ผักชีฝรั่ง
ผักชีฝรั่ง
ผักชีฝรั่ง เป็นพืชล้มลุก มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาใต้และประเทศเม็กซิโก และต่อมามีการนำไปปลูกแพร่หลายในเขตร้อนของประเทศต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยมีการปลูกกันแพร่หลายทั่วทุกภาค ผักชีฝรั่งมีกลิ่นหอมเพาะตัวที่โดดเด่นและสรรพคุณมากมายแตกต่างจากผักชนิดอื่น ๆ เป็นที่ชื่นชอบของใครหลายๆคนนิยมนำมาประกอบอาหาร
ผักชีฝรั่ง มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น ผักชีดอย หอมป้อมกุลา หอมป้อมเป้อ (เชียงใหม่ ภาคเหนือ) มะและเต๊าะ (กะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน) ผักหอมเทศ ผักหอมเป (เลย ขอนแก่น) หอมป้อม หอมเป (ชัยภูมิ) นอกจากนี้ผักชีฝรั่งในพื้นที่จังหวัดเดียวกันบางแห่งก็เรียกต่างกันไปอีก เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ผักชีฝรั่ง มีชื่อ วิทยาศาสตร์ Erybgium foetidum L. และจัดอยู่ใน วงศ์ Apiaceae
ผักชีฝรั่งมีลำต้นเตี้ย ๆ ติดดิน ใบ เป็นใบเดี่ยวออกรอบ ๆ โคนต้น ไม่มีก้านใบ ใบรูปหอก ยาวรี ใบออกเรียงแบบกระจุกรอบ ๆ โคนต้นใกล้กับพื้นดิน ลักษณะของแผ่นใบเป็นรูปคล้ายใบหอก ปลายใบมีลักษณะมน ใบยาวยาวประมาณ 10 – 15 เซนติเมตร ความกว้างใบประมาณ 2 – 3 เซนติเมตร ขอบใบเป็นหยักเหมือนซี่ฟันเลื่อย รากเป็นรากฝอยสั้น ๆ อยู่รอบ ๆ โคนต้น
ภาพ ลักษณะของต้นผักชีฝรั่ง
ผักชีฝรั่งมีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย อุดมไปด้วย สารเบต้าแคโรทีน วิตามิน เอ วิตามิน บี1 วิตามิน บี 2 วิตามิน บี 3 วิตามิน ซี ธาตุแคลเซียม ธาตุเหล็ก ไนอาซิน น้ำมันหอมระเหย กรดโฟลิกเป็นต้น
สรรพคุณของผักชีฝรั่ง
ผักชีฝรั่งมีสรรพคุณทางด้านเภสัชวิทยาหรือทางยาได้หลายอย่างจากการแพทย์แผนไทย เช่น
ใบและใบอ่อน ใช้เป็นยาแก้ท้องอืด บำรุงกระดูกและฟัน แก้อาการหวัด แก้ท้องเสีย มีสารต้านอนุมูลอิสระหรือต้านการเกิดเซลล์มะเร็ง
ลำต้น ช่วยลดระดับความดันโลหิต บำรุงผิวพรรณ ใช้เป็นยาถ่าย ขับลม ทำให้เล็บเส้นผมแข็งแรง
ราก ช่วยขับเหงื่อ แก้ไข้ ขับปัสสาวะ รักษาแผลผุพอง
เนื่องจากผักชีฝรั่งมีกรดออกซาลิค (Oxalic acid) มาก ซึ่งกรดนี้มีส่วนทำให้เกิดโรคนิ่วได้ ดังนั้นจึงไม่ควรบริโภคผักชีฝรั่งครั้งละมาก ๆ หรือบ่อยเกินไปเป็นระยะเวลานาน
คุณค่าทางโภชนาการ
ผักชีฝรั่งนับว่ามีคุณค่าทางโภชนาการมากมาย ทั้งวิตามินต่าง ๆ แร่ธาตุที่สำคัญต่าง ๆ ต่อร่างกายและที่สำคัญคือมี สารเบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) ที่สูงซึ่งเป็นสารแอนติออกซิแดนต์ (Antioxidant) หรือสารที่ทำหน้าที่ต่อต้านอนุมูลอิสระ นั่นก็คือเป็นสารที่ต้านเซลล์มะเร็งนั่นเอง
คุณค่าทางโภชนาการหรืออาหารส่วนที่กินได้ของผักชีฝรั่ง 100 กรัม *
ให้พลังงาน 32 กิโลแคลอรี
โปรตีน 24 กรัม
ไขมัน 0.4 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 4.6 กรัม
แคลเซี่ยม 21 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 22 มิลลิกรัม
เหล็ก 2.9 มิลลิกรัม
วิตามิน บี 1 0.31 มิลลิกรัม
วิตามิน บี 2 0.21 มิลลิกรัม
ไนอาซิน 0.7 มิลลิกรัม
วิตามิน ซี 38 มิลลิกรัม
เบต้า-แคโรทีน 876.12** RE
........................................
* กองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณะสุข แสดงคุณค่าทางโภชนาการ
ของอาหารไทย. 2535
** วิเคราะห์โดย สถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
RE ไมโครกรัมเทียบหน่วยเรตินัล
ปัจจุบันผักชีฝรั่งปลูกกันกว้างขวาง บางแห่งปลูกเป็นแปลงใหญ่ ๆ มีการเก็บผลผลิตส่งต่างประเทศ
เช่น ญี่ปุ่น ผักชีฝรั่งปลูกได้ง่าย โตเร็วสามารถปลูกในกระถางปลูกต้นไม้ได้ ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับโรคและแมลงรบกวน เก็บใบกินสด ๆ ได้โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับปุ๋ยเคมีหรือยาฆ่าแมลง
สุนทร ตรีนันทวัน
ข้อมูลอ้างอิง
1. มหัศจรรย์ผัก108 ผักชีฝรั่ง หอมชื่นใจ ร้ายกังวล, 192-193 พิมพ์ครั้งที่ 2 คณะทำงานโครงการหนูรักผักสีเขียวสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย มีนาคม 2541
2. ผักชีฝรั่ง (Online) เข้าถึงได้จาก http://www.siufa.com/1399/1399 สืบค้น 05/08/2559
3. ผักชีฝรั่ง มหัศจรรย์แห่งสมุนไพรไทย Online)เข้าถึงได้จาก http://ww17.thaiherb-tip108.blogpost.com/2011/01/1-2-opiot-bergaptein-myriticin.html สืบค้น 05/08/2559
4. ผักชีฝรั่ง ต้านมะเร็งหรือเป็นนิ่ว (Online) เข้าถึงได้จาก http://www.สุขภาพน่ารู้-ต้านมะเร็งหรือเป็นนิ่ว / สืบค้น05/08/2559
5. ผักชีฝรั่ง กว่าจะถึงญี่ปุ่น (Online) เข้าถึงได้จาก http://www.pk.siam.com/websire/mart/vegets/pakcheepharang/pakcheepharang_cxp.htm สืบค้น05/08/2559
-
4833 ผักชีฝรั่ง /article-biology/item/4833-2016-08-08-08-18-35เพิ่มในรายการโปรด
-
คำที่เกี่ยวข้อง