเองไม่ได้ ...
Hits (201593)
ให้คะแนน
บทเรียนที่ 1 เลขออกซิเดชัน เลขออกซิเดชัน (Oxidation number หรือ Oxidation state) เลขออกซิเดชัน ...
Hits (136461)
ให้คะแนน
คอนเซปต์หลักในการหมุน การเคลื่อนที่แนววงกลมที่ผ่านมาคิดเสมือนว่ามวลของวัตถุรวมอยู่ที่จุดเล็กๆ ...