ปุ๋ยหมักเติมอากาศ
ปุ๋ยหมักเติมอากาศ
ปุ๋ยหมักเติมอากาศ เป็นกระบวนการผลิตปุ๋ยหมักรูปแบบหนึ่งที่เน้นการผสมรวมกันระหว่างวัสดุอินทรีย์ที่ให้คาร์บอนและไนโตรเจน จากพวกซากพืช ซากสัตว์ และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ขณะเดียวกันใช้วิธีเติมอากาศแทนการกลับกองปุ๋ย เพื่อรักษาสภาพอากาศในกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมเพื่อเร่งกระบวนการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์ โดยจุลินทรีย์ธรรมชาติในกองปุ๋ย เมื่อย่อยสลายสมบูรณ์แล้วจะแปรสภาพเป็นปุ๋ยหมักที่มีลักษณะสีดำคล้ำหรือสีน้ำตาลปนดำ ไม่มีกลิ่น มีคุณสมบัติที่ดีต่อรากพืช สามารถดูดไปใช้ได้
ภาพที่ 1 การตากปุ๋ยหมักเติมอากาศก่อนนำไปใช้
ที่มา วรางรัตน์ เสนาสิงห์
การหมักปุ๋ยระบบกองเติมอากาศ (Aerated Static Pile Composting System) เป็นผลจากการวิจัยและพัฒนาของคณาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเกษตรและอาหาร คณะวิศวกรรมและอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยมีโจทย์วิจัยที่จะศึกษาศักยภาพของระบบกองเติมอากาศ ในการนำมาผลิตปุ๋ยหมักในเชิงพาณิชย์ของชุมชน โดยไม่ต้องพลิกกลับกองปุ๋ย ซึ่งเป็นข้อจำกัดของการผลิตปุ๋ยหมักที่ผ่านมาของเกษตรกร
การหมักปุ๋ยระบบกองเติมอากาศ เป็นกระบวนการย่อยสลายอินทรีย์สารทางชีวภาพด้วยจุลินทรีย์ชนิดใช้ออกซิเจน การจัดรูปร่างของกองปุ๋ยให้มีความเหมาะสมทางวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม การกำหนดอัตราส่วนคาร์บอนต่อไนโตรเจนของวัตถุดิบ รวมทั้งการย่อยเศษพืชให้มีขนาดเล็กลง และมีความชื้นที่พอเหมาะ จะทำให้กองปุ๋ยสามารถสะสมความร้อนที่เกิดจากปฏิกิริยาการย่อยสลายเอาไว้ภายในกองปุ๋ยได้ ความร้อนในกองปุ๋ยที่ขึ้นสูง 60-70 oC ในช่วง 2-5 วันแรก เป็นช่วงอุณหภูมิที่มีความเหมาะสมในการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ กลุ่มที่ชอบความร้อน (Thermophilic Microorganisms) และเมื่ออุณหภูมิลดลงเป็น 40-60 oC ก็จะมีการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์อีกกลุ่มหนึ่งที่ชอบความร้อนปานกลาง (Mesophilic Microorganisms) เมื่อความร้อนในกองปุ๋ยนี้ลอยตัวสูงขึ้น อากาศภายนอกที่เย็นกว่าก็จะไหลเข้ากองปุ๋ยทางด้านข้าง เท่ากับเป็นการเติมอากาศให้กับกองปุ๋ยตามธรรมชาติตลอดเวลา เรียกว่าปรากฏการณ์ Chimney Convection (Diaz et al, 1993) และเมื่อมีการเติมอากาศเพิ่มเติมแก่บริเวณกลางกองปุ๋ยเป็นครั้ง ๆ ด้วยพัดลมเติมอากาศ (Blower) ก็จะทำให้ภายในกองปุ๋ยมีออกซิเจนในปริมาณที่เพียงพอต่อการย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ การย่อยสลายก็จะสามารถดำเนินไปได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่ต้องพลิกกลับกองปุ๋ย ซึ่งผลดีประการหนึ่งจากการที่ไม่ต้องพลิกกลับคือจะทำให้กองปุ๋ยเกิดการสูญเสียไนโตรเจนในรูปของแอมโมเนียไนโตรเจนที่ระเหยสู่อากาศจากการพลิกกลับกองปุ๋ยลดลงได้
ปุ๋ยหมักเป็นปัจจัยการผลิตทางการเกษตรอย่างหนึ่งที่เกษตรกรนำมาใช้ในการผลิตพืช โดยเฉพาะระบบผลิตพืชอินทรีย์ที่มีความต้องการใช้ปุ๋ยหมักค่อนข้างมากนอกเหนือจากปุ๋ยพืชสด ปุ๋ยคอก และปุ๋ยอินทรีย์ แต่ปัจจุบันการผลิตปุ๋ยหมักใช้เองภายในฟาร์มยังมีน้อยเกษตรกรส่วนใหญ่ยังพึ่งพาจากภายนอก ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น กรมวิชาการเกษตรจึงได้พัฒนาระบบการผลิตปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศในฟาร์มผลิตพืชอินทรีย์ ซึ่งเกษตรกรสามารถใช้เป็นต้นแบบการผลิตปุ๋ยหมักได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งยังมีต้นทุนต่ำ และใช้งานง่ายอีกด้วยสำนักวิจัยพัฒนาปัจจัยการผลิตทางการเกษตรร่วมกับสถาบันวิจัยเกษตรวิศวกรรม สำนักพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืชและสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1-8 ทำการวิจัยและพัฒนาระบบการผลิตปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศในฟาร์มผลิตพืชอินทรีย์ โดยดำเนินการในฟาร์มเกษตรกรผู้ผลิตพืชอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน “Organic Thailand” จากกรมวิชาการเกษตร จำนวน 12 แห่งกระจายทั่วประเทศ พร้อมส่งเสริมให้เกษตรกรได้ทดลองใช้จริงในแปลงพืชที่แตกต่างกัน มีทั้งพืชผัก มังคุด พุทรา มะพร้าว หน่อไม้ฝรั่ง ข้าว และแปลงเกษตรผสมผสานระบบผลิตปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศต้นแบบที่พัฒนาขึ้นนี้มีโครงสร้างของระบบหมักเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก ประกอบด้วย ซองหมัก 2 ซองขนาดความจุซองละ 30 ลูกบาศก์เมตรมีช่องเป่าอากาศอยู่ด้านล่างกึ่งกลางซองหมัก ใช้พัดลมอัดอากาศขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใบพัดลม 10 นิ้ว ปั่นด้วยมอเตอร์ 0.5-1 แรงม้า เป็นเครื่องอัดอากาศเข้าไปในกองปุ๋ยหมัก เปิด-ปิดด้วยนาฬิกาอัตโนมัติโดยเปิดครั้งละ 1 ชั่วโมง และปิดครั้งละ 3 ชั่วโมง วันละ 6 ครั้ง และยังมีบ่อรับน้ำปุ๋ยหมักเพื่อเก็บน้ำเหลือทิ้งดูดกลับใส่กองปุ๋ยหมักด้วย หลักการของระบบผลิตปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศใช้ออกซิเจนเป็นปัจจัยในการเร่งกิจกรรมการย่อยสลายในกระบวนการหมักวัสดุอินทรีย์ในกองปุ๋ยหมักจนถึงการแปรสภาพจากสารอินทรีย์ไปเป็นปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายสมบูรณ์ซึ่งรูปแบบของระบบเติมอากาศนี้สามารถผลิตปุ๋ยหมักได้ครั้งละ 30 ตันใช้เวลาหมักในระบบหมักเติมอากาศ 30 วันต่อครั้ง หรือปีละ 8 ครั้งโดยมีศักยภาพในการผลิตปุ๋ยหมักรวม 240 ตันต่อปี
ผลวิเคราะห์ปุ๋ยหมักที่ผลิตจากระบบเติมอากาศ พบว่าปุ๋ยหมักที่ได้มีคุณภาพสูงสะอาดและปลอดภัยจากเชื้อที่ก่อโรคพืชเกือบทุกชนิดเป็นไปตามเกณฑ์ขั้นต่ำตามประกาศของกรมวิชาการเกษตร สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม และสำนักงานมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ (มกท.) สามารถช่วยลดต้นทุนในการกลับกองปุ๋ยหมักได้ค่อนข้างมาก ทั้งยังใช้งานง่าย และมีประสิทธิภาพสูงในการใช้ในระบบการผลิตผักและผลไม้อินทรีย์ เมื่อใส่ปุ๋ยหมักลงไปในดินพืชที่ปลูกจะดูดไปใช้ได้ทันที
แหล่งที่มา
ทะนุพงศ์ กุสุมา ณ อยุธยา. (2560, 19 กันยายน). “ปุ๋ยหมักเติมอากาศ” ใช้ในสวนผลไม้ ลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต. สืบค้นเมื่อ 09 ตุลาคม 2562, จาก https://www.technologychaoban.com/agricultural-technology/article_30497
ธีระพงษ์ สว่างปัญญางกูรการ. (2560, 19 กันยายน). ผลิตปุ๋ยหมักระบบกองเติมอากาศ. สืบค้นเมื่อ 09 ตุลาคม 2562, จาก http://www.compost.mju.ac.th/aerated/prod/
Thai Green Agro. (2556, 4 มิถุนายน). เทคนิคผลิตปุ๋ยหมักแบบเติมอากาศ…เพื่อฟาร์มพืชอินทรีย์ – นานาสารพัน. สืบค้นเมื่อ 09 ตุลาคม 2562, จาก https://www.thaigreenagro.com/เทคนิคผลิตปุ๋ยหมักแบบเ/
-
10990 ปุ๋ยหมักเติมอากาศ /article-biology/item/10990-2019-10-25-07-40-50เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง